31/12/54

นั่งคุยกันก่อนครับ

 
            สืบเนื่องจากประสบการ์ณตรงของตัวเอง นับจากได้รับอุบัติเหตุ เมื่อ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๔  ทำให้ชีวิตได้แปรเปลี่ยน จากคนทั่วๆไปกลายมาเป็นคนพิการ กระดูกสันหลังหักกดทับไขสันหลัง หรือ ผู้บาดเจ็บไขสันหลัง ถึงจะผ่านระยะเวลาล่วงเลยมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังคงอยู่ในความทรงจำว่า มันไม่ง่ายเลยนะ ที่จะก้าวข้ามเส้นปัญหา อุปสรรคนานัปประการ นอกจากจะมีจิตใจที่เข้มแข็งแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุด จะต้องมีความรู้ด้วย แล้วเราจะหาความรู้นั้นได้จากที่ไหน? ผมหมายถึงความรู้เกี่ยวกับโรคที่ตัวเองประสบอยู่ เพื่อที่จะดูแลตัวเองหรือให้ผู้อื่นช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องถูกวิธี เป็นก้าวย่างไปสู่การฟื้นฟูสมรรถภาพของตนเอง ทั้งกายและใจ เพื่อที่จะกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณค่า
            ผมคิดไว้นานแล้วว่า ผมน่าจะทำประโยชน์อะไรให้กับสังคมบ้าง โดยเฉพาะบุคคลผู้บาดเจ็บไขสันหลัง รายใหม่ๆ ตัวผมเองเป็นบัณฑิตทางด้านกฎหมาย ไม่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์แม้แต่น้อย แต่จากประสบการ์ณตรงและความรู้ที่ได้จากคุณหมอหลายๆ ท่าน โดยเฉพาะจากหนังสือ "คู่มือสำหรับผู้ป่วย บาดเจ็บไขสันหลัง" รองศาสตราจาร์ย คุณหมอ อภิชนา โฆวินทะ ผู้เขียน สิ่งที่ผมจะบันทึกไว้ ส่วนใหญ่นำมาจากคู่มือดังกล่าว เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและญาติหรือบุคคลผู้ดูแลผู้ป่ว
           ขอกราบขอบพระคุณ คุณหมอทุกๆ ท่าน ที่ได้บำบัดรักษาแล้วให้ความรู้แก่ผม รวมทั้ง คุณหมอ อภิชนา โฆวินทะ ถึงจะไม่มีโอกาสได้พบปะท่านมาก่อน ความรู้ในหนังสือของท่าน ทำให้ผมมีวันนี้ กราบขอบพระคุณทุกๆ ท่านครับ.
           ป.ล.บันทึกไว้ตั้งแต่ 23 มีนาคม 2551 นำมาปัดฝุ่นใหม่ครับ

***บันทึกจากผู้เขียน

     ทั้งหมดมี 12 บทความ ทุกๆ บทความ ผู้เขียนจะแสดงความคิดเห็นส่วนตัว จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนไว้ใต้บทความทุกบทความ โดยจะเริ่มทยอยอัพเดทไปเรื่อยๆ ทีละบทความจนกว่าจะครบทุกบทความ ขอบคุณครับ. 

บาดเจ็บไขสันหลัง

          บาดเจ็บไขสันหลัง จากกระดูกสันหลังหักกดทับไขสันหลัง  มีคนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับบาดเจ็บไขสันหลัง ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุทางจราจร ตกจากที่สูง หรือถูกยิง ทำให้กระดูกสันหลังหักเคลื่อนกดทับไขสันหลัง บางคนเป็นโรคที่ไขสันหลัง ทำให้มีอาการ ชา อ่อนแรง อาจรุนแรงจนเป็น อัมพาต และกลายเป็นคนพิการทุพพลภาพ แต่ก็มีบางคนอาการดีขึ้น การรักษาและบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพที่เหมาะสม ช่วยให้คนเหล่านี้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ไม่มากก็น้อย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ

ไขสันหลัง และ กระดูกสันหลัง

                      ทำไมเมื่อไขสันหลังบาดเจ็บจึงมีอาการ ชา อ่อนแรง อัมพาต ?         


          ไขสันหลัง ประกอบด้วย ใยประสาท และ เซลล์ประสาท ที่เชื่อมต่อระหว่าง สมอง กับ ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ใยประสาทเปรียบเสมือน สายไฟ หรือ สายโทรศัพท์ ที่ติดต่อจากทางหนึ่งไปยังอีกปลายทางหนึ่ง เมื่อใดที่สายสัญญาณขาดหรือชำรุด การติดต่อจึงไม่เกิดขึ้น สั่งการหรือรับทราบข้อมูลกันไม่ได้
 
          เมื่อไขสันหลัง บาดเจ็บรุนแรง จึงไม่สามารถรับส่งข้อมูลจากแขน ขา อวัยวะต่างๆ ไปยัง สมอง ได้ หรือ สั่งการจาก สมอง ไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกายไม่ได้ เราเรียกอาการที่เกิดขึ้นนี้ว่า อัมพาต 


          ถ้าไขสันหลัง บาดเจ็บเล็กน้อย ยังสามารถส่งข้อมูลกันได้บ้าง อาจกระท่อนกระแท่น ไม่ชัดเจน การทำงานของอวัยวะต่างๆ ไม่สมบูรณ์ แขน ขา พอที่จะขยับได้บ้าง เราเรียกอาการที่เกิดขึ้นนี้ว่า อ่อนแรง
 
          การรับรู้ความรู้สึกจากผิวหนังได้บ้าง เราเรียกอาการที่เกิดขึ้นนี้ว่า ชา
          ไขสันหลัง เป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาท ที่มีความสำคัญต่อระบบทำงานของร่างกาย เป็นอย่างยิ่ง ธรรมชาติจึงสร้างให้อยู่ในโพรงกระดูกสันหลัง   ตั้งแต่ กระดูกสันหลังระดับต้นคอ ระดับอก ระดับเอว ระดับกระเบนเหน็บ ไล่ลงมาจนถึง ก้นกบ กระดูกสันหลังจึงเปรียบเสมือนเกราะกำบังให้ไขสันหลัง

          ถ้ากระดูกสันหลังได้รับการกระแทกอย่างรุนแรง กระดูกสันหลัง แตก หัก เคลื่อน ไขสันหลัง ที่อยู่ภายในโพรงกระดูกสันหลัง จึงได้รับบาดเจ็บและชอกช้ำ บางครั้งกระดูกสันหลังไม่มีการแตกเคลื่อน  แต่หมอนรองกระดูกแตกและกดไขสันหลัง ผู้เคราะห์ร้ายจึงมีอาการ ชา อ่อนแรง หรือ เป็นอัมพาต

                                         อาการอ่อนแรง อัมพาต มีกี่ลักษณะ?                                   


        1. พาราเพลเจีย Paraplegia ไขสันหลังระดับ อก/เอว ได้รับบาดเจ็บ ขาทั้ง 2 ข้าง หรือ ขาและลำตัว เป็นอัมพาต หรือ อ่อนแรง


        2. ควอดริเพลเจีย Quadriplegia ไขสันหลังระดับ คอ ได้รับบาดเจ็บ แขน ขา ทั้ง 2 ข้าง รวมทั้งลำตัว เป็นอัมพาต หรือ อ่อนแรง  ( เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เตตราเพลเจีย Tetraplegia )

        ผู้ป่วยบางคน มีเพียงพยาธิสภาพเฉพาะที่ส่วนปลายสุดของไขสันหลัง ที่ควบคุมการทำงานของหูรูด กระเพาะปัสสาวะ และอวัยวะเพศ ไม่มีอัมพาตหรืออ่อนแรง แต่จะสูญเสียการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ ถ้าเป็นผู้ชายจะมีปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ


                             การเยียวยา รักษา ฟื้นฟู ให้หายเป็นปกติ ได้หรือไม่ ?                         


          จนปัจจุบัน ยังไม่มีที่ใดในโลก ที่สามารถรักษา ไขสันหลังที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงกลับมาเป็นปกติได้ วิธีการที่ดีที่สุด คือ ผู้ป่วยต้องได้รับการ วินิจฉัย ดูแลรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพให้เร็วที่สุด ถ้าปล่อยให้มีอาการอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตแล้ว โอกาสฟื้นก็น้อยหรือไม่มีเลย



       
ไขสันหลังที่ได้รับบาดเจ็บนั้น ยังไม่มีทางรักษาให้หายเป็นปกติได้
เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ต้อง ยอมรับ มี ใจสู้ และ ไม่ย่อท้อต่อชีวิต
ความสำเร็จในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพจะทำให้
ชีวิตใหม่ กล้บมา มี คุณค่า และ คุณภาพ ได้อีกครั้ง



***ความเห็นส่วนตัวจากผู้เขียน

     การได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังของแต่ละคนนั้น  ถึงแม้ กระดูกสันหลังหักจะข้อหรือระดับเดียวกัน แต่ผลที่กระทบต่อร่างกายไม่เหมือนกันทั้งหมด เช่น กระดูกสันหลังระดับคอ ( C ) บางคนอาการหนักมาก ไม่สามารถใช้แขนและมือได้ แต่บางคนใช้แขนและมือได้ หรือถึงขนาดสามารถสั่งการขาได้ แต่ อ่อนแรง เนื่องมาจาก จุดที่ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บนั้น หนัก - เบา ไม่เท่ากัน บางคนไขสันหลังบาดเจ็บหนักมากถึงกับขาดไปเลยก็เป็นได้ บางคนแต่บาดเจ็บเล็กน้อย ผิว ผิว โอกาสฟื้นตัวจะสูงมาก

    การฟื้นตัวของไขสันหลัง ให้นึกถึง หญ้า ในสนามกีฬา เราเอาน้ำมันไปเทแล้วจุดไฟ หลังจากไฟดับ เราจะสังเกตุได้ว่า หญ้าจะตายแผ่ขยายออกเป็นวงกลม เมื่อเวลาผ่านไป หญ้าก็จะกลับฟื้นคืนมีชีวิตขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เริ่มจาก ส่วนปลายสุดจากจุดศูนย์กลาง เพราะได้รับผลกระทบน้อยกว่า ส่วนจุดศูนย์กลางอาจไม่สามารถฟื้นตัวได้เลย ไขสันหลัง ก็ฉันใดฉันนั้น บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ก็จะฟื้นตัวกลับคืนมาเองตามธรรมชาติ แต่ต้องอาศัยเวลามิใช่น้อย

    เวลาผ่านไป 11 ปี เผลอแผล็บเดียว ยอมรับว่า...ยังมีอีกหลายสิ่ง ที่ ยัง ไม่รู้ ยังมีอีกหลายอย่าง ที่ ยัง ไม่ได้ทำ ที่สำคัญที่สุด คือ จง พอใจ กับ สิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ในทุกๆ สิ่ง ขอบคุณครับ


  

29/12/54

การขับถ่ายปัสสาวะ

       

          คนเรามีไตอยู่ 2 ข้างของกระดูกสันหลังระดับอกต่อเอว ไตทำหน้าที่กลั่นกรองเอาของเสียออกจากเลือด ได้เป็นน้ำปัสสาวะที่มีสีเหลืองใส ไหลผ่านหลอดไตเข้าสู่ กระเพาะปัสสาวะ

          กระเพาะปัสสาวะ มีหน้าที่เก็บปัสสาวะ โดยมี หูรูด กั้นไม่ให้ปัสาสาวะไหลเล็ดออกมา เมื่อมีปัสสาวะประมาณ 300-500 มิลลิลิตร เราจะรู้สึกปวดอยากถ่ายปัสสาวะ ถ้าไม่พร้อม หูรูดยังหดรัดกันไม่ให้ปัสสาวะเล็ดราดออกมา ต่อเมื่อพร้อมที่จะถ่าย หูรูดจึงคลายตัวพร้อมๆ กับที่กระเพาะปัสสาวะหดบีบตัว ปัสสาวะจึงถูกขับออกมา

          ในภาวะปกติ เราขับปัสสาวะออกหมดภายในเวลา 30 วินาที แต่ถ้ากลั้นปัสสาวะไว้นาน กระเพาะปัสสาวะจะคราก แรงหดบีบตัวน้อยลง อาจขับปัสสาวะออกไม่หมด แต่ปัสสาวะมักเหลือค้างไม่เกิน 50 มิลลิลิตร




           เหตุใดจึงควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะไม่ได้?

