16/12/54

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ


อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ
อารัมภบท
 รัฐภาคีแห่งอนุสัญญานี้
(เอ) ระลึกถึงหลักการที่ประกาศไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งยอมรับในศักดิ์ศรีและคุณค่าที่มีมาแต่กำเนิด และสิทธิที่เท่าเทียมกันและไม่อาจเพิกถอนได้ของสมาชิกทั้งปวงของมวลมนุษยชาตินั้น เป็นรากฐานของเสรีภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพในโลก
(บี) ยอมรับว่าสหประชาชาติได้ประกาศ และตกลงในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนว่า ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพทั้งปวงที่กำหนดไว้ โดยปราศจากความแตกต่างไม่ว่าชนิดใดๆ
(ซี) ยืนยันถึงความเป็นสากล ความแบ่งแยกไม่ได้ ความเกื้อกูลซึ่งกันและกันและความเชื่อมโยงกันของสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวง และความต้องการจำเป็นที่คนพิการจะได้รับหลักประกันว่าจะได้อุปโภคสิทธิของตนอย่างเต็มที่โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ
(ดี) ระลึกถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานผู้โยกย้ายถิ่นฐานทั้งปวงและสมาชิกในครอบครัว
(อี) ยอมรับว่าความพิการเป็นแนวคิดที่มีพัฒนาการอยู่ตลอด และความพิการเกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่มีความบกพร่องใดๆ กับอุปสรรคทางเจตคติและสภาพแวดล้อมซึ่งทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผล บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น
(เอฟ) ยอมรับถึงความสำคัญของหลักการและแนวนโยบายที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการระดับโลกเกี่ยวกับคนพิการ และข้อกำหนดมาตรฐานว่าด้วยการให้โอกาสที่เท่าเทียมกันแก่คนพิการที่ส่งผลต่อการส่งเสริม จัดทำและประเมินผลนโยบาย แผน โปรแกรมและการปฏิบัติการในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับคนพิการ
(จี) เน้นย้ำถึงความสำคัญของการบูรณาการประเด็นความพิการให้อยู่ในกระแสหลักของยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาที่ยั่งยืน
(เอช) ยอมรับด้วยว่าการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลใดๆ บนพื้นฐานของความพิการเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีและคุณค่าที่มีมาแต่กำเนิดของมนุษย์
(ไอ) ยอมรับต่อไปถึงความหลากหลายของคนพิการ
(เจ) ยอมรับถึงความต้องการจำเป็นที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนพิการทุกคน รวมทั้งผู้ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษเพิ่มขึ้น
(เค) มีความห่วงใยว่าแม้จะมีตราสารหรือการดำเนินการต่างๆ เหล่านี้แล้ว คนพิการยังคงเผชิญกับอุปสรรคในการมีส่วนร่วมในฐานะสมาชิกที่เท่าเทียมกันในสังคม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของตนในทุกหนแห่งในโลก
(แอล) ยอมรับถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของคนพิการในทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา
(เอ็ม) ยอมรับถึงการมีส่วนช่วยอันทรงคุณค่าของคนพิการที่มีอยู่และอาจมีขึ้นในความเป็นอยู่ที่ดีโดยรวมและความหลากหลายของชุมชน และยอมรับว่าการส่งเสริมให้คนพิการได้อุปโภคสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของตนและมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ จะส่งผลให้เกิดความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของที่เพิ่มขึ้น และความก้าวหน้าที่สำคัญในการพัฒนาสังคมด้านมนุษย์ สังคม และเศรษฐกิจ และการขจัดความยากจน
(เอ็น) ยอมรับถึงความสำคัญที่คนพิการจะอยู่ได้ด้วยตนเองและเป็นอิสระ รวมทั้งเสรีภาพในการเลือกแนวทางของตนเอง
(โอ) พิจารณาว่าคนพิการควรมีโอกาสได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายและโครงการต่างๆ รวมถึงนโยบายและโปรแกรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับตน
(พี) มีความห่วงใยเกี่ยวกับสภาพความยากลำบากที่เผชิญอยู่โดยคนพิการ ซึ่งตกอยู่ภายใต้การเลือกปฏิบัติอย่างทวีคูณในรูปแบบที่หลากหลาย หรือมีความรุนแรงบนพื้นฐานของเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรืออื่นๆ ชาติกำเนิด ชาติพันธุ์ ความเป็นชนพื้นเมืองหรือสังคมดั้งเดิม ทรัพย์สิน การเกิด อายุหรือสถานภาพอื่น
(คิว) ยอมรับว่าสตรีและเด็กหญิงพิการมักมีความเสี่ยงมากกว่าทั้งในและนอกเคหสถาน ที่จะถูกกระทำความรุนแรง ทำร้ายหรือข่มเหง ทอดทิ้ง หรือปฏิบัติอย่างละเลย ปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมหรือแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
(อาร์) ยอมรับว่าเด็กพิการควรได้อุปโภคสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวงอย่างเต็มที่ บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันกับเด็กอื่นๆ และระลึกถึงการดำเนินการตามพันธกรณีในเรื่องนี้ของรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
(เอส) เน้นย้ำถึงความต้องการจำเป็นที่จะรวมมุมมองทางเพศสภาพไว้ในความพยายามทั้งปวงที่จะส่งเสริมให้คนพิการได้อุปโภคสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเต็มที่
(ที) เน้นข้อเท็จจริงที่ว่าคนพิการส่วนใหญ่มีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากจน และในการนี้จึงยอมรับถึงความต้องการจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการแก้ไขผลกระทบเชิงลบของความยากจนที่มีต่อคนพิการ
(ยู) คำนึงว่าเงื่อนไขของสันติภาพและความมั่นคงซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพต่อความมุ่งประสงค์และหลักการในกฎบัตรสหประชาชาติ และการปฏิบัติตามตราสารต่างๆ ด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการคุ้มครองคนพิการอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในท่ามกลางความขัดแย้งทางอาวุธและการยึดครองของต่างชาติ
(วี) ยอมรับถึงความสำคัญของความสามารถในการเข้าถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม สาธารณสุข และการศึกษา และสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งจะทำให้คนพิการได้อุปโภคสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวงได้อย่างเต็มที่
(ดับเบิลยู) ตระหนักว่าปัจเจกชนผู้มีหน้าที่ต่อปัจเจกชนอื่นและต่อชุมชนของตนมีความรับผิดชอบที่จะเพียรพยายามในการส่งเสริมและการปฏิบัติตามสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
(เอกซ์) เชื่อมั่นว่าครอบครัวเป็นหน่วยรวมของสังคมซึ่งเป็นพื้นฐานและเป็นธรรมชาติและมีสิทธิได้รับการคุ้มครองจากสังคมและรัฐ และคนพิการรวมทั้งสมาชิกในครอบครัวควรได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือที่จำเป็นเพื่อให้ครอบครัวมีส่วนช่วยให้คนพิการได้อุปโภคสิทธิอย่างเต็มที่และเท่าเทียม
(วาย) เชื่อมั่นว่าอนุสัญญาระหว่างประเทศที่มีเนื้อหาที่ครอบคลุมและครบถ้วนในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและศักดิ์ศรีของคนพิการจะมีส่วนช่วยอย่างสำคัญในการแก้ไขความเสียเปรียบอย่างยิ่งทางสังคมของคนพิการ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนพิการด้านความเป็นพลเมือง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ด้วยโอกาสที่เท่าเทียม ทั้งในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว
                ได้ตกลงกัน ดังนี้