          การทำงานของ กระเพาะปัสสาวะ และ หูรูด ถูกควบคุมด้วยจิตใจ สมอง และ ไขสันหลัง เริ่มจากกระเพาะปัสสาวะขยายตัวเพื่อรองรับและเก็บปัสสาวะ เมื่อมีปัสสาวะมากและพร้อมที่จะขับออก สมองจึงสั่งการผ่านทางไขสันหลังมาที่เซลล์ไขสันหลังส่วนปลายสุด ทำให้หูรูดคลายตัว และกระเพาะปัสสาวะหดตัว ปัสสาวะจึงถูกขับออกมา

          คนปกติสามารถกลั้นไม่ให้ปัสสาวะเล็ด และขับปัสสาวะออกได้ทุกครั้งเมื่อต้องการ ถ้าไขสันหลังได้รับบาดเจ็บจะทำให้กระเพาะปัสสาวะและ หูรูด ทำงานผิดปกติ ในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่รู้สึกปวดปัสสาวะ ถ่ายปัสสาวะไม่ออก แต่...ต่อมา ปัสสาวะมักเล็ดราด ไหลซึมออกมาโดยไม่รู้ตัวหรือรู้ตัวว่าจะถ่่ายแต่กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ บางคนถ่ายปัสสาวะไม่ออกเลย ต้องสวนหรือคาสายสวนปัสสาวะ หรือ กดเบ่ง หลายคนโชคดีสามารถควบคุมและขับปัสสาวะได้ปกติเหมือนเดิม

   
          ลักษณะการทำงานที่ผิดปกติ ของ กระเพาะปัสสาวะและหูรูด

          การควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะที่ผิดปกติเกิดจากการทำงานของกระเพาะปัสสาวะและหูรูดที่ไม่สมดุลกัน ความผิดปกติแบ่งได้เป็น 4 ลักษณะ ดังนี้

          ภาพประกอบ : วงกลมใหญ่   หมายถึง กระเพาะปัสสาวะ
                                    วงกลมเล็ก    หมายถึง หูรูด
                                    เส้นหนาทึบ  หมายถึง การบีบรัดหดตัว
                                    เส้นบาง        หมายถึง การคลายตัว


     ลักษณะที่ 1 กระเพาะปัสสาวะและหูรูด หดตัว มากผิดปกติ




อาการ
: ถ่ายปัสสาวะไม่ออก หรือ อาจไหลเล็ดออกได้ทีละน้อย
และมีปัสสาวะเหลือค้างในหกระเพาะปัสสาวะมาก เนื่องจาก...
กระเพาะปัสสาวะและหูรูดหดเกร็งตัวโดยอัตโนมัติพร้อมๆ กัน





ทางเลือก
: มีหลายวิธี ได้แก่

- กินยาคลายการหดตัวของกระเพาะปัสสาวะ เพื่อไม่ให้ปัสสาวะไหลเล็ดราด อีกทั้งลดแรงดันในกระเพาะปัสสาวะ เพื่อป้องกันอันตรายต่อไต ร่วมกับ สวนปัสสาวะออกเป็นเวลา ( CIC ) วันละ 4-6 ครั้ง

- ถ้าไม่สามารถสวนปัสสาวะออกเป็นเวลา  ( CIC ) ได้ คงต้องพิจารณาทำให้หูรูดคลายตัว เพื่อให้ปัสสาวะออกง่ายและเหลือค้างน้อยที่สุด โดยที่กระเพาะปัสสาวะไม่หดตัวแรง ผู้ป่วยชายอาจเลือกการผ่าตัดกรีดขยายหูรูดให้คลายออก และสวมถุงยางต่อลงถุงเก็บปัสสาวะ ส่วนผู้ป่วยหญิงอาจใช้วิธีฉีดยาเข้าที่เส้นประสาทที่ควบคุมหูรูดหรือกล้ามเนื้อ ทำให้หูรูดคลายตัว ปัสสาวะไหลซึมออกได้สะดวกและใช้แผ่นรองซับปัสสาวะ

- บางคนเลือก คาสาย สวนปัสสาวะและต่อลงถุงเก็บปัสสาวะเพราะไม่มีทางเลือกอื่น

          อนึ่ง ปัสสาวะที่เหลือค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุทำให้ปัสสาวะติดเชื้อและกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นเช่นนี้นานเป็นแรมปี ปัสสาวะมักไหลย้อนกลับขึ้นไต ทำให้ ไตอักเสบ และ ไตวาย ในที่สุด



     ลักษณะที่ 2 กระเพาะปัสสาวะ หดตัว และ หูรูด คลายตัว




อาการ
: ปัสสาวะ ไหลเล็ดราดออกเกือบตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่อริยาบทไหน






ทางเลือก : ผู้ชายมักเลือกสวมถุงยางต่อกับถุงเก็บปัสสาวะเพื่อไม่ให้ปัสสาวะราดเลอะ อาจใช้ถุงพลาสติคบางพันห่ออวัยวะเพศหรือใช้กระบอกตวงเพื่อรองรับปัสสาวะที่ไหลซึมออกมา
                   ผู้หญิงมักเลือกคาสายสวนปัสสาวะหรือใช้แผ่นรองซับปัสสาวะ ถ้าเลือกการคาสายสวนปัสสาวะ ควรกินยาคลายกระเพาะปัสสาวะด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้กระเพาะปัสสาวะหดเล็กลง



     ลักษณะที่ 3 กระเพาะปัสสาวะคลายตัว แต่ หูรูด หดตัว



อาอาร : ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ถ่ายปัสสาวะไม่ออกเลย ไม่เล็ดราด






             
ทางเลือก : วิธีที่เหมาะสมที่สุด คือ การสวนปัสสาวะออกเป็นเวลา  ( CIC ) วันละ 4-6 ครั้ง โดยสวนไม่ให้ปัสสาวะเหลือค้างในกระเพาะปัสสาวะ

     อนึ่ง จำนวนครั้งที่สวนต่อวันขึ้นอยู่กับจำนวนน้ำที่ดื่ม ควรดื่มน้ำวันละ 2 - 2.5 ลิตร ทั้งนี้เพื่อให้มีปัสสาวะออกไม่น้อยกว่า 1.5 ลิตรต่อวัน (แต่ก็ไม่ควรมากกว่า 2 ลิตร) เพื่อป้องกันการติดเชื้อในปัสสาวะ

     ส่วนการเบ่งหรือการกดให้ปัสสาวะออกมักไม่ได้ผล และยังเป็นผลเสีย ทำให้แรงดันในกระเพาะปัสสาวะสูงเกินไป ถ้ากดเบ่งเป็นประจำนานเป็นแรมปี ปัสสาวะอาจไหลย้อนกลับขึ้นไตได้

     ถ้าไม่สะดวกที่จะสวนปัสสาวะเป็นเวลา หลายๆ ครั้งต่อวัน อาจจำเป็นต้องคาสายสวนปัสสาวะ ดื่มน้ำมากๆ และเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะทุก 1-2 สัปดาห์ หรือเมื่อสายสวนปัสสาวะตันก่อนกำหนดเวลาเปลี่ยน


     ลักษณะที่ 4 กระเพาะปัสสาวะ คลายตัว และ หูรูด คลายตัว



อาการ : ปัสสาวะมักเล็ดราดเมื่อมีปัสสาวะมากเกินไป เมื่อ ไอ จาม
เมื่อออกแรงเบ่งกดที่ท้องน้อย หรือเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ






ทางเลือก : วิธีที่เหมาะสมที่สุด คือ การสวนปัสสาวะออกเป็นเวลา  ( CIC ) วันละ 4-6 ครั้ง ควรสวนก่อนที่ปัสสาวะจะไหลท้นออกมาเพื่อไม่ให้ปัสสาวะเล็ดราด

     ส่วนการเบ่งหรือกดให้ปัสสาวะออก อาจทำได้ แต่ถ้าเบ่งกดแรงๆ อาจทำให้ปัสสาวะไหลย้อนกลับขึ้นไตได้ และทำให้ท่อปัสสาวะผู้ชายตรงส่วนที่ผ่านกระบังลมส่วนล่างตีบ ปัสสาวะออกลำบากและเหลือค้างได้

     บางคนเลือกใช้วิธีคาสายสวนปัสสาวะ เพื่อให้ปัสสาวะออกและป้องกันการเล็ดราด แต่บางครั้งปัสสาวะอาจเล็ดราดออกมารอบๆ สายสวนปัสสาวะ ทั้งนี้ เป็นเพราะหูรูดคลายตัวและกระบังลมหย่อน ในกรณีเช่นนี้การกินยาคลายกระเพาะปัสสาวะไม่ช่วยลดการไหลเล็ดราดออกมารอบๆ สายสวนปัสสาวะ ส่วนการผ่าตัดใส่หูรูดเทียมเพื่อกันปัสสาวะเล็ดราดนั้น มีข้อจำกัด คือ หูรูดเทียมมีราคาแพง และการผ่าตัดต้องการความชำนาญของแพทย์



 สายสวนปัสสาวะ มี  2  ประเภท                                       


1. ประเภทที่ใช้สวนเป็นเวลา ( ไม่คาสาย )
สายสวนประเภทนี้ ได้แก่ สายยางแดงที่ใช้ตามโรงพยาบาลทั่วไป
และสายซิลิโคนที่ใช้เวลาอยู่บ้าน ทั้ง 2 ชนิดนี้ใช้ซ้ำได้หลังจากทำความสะอาดและฆ่าเชื้อแล้ว สำหรับสายยางแดงนั้นมักล้างแล้วต้มหรืออบฆ่าเชื้อ ใช้ได้นานเป็นเดือนจนกว่าสายยางจะนิ่ม หรือหมดสภาพ
     ส่วนสายซิลิโคนซึ่งบรรจุอยู่ในหลอดที่มีจุกปิดและพกพาได้ ควรล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อ และเปลี่ยนน้ำยาฆ่าเชื้อ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ อาจนำสายมาต้มนาน 20 นาที เดือนละ 1-2 ครั้ง เราสามารถใช้สายสวนชนิดนี้ซ้ำได้ แต่ควรเปลี่ยนเมื่อสายชำรุดและเปลี่ยนทุก 2 ปี เป็นอย่างน้อย



2.ประเภทที่ใช้สวนแบบคาสายไว้
สายสวนประเภทนี้ ที่นิยมใช้ คือ สายโฟเลย์ ซึ่งปลายข้างหนึ่งมีถุงลมหรือลูกโป่งขนาด 10-15 มิลลิลิตร ผู้ชายควรใช้สายสวนขนาด 12-14 F ส่วนผู้หญิงใช้ขนาด 14-16 F ไม่ควรใช้สายสวนที่มีขนาดสายหรือขนาดถุงลมหรือลูกโป่งใหญ่เกินความจำเป็น ทั้งนี้เพราะสายใหญ่มักรคับท่อปัสสาวะและทำให้ท่อปัสสาวะอักเสบง่าย ส่วนขนาดลูกโป่งที่ใหญ่มักกระตุ้นให้กระเพาะปัสสาวะหดเกร็ง บีบตัวแรง เป็นสาเหตุให้ปัสสาวะไหลออกมารอบๆ สายสวน ถ้ากระเพาะปัสสาวะบีบตัวแรงมาก อาจทำให้สายสวนหลุดออกทั้งๆ ที่ลูกโป่งไม่แตก ทำให้ท่อปัสสาวะได้รับบาดเจ็บ


                                                                                                                                           

                           การสวนปัสสาวะด้วยตนเอง ทำอย่างไร?
                          
     - การสวนด้วยสายซิลิโคน ชนิดพกพา






เตรียมอุปกรณ์ ได้แก่ สายสวนปัสสาวะ น้ำสะอาด สำลี สารหล่อลื่น สบู่และน้ำยาฆ่าเชื้อ
จัดท่านั่งให้สะดวก โดยนั่งกางขาทั้ง 2 ข้างออกจากกันหรือนั่งขัดสมาธิ ในกรณีที่นั่งสวนบนเตียงต้องเตรียมภาชนะรองรับปัสสาวะ แต่ถ้านั่งสวนบนโถส้วมไม่จำเป็นต้องเตรียมภาชนะรองรับ



     1.ทำความสะอาดมือ และรูเปิดท่อปัสสาวะด้วยสบู่ น้ำสะอาด หรือสำลีชุบน้ำยาฆ่าเชื้อ เสร็จแล้วควรล้างมืออีกครั้งก่อนจับสายสวนปัสสาวะ ในกรณีที่เป็นผู้ชาย ควรร่นหนังหุ้มปลายเพื่อเปิดให้เห็นส่วนปลาย แล้วจึงทำความสะอาดบริเวณรูเปิดท่อปัสสาวะ
     2.ใช้มือที่ถนัดดึงสายสวนออกจากหลอด โดยจับที่จุกซึ่งอุดส่วนปลายของสายสวน เมื่อดึงสายสวนออกมาแล้ว แขวนหลอดที่บรรจุสายสวนไว้ที่ๆ ใกล้ตัว
     3.ล้างสายสวนด้วยน้ำสะอาด
     4.ใช้มืออีกข้างหนึ่งเปิดหลอดสารหล่อลื่น แล้วบีบสารหล่อลื่นลงที่ปลายสายสวน ผู้หญิงอาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้สารหล่อลื่น
     5.ผู้ชาย ใช้มือจับอวัยวะเพศให้ตั้งขึ้น ส่วนผู้หญิง ใช้นิ้วชี้กลางเปิดถ่างแคมออก ให้ง่ามนิ้วอยู่ตรงกับหัวเหน่า รูเปิดท่อปัสสาวะมักอยู่ตรงระดับข้อแรกของนิ้วมือ ถ้าไม่เห็นให้อาศัยกระจกเงาที่ตั้งอยู่ระหว่างขา ช่วยสะท้อนให้เห็นรูปิดท่อปัสสาวะ ซึ่งอยู่เหนือต่อช่องคลอด
      6.ค่อยๆ สอดใส่สายสวนปัสสาวะเข้าไปในรูเปิดท่อปัสสาวะที่ละน้อย ไม่สอดใส่สายสวนในขณะที่อวัยวะเพศชายขยายตัว ควรรอให้อวัยวะเพศอ่อนตัวก่อน
     7.ถ้าใส่แล้วติด (มักติดที่หูรูด) อย่าใช้แรงดัน จับอวัยวะเพศชายเอนลง รอสักอึดใจ หายใจเข้าออกลึกๆ 2-3 ครั้ง หูรูดมักคลายตัวออกแล้วจึงค่อยๆ ดันสายสวนเข้าไป
     8.เมื่อปัสสาวะไหลออกมาในสายสวน ปลดจุกที่อุดปลายสายสวนปัสสาวะออก หย่อนส่วนปลายสายสวนลงในภาชนะที่รองรับปัสสาวะ หรือปล่อยให้ปัสสาวะไหลลงโถส้วน
     9.เมื่อปัสสาวะหยุดไหล จึง ค่อยๆ ดึงสายสวนปัสสาวะออกทีละน้อย พร้อมๆ กับใช้มืออีกข้างกดเบาๆ ที่บริเวณเหนือหัวเหน่า เพื่อไม่ให้ปัสสาวะเหลือค้าง เมื่อแน่ใจว่าปัสสาวะออกหมดแล้ว ดึงสายสวนออก
    10.ล้างสายสวนปัสสาวะให้สะอาดก่อนนำกลับไปแช่ในหลอดที่มีน้ำยาฆ่าเชื้อ พร้อมปิดจุก ควรเปลี่ยนน้ำยาฆ่าเชื้อสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

     - การสวนปัสสาวะ แบบ คาสาย ไว้


การคาสายสวนปัสสาวะนั้น ต้องใช้เทคนิค ปราศจากเชื้อ ส่วนวิธีการสวนก็เหมือนกับการสวนปัสสาวะชนิดพกพา แต่...สุดท้าย ให้ใส่น้ำเข้าไปในถุงลมหรือลูกโป่ง เพื่อไม่ให้สายสวนหลุดเลื่อนออกมา เวลาคาไว้นานเป็นวันหรือสัปดาห์






                                                                                                                                                                                  
    ขั้นตอน การใส่สายสวนแบบคาสายไว้ มีดังนี้


1.เตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาด ไซลิงค์ที่บรรจุน้ำสะอาด 10 มิลลิลิตร และสารหล่อลื่น
2.ฉีกถุงสายโฟเลย์ ส่วนบน นำสายถุงเก็บปัสสาวะ ใส่ต่อกันให้เรียบร้อย
3.บีบสารหล่อลื่นใส่ที่ส่วนปลายสายโฟเลย์ แล้วจึงสอดใส่สายสวนเข้าไปในท่อปัสสาวะอย่างช้าๆ
4.เมื่อปัสสาวะเริ่มไหลออกมา ดันสายสวนเข้าไปอีกเล็กน้อยเพื่อให้แน่ใจว่าสายเข้าไปลึกพอ
5.ฉีดน้ำสะอาดที่เตรียมไว้เข้าไปในท่อที่ติดต่อกับถุงลม(ลูกโป่ง)
6.ดึงสายออกจนรู้สึกว่าติด(ลูกโป่ง) แล้วดันสายกลับเข้าไปเล็กน้อยประมาณ 1 Cm
7.ผู้ชายให้ตรงสายสวนไว้ที่ท้องน้อยหรือเหนือขาหนีบ ผู้หญิง ให้ตรึงสายสวนไว้ที่ต้นขา


วิธีป้องกันการติดเชื้อและสายสวนอุดตัน


1.ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 2.5 - 3 ลิตร ให้ปัสสาวะใส ไม่เข้มตลอดวันตลอดคืน
2.เทปัสสาวะออกจากถุงเก็บปัสสาวะโดยเทผ่านทางท่อที่ให้ปัสสาวะไหลออก ไม่ปลดถุงออกจากสายสวนปัสสาวะ ไม่ปล่อยให้ถุงเต็มก่อนแล้วจึงเท
3.เปลี่ยนสายสวนปัสสาวะ(พร้อมถุงเก็บปัสสาวะ) ทุก 1 - 2 สัปดาห์
4.ถ้าปัสสาวะขุ่น หรือ สายสวนอุดตันก่อนกำหนดเวลา (สังเกตุ จากท้องน้อยโป่ง ปัสสาวะออกมาทางสายสวนน้อย บางครั้งปัสสาวะไหลซึมออกมารอบๆ สายสวน) ต้องเปลี่ยนสายทันที ไม่รอช้า
5.ถ้ามีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน บ่งชี้ว่า ไตอักเสบติดเชื้อ ต้องรีบเปลี่ยนสายสวนใหม่ทันที และพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง
6.เปลี่ยนทั้งสายสวนและถุงเก็บปัสสาวะพร้อมกัน
7.ก่อนดึงสายสวนออก ใช้ไซลิงค์ดูดเอาน้ำออกจากลูกโป่งก่อน ถ้าไม่สามารถดูดเอาน้ำในลูกโป่งออก หรือดึงสายสวนไม่ออก ต้องไปพบแพทย์ อาจมีตะกอนแข็งจับทำให้ลูกโป่งไม่ยุบตัว
8.เมื่อเอาสายสวนออกแล้ว ควรทิ้งระยะห่างประมาณ 15-30 นาที ก่อนใส่สายสวนใหม่



     ถ้าปัสสาวะไหลซึมเล็ดราดตลอด ไม่ต้องการคาหรือสวนปัสสาวะ จะทำอย่างไร?


     กรณีเช่นนี้ ต้องแน่ใจว่า การปล่อยให้ปัสสาวะไหลซึมออกมาโดยไม่สวนนั้นปลอดภัย กระเพาะปัสสาวะไม่บีบหรือหดตัวแรงเกินไป ปัสสาวะออกมากและเหลือค้างน้อย
     สำหรับผู้ชาย สวมถุงยางที่อวัยวะเพศ แล้วต่อลงถุงเก็บปัสสาวะ
     สำหรับผู้หญิง ต้องใช้แผ่นรองซับปัสสาวะ ควรเปลี่ยนแผ่นรองซับปัสสาวะวันละ 2-3 ครั้ง ไม่ปล่อยให้ผิวหนังเปียกชื้นแฉะ ควรงดใช้บางเวลาเพื่อให้ผิวหนังแห้ง


     ถุงยางรองรับปัสสาวะมีกี่ประเภท ใช้อย่างไรจึงปลอดภัย ?


          ประเภทถุงยางสำหรับผู้ชาย มี 2 ชนิด ได้แก่

     1.ถุงยางชนิดบางและไม่มีสารหล่อลื่น มีราคาถูกและหาซื้อได้จากโรงพยาบาลทั่วไป ผู้ใช้ต้องตัดส่วนปลายและต่อเข้ากับท่อยางก่อนต่อกับถุงเก็บปัสสาวะ ถุงชนิดนี้ขาดและทะลุง่ายจึงมักใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
    2.ถุงยางที่ปลายเป็นกรวยและมีท่อต่อเข้ากับถุงเก็บปัสสาวะ ล้างแล้วใช้ซ้ำได้

          ส่วนการตรึงถุงยางที่อวัยวะเพศ ต้องใช้เทปกาวหรือพลาสเตอร์พันทับถุงยาง ที่บริเวณโคนอวัยวะเพศชาย บางคนไม่ใช้ถุงยางดังกล่าวเวลาอยู่บ้าน แต่ใช้กระบอกตวงหรือใช้ถุงพลาสติคบางพันห่ออวัยวะเพศเพื่อรองรับปัสสาวะที่ไหลซึมออกมา

          อนึ่ง ต้องรู้จักการพันตรึงถุงยางอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดจากการตรึงถุงยาง ได้แก่
1.รัดแน่นไป ทำให้เป็นแผลและปัสสาวะไม่ออก
2.ตรึงหลวมไป ถุงยางหลุดและปัสสาวะเล็ดราด
3.ปลายถุงบิดเป็นเกลียว ปัสสาวะขังในถุงยางและปัสสาวะท้นออกมา


                    
                                   โรคแทรกซ้อนมีอะไรบ้าง ป้องกันและรักษาอย่างไร?  
                  

     1.การติดเชื้อในปัสสาวะและระบบทางเดินปัสสาวะ

สาเหตุ   1.ปัสสาวะเหลือค้างมาก จึงเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค(แทคทีเรีย)             
             2.วิธีการสวนและอุปกรณ์ไม่สะอาด
             3.ไม่เปลี่ยนสายสวน เมื่อถึงกำหนด หรือเมื่อสายสวนอุดตัน หรือเมื่อปัสสาวะขุ่น เหม็นมีตะกอน

อาการ   1.ปัสสาวะขุ่น เหม็นมาก บางครั้งมีสีเข้มมากหรือมีเลือดปน
             2.มีหนองไหลออกจากท่อปัสสาวะ
             3.ปัสสาวะไหลซึมบ่อยกว่าเดิม หรือตรงกันข้ามคือ เคยออกมากกลับออกทีละน้อย
             4.กล้ามเนื้อขาหรือหน้าท้องเกร็งหรือกระตุกบ่อยกว่าที่เคยเป็น
             5.มีอาการไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน ถ้าไตอักเสบติดเชื้อ

วิธีรักษา   1.ดื่มน้ำมากขึ้น
               2.ให้เปลี่ยนสายสวนปัสสาวะใหม่ทันที
               3.ถ้าสวนปัสสาวะเป็นเวลา น้อยกว่า 4 ครั้ง/วัน ควรเพิ่มให้มากขึ้นและอย่าให้ปัสสาวะเหลือค้าง            
              4.ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน หรือมีอาการไข้ร่วมด้วย ต้องรีบไปพบแพทย์

วิธีป้องกัน    1.รักษาอุปกรณ์ ให้สะอาด ปราศจากเชื้อ
                   2.รักษาความสะอาดส่วนตัว และเสื้อผ้าที่สวมใส่
                   3.สวนปัสสาวะด้วยเทคนิคที่สะอาดและปราศจากเชื้อ
                   4.เปลี่ยนสายสวนตามเวลาที่กำหนด หรือก่อนกำหนดถ้าสายอุดตันหรือปัสสาวะขุ่น
                   5.ดื่มน้ำให้เพียงพอ ให้ปัสสาวะใสตลอดเวลา

*** ถ้าสวนปัสสาวะเป็นเวลา 4-6 ครั้ง/วัน ต้องดื่มน้ำ 2-2.5 ลิตร/วัน เพื่อให้มีปัสสาวะออกมาวันละประมาณ 1.5 ลิตร จำนวนปัสสาวะต่อการสวนหนึ่งครั้งไม่ควรเกิน 0.5 ลิตร

*** ถ้าคาสายสวนไว้ ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 2.5-3 ลิตร/วัน เพื่อให้ปัสสาวะออกมาไม่น้อยกว่า 2 ลิตร/วัน และปัสสาวะใสเท่าๆ กันตลอดวันตลอดคืน
         


     2.การเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะและไต


สาเหตุุ  1.คาสายสวนปัสสาวะทิ้งไว้นาน
            2.ดื่มน้ำน้อย
            3.ปัสสาวะติดเขื้อบ่อย
            4.ปัสสาวะเป็นด่าง
         
อาการ  1.ปัสสาวะมีตะกอนขุ่น มีเลือดปน มีตะกอนจับที่สายสวน

ป้องกัน  1.ดื่มน้ำมากขึ้น
              2.ดื่มน้ำผลไม้รสเปรี้ยว ยาที่ทำให้ปัสสาวะเป็นกรด เช่น วิตามินซี ขนาด 2-3 กรัม/วัน อาจลด                 การติดเชื้อและการตกตะกอนได้ ควรหลีกเลี่ยงยาที่ทำให้ปัสสาวะเป็นด่าง
             3.เปลี่ยนสายสวนตามกำหนด หรือ เมื่อปัสสาวะขุ่นหรือสสายสวนอุดตันก่อนกำหนด
             4.ขยับเขยื้อน เคลื่อนย้ายร่างกายบ่อยๆ


วิธีรักษา ให้รีบไปพบแพทย์




     3.ท่อปัสสาวะอักเสบ และท่อปัสสาวะบาดเจ็บ


สาเหตุ   1.สายสวนปัสสาวะขนาดใหญ่เกินไป
            2.เทคนิควิธีสวนไม่ดี เช่น ดันสายสวนในขณะที่หูรูดไม่คลายตัว
            3.ตรึงสายสวนไม่ถูกที่
            4.ดึงสายสวนชนิดคาสายไว้ออก โดยลืมดูดน้ำออกจากลูกโป่งก่อน

อาการ 1.หนองหรือเลือด ไหลออกจากท่อปัสสาวะ


ป้องกัน    1.เอาสายสวนปัสสาวะออก เมื่อหมดความจำเป็น
              2.ใช้สารหล่อลื่นเวลาสวน และใช้เทคนิคที่ถูกต้อง
              3.ไม่พยายามใส่สายสวนในขณะที่อวัยวะเพศขยายหรือแข็งตัว

วิธีรักษา ให้รีบไปพบแพทย์



                   ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจระบบทางเดินปัสสาวะ บ่อยเพียงไร?


     ผู้ป่วยที่กระเพาะปัสสาวะและหูรูดทำงานผิดปกติหรือบกพร่อง เนื่องจากไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ

*ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง
**ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด เพื่อดูการทำงานของไต และฉายภาพรังสี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
***ตรวจการทำงานของกระเพาะปัสสาวะและหูรูดปีละครั้ง หรือปีละ2ครั้ง แล้วแต่แพทย์เห็นสมควร





ปัสสาะวะ ไม่ออก เล็ดราด มีวิธิแก้ไข

ปรึกษาแพทย์เป็นประจำ ป้องกันภาวะแทรกซ้อน

ระวัง !

ไตอักเสบ  ไตวาย  อันตรายถึงชีวิต






*ความเห็นส่วนตัวจากผู้เขียน

     ผู้เขียนได้พบปะผู้บาดเจ็บไขสันหลังมาหลายสิบคน ไม่มีสักคนที่เคยได้รับความรู้ เรื่องระบบปัสสาวะ อันดับแรกจะต้องวิเคราะห์ การทำงานของร่างกายตัวเองให้ได้ก่อน ว่า การบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะของตนเองเป็นแบบไหน? และ หูรูดกระเพาะปัสสาวะของตนเองทำงานอยางไร? ถึงจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องปัสสาวะของตนเองได้อย่างถูกต้อง ผู้เขียนไปเห็นมาด้วยตนเอง เกี่ยวกับการตัดสินใจของบุคคลากรในสถานฟื้นฟูแห่งหนึ่ง วินิจฉัยเรื่องดังกล่าวได้อย่างยอดแย่ เช่น ผู้บาดเจ็บไขสันหลัง กระเพาะปัสสาวะ หดตัว และ หูรูด คลายตัว ควรจะแนะนำให้ใส่คอนดอม ทั้งๆ ที่ผู้ป่วยก็พยายามชี้แจงว่า อยู่บ้านดูแลตัวเองมาหลายปี โดยการสวมใส่คอนดอม เจ้าหน้าที่หามีความรู้ไม่? สั่งให้หัดสวนปัสสาวะออกเป็นเวลา ( cic )  เห้อ!

     ประการต่อมา เกี่ยวกับ การสวนปัสสาวะ   การสวนปัสสาวะแบบคาสาย กรณี ผู้ป่วยพาราฯ หรือ ควอดิฯ ที่มือสามารถทำงานได้ สามารถใส่สายสวนปัสสาวะแบบคาสายได้ด้วยตัวเองที่บ้าน สถานฟื้นฟูแห่งหนึ่ง ไม่ยอมสอนให้ผู้ป่วยทำเอง แถมยังห้ามอย่างเด็ดขาดอีกว่า ห้ามทำเอง ต้องให้เดินทางมาเปลี่ยนที่สถานพยาบาล ผมอยากจะตะโกนดังๆ ว่า ทำไม? จะใส่สายสวนปัสสาวะแบบคาสายเองไม่ได้ ถ้ามือทำงานได้เป็นปกติ ผมเองพิการมา 10 ปี ใส่เกินกว่า 100 ครั้ง และไม่เคยมีปัญหาใดๆ และท่านทราบหรือไม่ว่า? ทุก 15 วัน หรือ 1 เดือน จะต้องเดินทางไปเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะ ความไม่สะดวกในการเดินทาง ค่าใช้จ่าย กำ! ในต่างจังหวัด บางท้องที่ เจ้าหน้าที่อนามัยหรือโรงพยาบาลจะไปให้บริการถึงบ้าน ยอดเยี่ยมครับ

     ข่าวน่าเศร้า ที่ผ่านมาเมื่อไม่นานนี้ ผู้บาดเจ็บไขสันหลังไปเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะแบบคาสาย ณ สถานพยาบาลแห่งหนึ่ง ถึงกับเสียชีวิต เนื่องจาก ลูกโป่งยังไม่ได้เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำเข้าไป ทำให้ท่อปัสสาวะแตก และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ผู้ป่วยถึงแก่กรรมในเวลาต่อมา เศร้า!

     หัวใจ ในการดูแลผู้บาดเจ็บไขสันหลัง ในเรื่อง การสวนปัสสาวะ คือ ค ว า ม ส ะ อ า ด ท่านจะต้อง ระวีังไม่ให้เกิด การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ และ ไม่ให้ปัสสาวะท้นไปที่ไต  ขอยืนยันว่า การดูแลตัวเองดังกล่าว ไม่ยาก เน้นเรื่อง ความสะอาด ผู้เขียนดูแลตัวเองมากว่า 10 ปี สวนปัสสาวะออกเป็นเวลา ( cic ) ไม่เคยติดเชื่อในกระเพาะปัสสาวะ แม้แต่ครั้งเดียว 

    ***หมายเหตุ ผู้เขียนจะใส่สวนปัสสาวะแบบคาสาย กรณี ที่จำเป็นต้องเดินทางไกล และ อีกกรณีหนึ่งคือ ถ้าอยากร่ำสุราแบบผสมโซดาซาบซ่าชุ่มหัวใจ กับสหายรู้ใจ ครับ 




การขับถ่ายอุจจาระ



       หลังจากไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ ทำไมจึงมีอาการท้องอืดและท้องผูก ?           

     ในระยะแรก กระเพาะอาหารและลำไส้บีบตัวและเคลื่อนไหวลดน้อยลง จึงมีอาการท้องอืดและไม่ถ่ายอุจจาระ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้น้ำและสารอาหารทางหลอดเลือดแทนการกิน จนกว่ากระเพาะอาหารและลำไส้จะกลับมาทำงานปกติอีกครั้ง บางคนมีกรดในกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้นเพราะตกอยู่ในภาวะเครียด มีอาการปวดท้องหรือมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร

     หลังจาก 1 สัปดาห์ผ่านไป กระเพาะอาหารและลำไส้มักทำงานเป็นปกติ เริ่มผายลม แต่อุจจาระอาจไม่ถูกขับออกมา ส่วนใหญ่ต้องสวนหรือช่วยกระตุ้นให้อุจจาระออก ถ้าหูรูดรูทวารคลายตัวและลำไส้ทำงานน้อย มักต้องเบ่งหรือล้วงช่วย บางครั้งอุจจาระออกมาโดยไม่รู้ตัว เช่น เวลาแบ่งปัสสาวะ อุจจาระก็ออกมาด้วย หลังจากการฝึกขับถ่ายอุจจาระแล้ว ส่วนใหญ่มักถ่ายอุจจาระออกได้เอง



                                 ฝึกขับถ่ายอุจจาระ ทำอย่างไร?                                               


      เป้าหมายของการฝึก ได้แก่ ถ่ายอุจจาระออกเป็นเวลา ท้องไม่ผูก และอุจจาระไม่ราดเล็ดออกมาในเวลาที่ไม่สมควร การฝึกจะประสบความสำเร็จได้ขึ้นกับปัจจัยต่อไปนี้
   
     * อาหาร  กินอาหารที่มีกากมีใยมาก เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ เป็นต้น ดื่มน้ำให้เพียงพอ ทั้งนี้ เพื่อให้อุจจาระจับเป็นก้อน แต่ไม่แข็ง และถูกขับออกง่าย

       ข้อควรระวัง  ถ้าดื่มน้ำน้อยและกากอาหารถูกทิ้งอยู่ในลำไส้ใหญ่นาน อุจจาระจะแข็งตัวและท้องผูก ควรหลีกเลี่ยงถั่ว ผลไม้ที่มีกลิ่นแรงเพราะทำให้ผายลมมีกลิ่นเหม็น

    * เวลา  อิงเวลาเดิม(ก่อนการป่วย) ที่เคยถ่ายอุจจาระ ฝึกขับถ่ายเป็นเวลาช่วยทำให้ลำไส้ใหญ่กลับมาทำงานโดยอัตโนมัติได้  ควรถ่ายอย่างน้อย วันเว้นวัน หรือ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ให้เวลาที่พอเพียง ไม่รีบ บางคนอาศัยการบีบตัวของลำไส้ใหญ่หลังจากกินอาหาร หรือดื่มน้ำอุ่นๆ กระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวและถ่ายอุจจาระ ควรหัดภายใน 30 นาทีหลังกินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอาหารมื้อเช้า หรือมื้อเย็น แล้วแต่สะดวก

   * ตัวกระตุ้น  ในระยะแรก มักต้องอาศัยตัวกระตุ้น เช่น
- ยาสวนยูนิสั้น ขนาด 20 มิลลิลิตร 1-2 ลูก หรือน้ำสบู่อุ่นๆ 20-50 มิลลิลิตร
- ใช้นิ้วถ่างรูทวารหนัก เพื่อกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่บีบตัว
- เบ่งเมื่อมีอุจจาระใกล้รูทวาร
- การล้วงออกจะง่าย ถ้าอุจจาระแข็งและจับตัวเป็นก้อนเล็กๆ
     หมายเหตุ   ถ้าต้องสวนปัสสาวะเป็นเวลา ( cic ) ควรสวนปัสสาวะก่อนการเบ่งถ่ายอุจจาระ เพื่อไม่ให้แรงเบ่งมีผลเสียต่อกระเพาะปัสสาวะ
- ยาหรือสารอาหารบางอย่างมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ เช่น
        + ยาระบายซิโนคอต 2-4 เม็ด หรือยาดัลโคแลค 1 เม็ด
        + ยาเหน็บ ดัลโคแลค หรือ แท่งกรีเซอรีน
        + ยาช่วยให้อุจจาระไม่แข็ง เช่น ยาน้ำขาว อี เอล พี
        + มะละกอสุก ต้มจืดใบตำลึง ช่วยกระตุ้นลำไส้

     ข้อสังเกตุ  1. ยาระบาย อาจทำให้ถ่ายหลายครั้งติดต่อกัน ดังนั้น แต่ละคนต้องลองดูว่า ประมาณแค่ไหนจึงจะเหมาะสมกับตน
                       2. ต้องลองว่า วิธีไหนได้ผลกับตนเอง อาจใช้หลายวิธีเพื่อทำให้ได้ผลเร็วขึ้น เช่น กินยาร่วมกับการล้วงหรือสวน
                      3. ถ้ากล้ามเนื้อหูรูดเป็นอัมพาต ไม่หดรัด ยาสวนมักไหลออกมาและสวนไม่ได้ผล ในกรณีเช่นนี้ การล้วงน่าจะได้ผลดีกว่า
                     4. การกดนวดที่บริเวณท้องน้อยด้านซ้ายล่าง
                     5. หลังการฝึกได้ระยะหนึ่งแล้ว หลายคนสามารถถ่ายอุจจาระได้เอง โดยไม่ต้องใช้ตัวช่วย
                     6. ความเครียดส่งผลให้การเคลื่อนไหวและบีบตัวของลำไส้ลดลง ทำให้ท้องผูก ถ่ายไม่ออก ในทางตรงกันข้าม ใจที่เป็นสุขและสงบทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวบีบตัวได้ดี และขับถ่ายอุจจาระออกง่ายขึ้น





                 ข้อพึงระวังเกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระ มีอะไรบ้าง?                                     

1. ท้องผูก (อุจจาระแข็ง,ถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์)


2. ริดสีดวงทวาร


3. รูทรารฉีก เป็นแผล

4. ท้องเสีย




***ความเห็นส่วนตัวจากผู้เขียน

    ระบบขับถ่ายอุจจาระ ก่อนที่จะออกจากโรงพยาบาล ผู้เขียนได้รับการฟื้นฟูฯและคำแนะนำในการดูแลตัวเองเกี่ยวกับขับถ่ายอุจจาระ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกย้ายตัวนั่งบนชักโครก การฝึกกระตุ้นกากอาหารในลำไส้ใหญ่ ทั้งนี้ ทั้งนั้น ที่สำคัญ คือ การปรับสภาพของห้องน้ำให้รองรับวีวแชร์ ตอนนั้นผู้เขียนคิดผิดที่ไม่ยอมปรับสภาพห้องน้ำ ให้รองรับรถเข็น ได้แต่ขยายประตูห้องน้ำ และเลือกวิธีที่ง่ายที่สุดคือ ซื้อรถเข็นอาบน้ำแบบนั่งถ่ายบนรถได้ เนื่องจากบ้านพักเป็นของหน่วยงาน ที่อนุญาติให้ผู้เขียนเข้าอยู่ได้ในกรณีพิเศษ และมีเวลาเตรียมตัวไม่มากนัก ญาติพี่น้องไม่ต้องการให้กลับไปทำงานอีก ผู้เขียนเลยติดกับการนั่งรถเข็นแบบอาบน้ำได้ ไม่ได้ฝึกย้ายตัวนั่งบนชักโครก เพราะคิดได้ตอนอยู่คนเดียวแล้ว ถ้าพลาดตกชักโครกจะหาผู้ช่วยอุ้มขึ้นลำบาก ปัจจุบันก็ยังคงใช้รถเข็นอาบน้ำเพราะมันปลอดภัยที่สุด

 การย่อยอาหาร การเดินทางของอาหารจากปากกว่าจะถึงปลายสุดของลำไส้ใหญ่ ทุกคนย่อมแตกต่างกัน สำหรับผู้เขียนการขับถ่ายอุจจาระเป็นอุปสรรค กับการดำเนินชีวิตของผู้เขียนมากถึงมากที่สุด ผู้เขียนใช้ชีวิตดูแลตัวเองตามลำพังอย่างเดียวดายมาตลอด 10 ปีเต็มๆ ผู้เขียนเป็นนักดื่มตัวยง ฉายาผู้เขียนในอดีต คือ ปีศาจสุรา การดื่มสุรามีผลต่อระบบขับถ่ายเป็นอย่างมาก สำหรับผู้เขียน ถ้าอยู่บ้านไม่ได้ออกไปไหน การขับถ่ายอุจจาระเป็นเรื่องจิ๊บจิ๊บ ตอนเป็นใหม่ๆ จะใช้การเหน็บยากระตุ้นแบบวันเว้นวัน ตอนนั้นมีผู้ช่วยดูแล ต่อมาเปลี่ยนเป็นยาสวนแบบน้ำ สวนออกทุกวันตอนอาบน้ำเช้า จากการได้แลกเปลี่ยนกับรุ่นพี่ๆ ที่บาดเจ็บไขสันหลังมากอ่นเรา ได้ถ่ายทอดวิชากระตุ้นด้วยการ "ล้วง" ล่วงออกทุกวันตอนอาบน้ำเช้า แต่ถ้าต้องเดินทางไกล ขอแยกเป็น 2 กรณี

   กรณีไม่ค้างคืน ไปเช้า-เย็นกลับ ปกติผู้เขียนใส่ผ้าอ้อมตลอด24ช.ม. จวบจนปัจจุบัน สำหรับผู้เขียนบ่อยครั้งที่อุจจาระพรวดออกมาขณะเดินทางไกล เนื่องจากขณะนั่งอยู่บนรถมันไม่ได้นิ่มนวลอย่างที่คิด มันมีการสั่นสะเทือนในร่างกาย เปรียบเสมือนมีการไปกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ให้กากอาหารเดินทางเร็วกว่าปกติ ดังนั้นผู้เขียนจะต้องมีแผนล่วงหน้า สำหรับการเดินทางไกล จะควบคุมการทานอาหารอย่างน้อย 3-4 วัน โดยเฉพาะสุรา ต้องงดดื่มก่อนการเดินทาง 3-4 วัน ประสบการณ์ของแต่ละบุคคลคงแตกต่างกัน แตน่าจะเรียนรู้ด้วยตัวเองได้แบบไม่ยากเย็นนัก 

   กรณีไปค้างคืน ให้ตายเหอะ! 10 ปี ที่ผ่านมาสำหรับผม ไปค้างคืนที่อื่น นับครั้งได้อ่ะคับ เพราะผมมันต้องดื่มถ้าจะไปเที่ยวที่ไหนก็ตาม แต่สำหรับหลายๆ ท่าน พวกพาราฯด้วยกัน เค้าเที่ยวกันกระจาย เพราะเค้าควบคุมดูแลตัวเองได้ดี ไปเที่ยวกันรอบโลก เหอ เหอ  

   ดังนั้น  หัวใจของระบบขับถ่ายอุจจาระ ในการดูแลตัวเอง ก็คือ ไม่ให้มันเร็ดราดออกมาไม่เป็นเวลา ปัญหาเรื่องท้องอืด ท้องเฟื้อ หรือยากระตุ้นอะไรต่างๆ คงต้องปรึกษาแพทย์หรือผู้บาดเจ็บรุ่นพี่ๆ เพราะแต่ละท่านดูแลตัวเองแตกต่างกันไปครับ.  

28/12/54

สมรรถภาพทางเพศ

 
       อวัยวะเพศและระบบสืบพันธุ์ ถูกควบคุมด้วยระบบประสาท ฮอร์โมนและหลอดเลือด ดังนั้น เมื่อไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ ระบบสืบพันธุ์จึงทำงานบกพร่อง ผู้ชายมีการแข็งตัวของอวัยวะเพศหรือการหลั่งน้ำอสุจิน้อยลง ส่วนผู้หญิงนั้น ในระยะแรกๆ ความเครียดทำให้ระดูหรือประจำเดือนขาดหาย ไข่ไม่ตก ไประยะหนึ่ง ( 3 - 6 เดือน ) แล้วจึงกลับมาเป็นปกติ และในขณะร่วมเพศการขยายตัวของอวัยวะเพศและน้ำหล่อลื่นในช่องคลอดมักลดน้อยลง

      ดังนั้น ผู้ชายที่เป็นอัมพาต ก็ยังอาจทำให้ผู้หญิงท้องหรือมีลูกได้ ส่วนผู้หญิงที่เป็นอัมพาตเมื่อมีการร่วมเพศ ยังคงตั้งท้องและมีลูกได้เช่นกัน แต่อาจคลอดยาก ต้องช่วยคลอดหรือผ่าตัดคลอดบุตร


      ระบบสืบพันธุ์เพศชาย ประกอบด้วย

 

      - ลูกอัณฑะ ที่อยู่ในถุงอัณฑะ
      - ท่อนำน้ำอสุจิ และถุงเก็บน้ำอสุจิ
      - ต่อมลูกหมาก
      - องคชาติหรืออวัยวะเพศ ที่มีท่อปัสสาวะซึ่งเป็นทางนำ  น้ำอสุจิ






     ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ประกอบด้วย
 






      - มดลูก
      - ปีกมดลูก
      - รังไข่
      - ช่องคลอด ที่อยู่ระหว่าง รูเปิดท่อปัสสาวะ และทวรหนัก





                               การแข็งตัวของอวัยวะเพศชายและการหลั่งน้ำอสุจิ                                            

      การแข็งตัวของอวัวยะเพศชาย เป็นการตอบสนองต่อสิ่งเร้า 2 ประเภท คือ

      1. สิ่งเร้าที่กระตุ้นโดยตรงที่อวัยวะเพศ เช่น การสัมผัส การตอบสนองนี้ถูกควบคุมด้วยส่วนปลายสุดของไขสันหลังและรากประสาท

      2. สิ่งเร้าอื่น เช่น การจินตนการทางความนึกคิด การมองเห็น เป็นต้น การตอบสนองนี้ถูกควบคุมโดยสมองผ่านทางไขสันหลังส่วนอกต่อเอว

      ดังนั้น ถ้าพยาธิสภาพอยู่เหนือไขสันหลังส่วนปลายสุด การขยายและแข็งตัวของอวัยวะเพศ ก็ยังคงเกิดขึ้นได้ แต่มักพบว่า การหลั่งน้ำอสุจิบกพร่อง จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ร้อยละ 70 - 80 ของผู้ชายที่ไขสันหลังบาดเจ็บ ยังคงมีการขยายและแข็งตัวของอวัยวะเพศได้ แต่อวัยวะเพศมักแข็งตัวไม่นานพอหรือแข็งตัวไม่สมบูรณ์พอเพียงต่อการร่วมเพศ กึ่งหนึ่งร่วมเพศได้สำเร็จ แต่มีเพียง ร้อยละ 10 - 30 ที่หลั่งน้ำอสุจิได้ จึงทำให้มีบุตรยาก





                                 อุปสรรคต่อการร่วมเพศ หรือ การมีเพศสัมพันธ์                                                      

      - การขยายหรือแข็งตัวของอวัยวะเพศชายบกพร่อง
      - ขาดความเชื่อมั่นตัวเอง เมื่อร่างกายหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
      - คิดว่าคนอื่นรังเกียจตัวเอง เมื่อสภาพร่างกายบกพร่อง
      - ไม่มีความต้องการ หรือ หมดความสนใจทางเพศแล้ว
      - มีการเกร็งกระตุกของขาและลำตัว ทำให้ขัดขวางการร่วมเพศ
      - ควบคุมการขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ไม่ได้ ปัสสาวะอาจเร็ดราดในขณะมีเพศสัมพันธ์






                 ทำอย่างไร? ให้อวัยวะเพศชายแข็งตัวได้เพียงพอสำหรับการร่วมเพศ                      

      - การรับประทานยาบางชนิด ช่วยให้อวัยวะเพศขยายตัวและแข็งตัว ถ้าไขสันหลังส่วนปลายสุดได้รับบาดเจ็บ อาจใช้วิธิการนี้ไม่ได้ผล และไม่ควรใช้ในกรณีที่มีโรคหัวใจ หรือผู้ที่ได้ยาในกลุ่มไนเตรท
      - การกระตุ้นให้อวัยวะเพศขยายตัว และใช้แถบยางรัดที่โคนอวัยวะเพศ เพื่อให้การแข็งตัวอยู่นานเพียงพอต่อการร่วมเพศ สิ่งที่พึงระวัง ถ้ารัดทิ้งไว้นานเกิน 30 นาที อาจทำให้เกิดแผลที่ผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศ
      - ใช้อุปกรณ์สูญญากาศช่วย ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว แล้วจึงใช้แถบยางรัดที่โคนอวัยวะเพศ ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว
      - ใช้ ยาฉีด เข้าที่อวัยวะเพศ หรือ สอดเข้าไปในท่อปัสสาวะ ทำให้อวัยวะเพศขยายตัว แบบสอดมักได้ผลน้อยกว่าแบบฉีด แต่แบบฉีดอาจทำให้เลือดคลั่งนานผิดปกติ และเลือดออกใต้ผิวหนังที่ฉีด
      - การผ่าตัดสอดใส่แท่งซิลิโคลนหรือถุงน้ำเข้าไปในแท่งอวัยวะเพศ

      เนื่องจากเทคนิคแต่ละอย่าง มีผลข้างเคียงถ้าใช้ไม่ถูกต้อง การเลือกใช้วิธีการใดนั้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เขี่ยวชาญ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและเหมาะสม



                                                   ทำอย่างไร? ถ้าต้องการมีบุตร                                                            
          แพทย์สามารถช่วยการมีบุตรได้ โดยการกระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำอสุจิ และนำน้ำอสุจิใส่เข้าทางช่องคลอด เพื่อให้เกิดการผสมระหว่างไข่กับอสุจิ ในบางประเทศ แพทย์แนะนำและสอนให้ฝ่ายภรรยาเป็นผู้กระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำอสุจิ โดยการใช้เครื่องมือพิเศษ และให้สามีหรือภรรยานำน้ำอสุจิใส่เข้าไปในช่องคลอดเอง







                          ในขณะร่วมเพศ ถ้ามีอาการเกร็งกระตุกมาก ควรทำอย่างไร?                          

        อาการเกร็งที่ขาและลำตัว เป็นอุปสรรคขัดขวางการร่วมเพศ เช่น ขาทั้ง 2 ข้างเกร็งหนีบเข้าหากัน กาเกร็งเหยียดออก หรือขาเกร็งงอพับ ต้องสังเกตุว่าอาการเกร็งที่เกิดขึ้น มีลักษณะเช่นไร? และใช้การจัดท่าร่วมเพศที่เหมาะสม  ท่าร่วมเพศที่เหมาะสมจะช่วยควบคุมอาการเกร็งและทำให้การร่วมเพศสะดวกขึ้น

          การร่วมเพศจะสำเร็จได้ ทั้งสองฝ่ายต้องเข้าใจความบกพร่องที่เกิดขึ้น กับผู้ที่ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ คำนึงถึงกำลังของกล้ามเนื้อที่ยังคงใช้การได้ และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ การกินยาลดเกร็งอาจทำให้อ่อนแรงและเป็นอุปสรรค จึงต้องปรับให้พอเหมาะ





                                  ทำอย่างไร? ปัสสาวะจึงไม่เล็ดราดในขณะร่วมเพศ                                         
      ปัสสาวะจะเล็ดราดได้ ก็ต่อเมื่อมีปัสสาวะอยู่ในกระเพาะปัสสาวะจำนวนหนึ่ง ประกอบกับมีการหดตัวของกระเพาะปัสสาวะหรือกล้ามเนื้อหน้าท้อง มีการคลายตัวของหูรูดท่อปัสสาวะ มีแรงกดที่ท้องน้อย  มีแรงเบ่งดันให้ปัสสาวะไหลซึมเล็ดราดออกมา

      กรณีที่คาสายสวนปัสสาวะไว้

      - ผู้ชายไม่ต้องเอาสายสวนปัสสาวะออก เพียงปลดถุงเก็บปัสสาวะออกชั่วคราว และมัดปลายท่อแล้วพับสายสวนให้แนบกับอวัยวะเพศ เมื่ออวัยวะเพศแข็งตัวจึงสวมถุงยางอนามัยทับอีกทีหนึ่ง

      - ผู้หญิง ก็ไม่จำเป็นต้องเอาสายสวนปัสสาวะออกเช่นเดียวกัน เพียงเลี่ยงเอาสายสวนมาตรึงไว้ ที่ท้องน้อยด้านข้างชัวคราว เพื่อไม่เกิดการขัดสีและกดทับขณะร่วมเพศ

      กรณีที่สวนปัสสาวะออกเป็นเวลา

      - ให้สวนปัสสาวะออกให้หมดก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์

     ก่อนและหลังการร่วมเพศ ควรทำความสะอาดร่างกาย เพื่อป้องกันการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ

     ในทำนองเดียวกัน อุจจาระอาจเล็ดออกมาโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์นี้ ควรเพิ่มการสวนหรือล้วงในวันที่จะมีการร่วมเพศ หลีกเลี่ยงอาหารที่จะกระตุ้นให้อุจจาระออกง่าย และอาหารที่ทำให้เกิดการผายลม เช่น ถั่ว ผัก และผลไม้ที่มีกลิ่นแรง
   



การมีเพศสัมพันธ์เป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งของมนุษย์
ชีวิตคู่จะราบรื่นเมือทั้งสองฝ่ายเข้าอกเข้าใจ
พร้อมมอบสัมผัสและความรักให้กันและกัน



***ความเห็นส่วนตัวจากผู้เขียน

         ผู้เขียนมีโอกาสได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เกี่ยวกับ"เรื่องบนเตียง" สำหรับผู้บาดเจ็บไขสันหลัง สิ่งที่ผู้เขียนคิด คือ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตของแต่ละท่านกับเรื่องดังกล่าว สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การทำใจ ยอมรับกับสภาพความเป็นจริง ไม่มีใครรู้ดีเท่ากับตัวเราเอง                              

  
         สำหรับผู้ชายหลายๆ ท่านยังสามารถกระตุ้นให้มันแข็งตัวได้ ถึงกระทั่งสอดใส่หลั่งน้ำอสุจิได้ ผู้บาดเจ็บไขสันหลังมีหลายช่วงอายุ วัยที่ผ่านมาของแต่ละคนสำหรับเรื่องดังกล่าวแตกต่างกัน น้องๆ บางคนประสบอุบัติตั้งแต่วัยเด็กซึ่งยังไม่เคยประกอบกิจดังกล่าวมาก่อน บางคนยังไม่เคยผ่านประสบการณ์ชีวิตคู่มาก่อน ความคิด ความอ่าน ย่อมแตกต่างกัน

         ส่วนใหญ่ ต้องไม่ลืมว่า ประสาทรับรู้ความรู้สึกของอวัยวะเพศเป็นประสาทส่วนสุดท้ายของไขสันหลัง ดังนั้นคงไม่มีผู้บาดเจ็บไขสันหลังท่านใด สามารถรับรู้ความรู้สึกได้เฉกเช่นคนปกตินอกจากหลอกตัวเอง ปัสสาวะยังไม่สามารถบังคับมันได้ นับประสาอะไรกับการร่วมเพศ ยัดสายยางเข้าไปสวนปัสสาวะ ยังไม่รู้สึกเจ็บหรือเสียวเลย แล้วจะมีความรู้สึกเหมือนคนปกติทั่วไปได้อย่างไร? 

         สำหรับผม ผมมองคู่รัก ทอม กับ ดี้ ทำไม? เค้ามีความสุขกันได้ ท่านไปหาคำตอบเอาเองนะครับ ที่สำคัญที่สุด คือ ความคิด อย่าหมกมุ่นกับมันจนทำให้เกิดความทุกข์ใจ มันเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์เพียงเท่านั้น ทำเท่าที่เราสามารถทำได้ โชคดี และ ขอบคุณครับ


กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก




      ไขสันหลังที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่สามารถนำกระแสประสาทสั่งการ จากสมองมาถึงเซลล์ประสาทสั่งการ และไม่สามารถรับความรู้สึกจากส่วนต่างๆ ไปรายงานยังสมองได้ กล้ามเนื้อจึงมักเกร็งกระตุกเอง ควบคุมไม่ได้


   บางครั้ง แขน ขา เกร็งเหยียด บางครั้งเกร็งงอ ไม่แน่นอน กล้ามเนื้อและเอ็นจึงหดยึด ข้อเคลื่อนไหวได้น้อยลง และติดยึดในเวลาต่อมา อาการเกร็งอาจเกิดต่อเนื่อง ขัดขวางการทำงาน ทำให้นอนไม่หลับ บางครั้งมีการอาการเจ็บหรือปวดกล้ามเนื้อร่วมด้วย ถ้ากล้ามเนื้อบริเวณทรวงอกเกร็ง การหายใจจะลำบากและอึดอัด






  
                   สิ่งเร้าที่กระตุ้นการเกร็ง ได้แก่


      - การเปลี่ยนอิริยาบทหลังจากอยู่ท่าใดท่าหนึ่งนานๆ
      - ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ทางเดินหายใจ
      - มีแผลกดทับ เล็บขบ
      - โรคกระเพาะ ท้องผูก ริดสีดวงทวาร
      - ระหว่างมีประจำเดือน

      นอกจากนี้ สิ่งเร้าภายนอก เช่น อากาศหนาวเย็น ก็เป็นสาเหตุุทำให้อาการเกร็งมากขึ้น บางครั้งการตั้งใจที่จะบังคับให้ร่างกายเคลื่อนไหว ก็ทำให้เกิดการเกร็งในส่วนนั้นและส่วนอื่น ๆ

      อนึ่ง แต่ละคนมีอาการเกร็งกระตุกมากน้อยต่างกัน เป็นที่น่าสังเกตุว่า ผู้ที่ยังมีความรู้สึกในส่วนที่อ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต หรือ มีเพียงอาการอ่อนแรง มีอาการเกร็งเกิดขึ้นมากกว่าผู้ที่เป็น อัมพาต



                                 มียาที่ช่วยควบคุมหรือลดอาการเกร็งหรือไม่?                                                    

      ปัจจุบันมียาหลายขนานที่กินแล้วช่วยควบคุมอาการเกร็งกระตุกได้ แพทย์จะพิจารณาใช้ก็ต่อเมื่อการการเกร็งกระตุกนั้น ค่อนข้างรุนแรงและรบกวนการดำเนินชีวิตปรจำวัน

      ยาควบคุมอาการเกร็งกระตุกที่มีใช้บ้านเรา ได้แก่
      - ยาแวเลี่ยม (ชื่อสามัญ ไดอะซีแปม)
      - ยาเซอร์ดาลุด (ชื่อสามัญ ทิชานิดีน)
      - ยาไลโอลีซัล (ชื่อสามัญ บาโคลเฟน)

      บางครั้งต้องใช้ยาหลายขนานพร้อมกันเพื่อให้ได้ผลเต็มที่ แต่ถ้ากินยาเกินขนาด กล้ามเนื้อจะอ่อนแรงและรู้สึกอ่อนเปลี้ย ส่วนผลข้างเคียงของยา ได้แก่ ง่วงนอน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ประสิทธิภาพการหายใจลดลง และอาจมีผลเสียต่อตับและไต ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพือความปลอดภัย

      ส่วนยาทาภายนอก ที่ใช้ทาถูกนวดและให้ความร้อนนั้น มักช่วยทำให้อาการเกร็งกระตุกลดลงได้บ้าง เราสามารถหาซื้อยาทาภายนอกได้ตามร้านขายยาทั่วไป ควรระวัง เมื่อใช้ติดต่อกันนานๆ อาจทำให้ผิวหนังแห้ง และแตกเป็นแผลได้

      ข้อสำคัญ ต้องพิจารณาหาสาเหตุที่เร้า หรือกระตุ้นให้เกิดการเกร็งกระตุก และกำจัดสาเหตุเพื่อลดอาการเกร็ง เช่น

      - ปัสสาวะติดเชื้อ ก็ต้องกินยาปฏิชีวนะ ฆ่าเชื้อ
      - ท้องผูก ก็ต้องช่วยระบายอาจจาระออก
      - มีแผลติดเชื้อ ต้องรักษาแผบให้หาย เป็นต้น


                ควรปฏิบัติอย่างไร เพื่อควบคุมอาการเกร็งกระตุกให้ได้ผลมากขึ้น?                  


      อาการเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อ ซึ่งสมองไม่สามารถควบคุมได้ แต่เราสามารถควบคุมได้ โดยอาศัยวิธีและหลักการกายภาพบำบัด ดังนี้

     * ใช้ความร้อนหรือความเย็น ประคบ ที่กล้ามเนื้อ

      - ถุ้าความรู้สึกที่ผิดหนังผิดปกติ ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนประคบ และใช้ความเย็นประคบหรือใช้ยาทาที่ทำให้รู้สึกร้อนที่ผิวหนังแทน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและป้องกันผิวหนังพองไหม้ การประคบแต่ละครั้งกินเวลาประมาณ 20-30 นาที และทุกๆ 5 นาที ควรสำรวจดูผิวหนัง อย่าปล่อยให้ผิวหนังพองไหม้

    *  ยืดเอ็นและกล้ามเนื้อ

      - ทำช้าๆ ค่อยๆ ยืด และคงไว้เมื่อถึงจุดที่ตึงประมาณ 10-30 วินาที ทำบ่อยๆ คราวละ 5-10 ครั้ง วันละ 3-4 รอบ
      - เราสามารถยืดกล้ามเนื้อได้ด้วยตนเองหรือให้ผู้ดูแลช่วย
      - กล้ามเนื้อและเอ็นที่ควรยืด ได้แก่ กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง กล้ามเนื้อต้นขาด้านใน กล้ามเนื้อน่องและเอ็นร้อยหวาย

   *  ใช้ประกับหรืออุปกรณ์ดาม หรือจัดท่านอนท่านั่งให้เหมาะสม

      - เพื่อให้กล้ามเนื้อและข้ออยู่ในท่ายืด ป้องกันการหดยึด
      - เมื่อใช้ประกับหรืออุปกรณ์ดาม ต้องระวังการกดที่ผิวหนังและทำให้เกิดแผลกดทับ ดังนั้น ควรเริ่มใช้จากระยะเวลาสั้นๆ 10-20 วินาที เมื่อผิวหนังทนได้จึงเพิ่มระยะเวลาใช้ให้นานขึ้น

   *  การยืนลงน้ำหนักที่ขาทั้ง 2 ข้าง ช่วยลดอาการเกร็งได้บ้าง

      - ถ้ากล้ามเนื้อขาเป็นอัมพาตหรืออ่อนแรง ต้องใช้ประกับช่วยเพื่อให้ขาเหยียดตรง และป้องกันการเกร็งงอที่ข้อเข่า

    *  หลีกเลี่ยงการออกกำลังต้านน้ำหนักหรือแรงต้านมากๆ เพราะมักกระตุ้นให้เกร็งมากขึ้น

    *  ทำจิตใจให้ผ่อนคลอย ไม่เครียด และรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง


                                     ยังมีวิธีการอื่นใดที่ช่วยลดอาการเกร็งได้อีก ?                                             

      - การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อที่เกร็ง ที่เส้นประสาท หรือเข้าในเยื่อหุ้มไขสันหลัง ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวได้ชั่วคราว
      - การผ่าตัดยึดเอ็นกล้ามเนื้อที่เกร็งช่วยลดการเกร็งและแก้ปัญหาข้อยึดติด หลังผ่าตัดต้องเข้าเฝือกหรือใส่ประกับเพือไม่ให้เกิดการหดยึดซ้ำ
      - การตัดเส้นประสาทก็เป็นอีกหนทางที่ช่วยลดหรือระงับการเกร็งได้ ทำให้เกิดอาการอ่อนแรงหรืออัมพาตของกล้ามเนื้อและหมดความรู้สึกที่ผิวหนังอย่างถาวร

      ดังนั้น ควรคำนึงถึงผลดีและผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ก่อนตัดสินใจ ใช้วิธีใดวิธีหนึ่งที่กล่าวมานี้




                                       มีสาเหตุอื่นอะไรบ้าง ที่ทำให้ข้อติด ?                                                                                      

      ถ้าไม่บริหารข้ออย่างสม่ำเสมอ กล้ามเนื้อเกร็งและเอ็นจะหดยึด เป็นเหตุให้ข้อติด ตำแหน่งที่เกิดบ่อยได้แก่

      - กล้ามเนื้อน่องและเอ็นร้อยหลายหดยึด ปลายเท้าจิกงุ้มลง
      - กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังหดยึด ข้อเข่าติดในท่างอ
      - กล้ามเนื้อต้นขาด้านในหดยึด กางต้นขาได้ยากลำบาก
      - กล้ามเนื้อที่ช่วยเหยียดนิ้วหดยึด นิ้วมือเหยียดตรง กำมือไม่ได้
      - กล้ามเนื้อข้อมือหดยึด ข้อมืองอพับ ติดแข็ง กระดกไม่ได้
      - กล้ามเนื้อต้นแขนด้านหน้าหดยึด ข้อศอกติดในท่างอ




                                สาเหตุที่เร่งให้ข้อติดยึดง่ายและเร็วขึ้น ได้แก่                                                     
      - ในขณะนอนหรือนั่ง ข้ออยู่ในท่าที่ทำให้กล้ามเนื้อและเอ็นหดยึด เช่น แขนอยู่แนบลำตัวทำให้ไหล่ติด ข้อศอกอยู่ในท่างอทำให้เหยียดข้อศอกได้ไม่ตรง นิ้วมืออยู่ในท่าเหยียดทำให้กำมือไม่ได้ นั่งนานทำให้ข้อเข่าและตะโพกงอติด ปล่อยให้ปลายเท้าตกทำให้ข้อเท้าติด กระดกไม่ขึ้น เป็นต้น
      - การบวน เช่น ข้อ มือบวมทำให้ข้อนิ้วติด
      - กล้ามเนื้อเอ็นฉีกขาด ทำให้เกิดพังผืดที่หดยึดรอบๆ ข้อ
      - บางครั้งมีแคลเซียมแทรกในเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อ ทำให้ข้อยึดติดแข็งมักเกิดที่บริเวณข้อตะโพก ข้อเข่า ข้อไหล่ เป็นต้น
      - มีแผลกดทับ





หลีกเลี่ยงสาเหตุ ป้องกันภาวะแทรกซ้อน
บริหารข้อ ยืดเอ็นและกล้ามเนื้อเป็นประจำ
ช่วยลดเกร็งและป้องกันข้อติดยึด

Wheelchair


       ผู้บาดเจ็บไขสันหลัง เมื่อร่างกายบกพร่อง ขาอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต การเคลื่อนย้ายตัวหรือเคลื่อนที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก ถ้าแขนและมือยังพอมีแรงมีกำลัง ควรใช้แขนและมือเพื่อชดเชยสิ่งที่ขาดหายไป เพิ่มความสามารถให้ตนเอง ด้วยการฝึก และรู้จักใช้เครื่องทุ่นแรง ได้แก่ ไม้ค้ำยัน ประกับขา และ วีลแชร์

   

            Wheelchair มี ส่วนประกอบหลักๆ ดังนี้                                                


      - โครงโลหะ/อลูมิเนียม/อัลลอยด์ ที่มีลักษณะคล้ายเก้าอี้ มีทั้งแบบพับได้และพับไม่ได้
      - ส่วนบนสุดของโครงโค้งเป็นด้ามจับ2ข้าง เพื่อให้ผู้อื่นจับเข็น
      - พนักพิงและที่รองนั่ง มักทำด้วยผ้าใบหรือหนังเทียม บางคันเป็นโลหะ (สำหรับอาบน้ำ)
      - ที่รองรับแขน อยู่ 2 ข้างลำตัว อาจติดตายตัว พับ หรือ ถอดออกได้
      - ล้อใหญ่ 1 คู่ อยู่ด้านหลัง ซึ่งยึดติดกับเพลาหรือแกน มีวงล้อสำหรับมือจับประกบอยู่
      - ล้อเล็ก 1 คู่ อยู่ด้านหน้า หมุนได้รอบตัว
      - เบรก สำหรับยึดล้อไม่ให้เคลื่อนเวลาหยุดนิ่ง
      - ที่รองรับเท้าที่ทำด้วยโลหะ หรือ อลูมิเนียม หรือ พลาสติคแข็ง




                                       เมื่อไรจึงจำเป็นต้องใช้ Wheelchair                                            

      เมื่อสภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวยให้เดินได้ เราก็ต้องยอมรับว่า รถเข็นนั่ง มีความจำเป็นต่อชีวิต เป็นปัจจัยที่5 ที่จะช่วยทำให้เราไปไหน-มาไหน ได้เยี่ยงคนอื่น บางคนพอมีกำลังขา ก็อาจเดินได้โดยการใช้ประกับขาและไม้ค้ำยัน บางคนเลือกเดินเพียงระยะสั้นๆ และใช้รถเข็นนั่งเมื่อต้องไปไหนไกลๆ เพื่อช่วยทุ่นแรง ทั้งนี้ เราสามารถเลือกรถเข็นนั่งได้ตามความเหมาะสม โดยมีแพทย์ นักกายภาพบำบัด และนักกิจกรรมบำบัด เป็นผู้ช่วยให้คำแนะนำ



                                 Wheelchair ที่หมาะสม มีลักษณะอย่างไร?                                            

      - มีขนาดพอดีตัวผู้ใช้ เช่น ไม่ใหญ่ ไม่เล็กเกินไป มีช่องว่างข้างตัวประมาณข้างละ 1 นิ้ว ระดับที่รองนั่งไม่สูงหรือต่ำเกินไป เมื่อทิ้งแขนลงข้างตัว งอศอกประมาณ 30-45 องศาแล้ว มือวางอยู่ที่จุดสูงสุดของล้อ
      - มีน้ำหนักเบา มีความคล่องตัวเวลาใช้
      - มีความมั่นคง ไม่ล้มหรือหงายหลังง่าย มีตัวยันกันหงายหลัง
      - คงทน ไม่ชำรุดง่าย สามารถซ่อมหรือหาอะไหล่ได้ง่าย
      - ราคาไม่แพง
      - ปรับได้ตามความเหมาะสม  เช่น พนักพิงปรับเอียงได้ , ปรับที่นั่งให้เอียงได้ , พับหรือถอดที่รองแขนออกได้ , ปรับระดับที่รองเท้าได้ , เปลี่ยนตำแหน่งดุมล้อหลังได้ , พับได้ , ถอดล้อได้





                             Wheelchair ชนิดใด แบบไหน จึงจะเหมาะสม                                                  

      การเลือกรถเข็นนั่งให้เหมาะสมคงต้องดูว่า เรามีกำลังกล้ามเนื้อแขนและมือ มากน้อยขนาดไหนที่จะหมุนล้อรถเข็นให้เคลื่อนที่ได้ การทรงตัวเป็นเช่นไร จะนำไปใช้งานประเภทใด อีกทั้งดูที่กำลังทรัพย์ที่มีอยู่ด้วย


แขน และ มือ มีแรงปกติ แต่ ขา อ่อนแรง

 


  สามารถใช้รถเข็นแบบธรรมดา ที่ไม่ต้องดัดแปลง ถ้าการทรงตัวมั่นคงดี ก็สามารถเลือกรถเข็นขนาดพอเหมาะกับตัวที่มีพนักพิงต่ำและไม่ต้องมีที่เท้าแขนหรือรองรับแขน
 





แขนปกติ แต่ มือ และ ขา อ่อนแรง และลำตัวไม่แข็งแรง

 



  ควรเลือกรถเข็นที่มีน้ำหนักเบา มีพนักพิงสูง ที่เท้าแขนสามารถถอดออกหรือพับได้ เพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายตัว บางครั้งจำเป็นต้องติดปุ่ม/ปมที่วงล้อและสวมถุงมือ เพื่อช่วยให้หมุนล้อได้ง่ายขึ้น





แขน มือ ลำตัว อ่อนแรง แต่ ขา พอมีกำลัง

 

   สามารถใช้รถเข็นชนิดธรรมดาได้โดยไม่ใช้มือหมุนล้อ แต่ใช้ขาและเท้าช่วยผลักให้รถเข็นเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ต้องการ
      บางคนอาจเดินเกาะและดันรถเข็น โดยอาศัยรถเข็นช่วยพยุงลำตัวเวลาเดิน ทำให้มั่นคง อีกทั้งสามารถลงนั่งบนรถเข็นเมื่อต้องการพัก








แขน มือ ลำตัวและขา อ่อนแรง ไม่มีกำลัง

 


ต้องใช้รถเข็นที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ปัจจุบันมีจำหน่ายในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้า จึงมีราคาแพง ถ้ามีผู้ดูแลช่วยเข็นรถให้ ก็สามารถใช้รถเข็นแบบธรรมดาได้






ในกรณีที่มีอาการหน้ามืดง่ายในขณะนั่ง




    ใช้รถเข็นที่ปรับพนักพิงเอียงลง ปรับที่รองรับขาหรือเท้าให้สูงขึ้นได้ ถ้าใช้รถเข็นแบบธรรมดา ผู้ดูแลสามารถเหยียบก้านเหล็กด้านหลังที่อยู่ข้างๆ ล้อ พร้อมกดก้านจับที่ด้านหลังพนักพิงลง รถเข็นจะหงายหลังทำให้เลือดไหลเวียนกลับสู่หัวใจและไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น อาการก็ทุเลา









         นั่ง Wheelchair อย่างไร ไม่ให้เกิดแผลกดทับ
                                                 

      - ไม่นั่งติดต่อกันนานเป็นชั่วโมง โดยไม่ขยับตัว

      - ยกตัวให้ก้นลอยขึ้นจากที่นั่งชั่วคราว ครั้งละ 30 วินาที ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง              

      - พยายามนั่งให้หลังตรง พิงพนัก และเข่าอยู่ระดับเดียวกับตะโพก ไม่นั่งไขว่ห้าง

      - เวลาย้ายตัวจากรถุเข็น ควรยกให้ตัวลอยขึ้น ไม่ให้ถูไถกับที่รองนั่งหรือเตียง

      - ใช้เบาะรองนั่งเพื่อลดและกระจายแรงกดจากน้ำหนักตัว

             อนึ่ง ทุกวันเมื่อลงจากรถเข็นแล้ว ควรสำรวจผิวหนังบริเวณก้นและตะโพก ด้วยการส่งกระจกดูว่ามีแผลถลอกหรือรอยกดแดงช้ำ หรือไม่? และใช้มือคลำ สำรวจว่ามีก้อนแข็งๆ หรือนิ่มๆ ใต้ผิวหนัง หรือไม่? ถ้ามี ก็บ่งชี้ว่ามีแผลกดทับเกิดขึ้นแล้ว





                                     เบาะรองนั่งมีกี่แบบ จะเลือกชนิดไหนดี?                                                    


บาะฟองน้ำ

1. เบาะฟองน้ำ ที่ใช้ทำเบาะนั่งรถยนต์หรือโซฟา

      - มีความหนาประมาณ 3-4 นิ้ว
      - เป็นฟองน้ำอัดหรือฟองน้ำที่มีความหนาแน่นปานกลาง
      - ราคาประมาณ 300-500 บาท
      - มีอายุการใช้งานประมาณ 6 เดือน สามารถลดแรงกดได้พอใช้





เบาะเจล
   
        2. เบาะเจล

      - เป็นเบาะชนิดพิเศษ ทำจากต่างประเทศ
      - สามารถลดแรงกดได้ดี
      - ข้อเสีย คือ มีน้ำหนักมาก ราคาแพง




เบาะลม



     3. เบาะลม โรโฮ ( ROHO )

   - เป็นเบาะที่มีประสิทธิภาพ ดีที่สุด
   - น้ำหนักเบา ระบายความอับชื้นได้ดี
   - ข้อเสีย คือ ราคาแพงมาก และอาจเสียสมดุลในการทรงตัวง่าย



        

          เบาะรองนั่งทุกชนิด ควรมีปลอกผ้าหุ้ม ที่ทำด้วยผ้ายืดที่ซับเหงื่อและแห้งง่าย ไม่มีตะเข็บที่ด้านบนเพราะแนวตะเข็บเป็นต้นเหตุของแผลกดทับได้  ควรหลีกเลี่ยงปลอกที่ทำจากหนังเทียมเพราะทำให้เกิดความอับชื้น ผิวหนังจะเป็นผื่น เปื่อย และอาจเป็นแผล ควรทำความสะอาดเบาะรองนั่งและซักปลอกที่หุ้มเป็นประจำ หรือทุกครั้งที่มีการเลอะเปื้อน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ผิวหนังและระบบทางเดินปัสสาวะ


                                      อุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นเมื่อใช้ Wheelchair                                                            
      - สายคาดขนาดใหญ่และยาว ใช้พันรอบตัว กันการเสียหลักแล้วหล่นออกจากรถเข็น ในกรณีที่การทรงตัวไม่ดี
      - สายคาดขนาดเล็ก ใช้พันรอบขาหรือรองรับขา กนไม่ให้เท้าหล่นออกจากที่รองรับเท้า
      - ปุ่มเหล็ก หรือ ปมยางติดที่วงล้อ เพื่อช่วยให้หมุนล้อได้ถนัดขึ้น
      - ถุงมือ ไว้สวมใส่เพื่อให้หมุนล้อได้ดีขึ้น อีกทั้งป้องกันบาดเจ็บ เวลาหมุนล้อ
      - ปลอกผ้าหนาๆ ส่วมที่ข้อศอก ป้องกันแผลกดทับ
      - ถุงใส่ของ ห้อยไว้ด้านหลังพนักพิง
      - ที่ยึดจับไม้ค้ำยัน
      - ไม้กระดานเล็ก สำหรับรองรับและช่วยในการย้ายตัว
      - น้ำมันหล่อลื่น สำหรับหยอดส่วนต่างๆ ของรถเข็น
      - ที่สูบลม



                                 ข้อพึงปฏิบัติเมื่อใช้รถเข็น มีอะไรบ้าง?                                                          

      - หมั่นทำความสะอาดเบาะรองนั่งและปลอกหุ้ม
      - ถ้าการทรงตัวไม่ดี ควรใช้สายคาดลำตัว
      - ถ้าขาทั้งสองข้างชนกัน เกร็งหนีบ ควรใช้แถบผ้าพันรั้งขาให้กางออก หรือใช้หมอนกั้นไว้
      - หลีกเลี่ยงการนั่งยกเข่าสูงกว่าตะโพก หรือ นั่งไข่วห้าง
      - สวมถุงเท้า รองเท้า ทุกครั้งเมื่อนั่งรถเข็นออกไปนอกบ้าน
      - วางเท้าบนที่รองเท้า ไม่ให้หล่นลงมาลากกับพื้น
      - ถ้าเท้าบวน ควรยกเท้าขึ้นมาพาดบนเก้าอี้หรือเตียงเป็นครั้งคราว
      - ถ้ากล้ามเนื้อแขนและลำตัวไม่แข็งแรง ควรใช้ไม้แผ่นรองช่วยในการย้ายตัว
      - ล็อคล้อรถเข็น ก่อนย้ายตัวขึ้น-ลง
      - ทำความสะอาดล้อทุก 1-2 สัปดาห์ เป็นอย่างน้อย
      - หยอดน้ำมันหล่อลื่นตามข้อต่อ ทุก 1-2 เดือน
      - ไม่นั่งอาบน้ำบนรถเข็นที่ไม่กันสนิม
      - สูบลมยางเป็นประจำ อย่าปล่อยให้ยางแบน
      - ถ้ามีอาการ ตาลาย จะเป็น ลม ต้องบอกให้คนข้างเคียง ช่วยกระดกล้อหน้าให้รถเข็นหงายหลัง เพื่อให้ศรีษะต่อและปลายเท้าชี้ขึ้น เมื่ออาการดีขึ้นจึงปล่อยรถเข็นลงสู่ปกติ




รถเข็นเป็นสัญญลักษณ์ของคนพิการ
แต่...รถเข็นช่วยให้ร่างกายที่บกพร่องกลับมามีประสิทธิภาพ
และกลับคืนสู่สังคมได้อีกครั้ง






      ***บันทึกจากผู้เขียน


         Wheelchairs คือ อุปกรณ์จำเป็นสำหรับ คนพิการ ที่ขาใช้งานไม่ได้ มีมากมายหลายเกรด คุณภาพแตกต่าง ตามราคาที่จำหน่ายทั่วๆ ไป คงไม่แตกต่างกับรถยนต์ ท่านไหนมีสตางค์มากหน่อย ก็สามารถซื้อรถเบ็นซ์ขับได้ ทั้งนี้ ทั้งนั้น สำหรับคนพิการที่ฐานะยากจน หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ มีวีลแชร์ให้ท่านใช้ฟรีๆ แน่นอน 
         
          3-4 ปี ที่ผ่านมา 
คนพิการที่เกิดความพิการจากการประสบอุบัติทางการจราจร กรมขนส่งทางบกแจกวีลแชร์คุณภาพดี เกรด A ให้กับคนพิการดังกล่าวทุกๆ คน