28/12/54

Wheelchair


       ผู้บาดเจ็บไขสันหลัง เมื่อร่างกายบกพร่อง ขาอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต การเคลื่อนย้ายตัวหรือเคลื่อนที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก ถ้าแขนและมือยังพอมีแรงมีกำลัง ควรใช้แขนและมือเพื่อชดเชยสิ่งที่ขาดหายไป เพิ่มความสามารถให้ตนเอง ด้วยการฝึก และรู้จักใช้เครื่องทุ่นแรง ได้แก่ ไม้ค้ำยัน ประกับขา และ วีลแชร์

   

            Wheelchair มี ส่วนประกอบหลักๆ ดังนี้                                                


      - โครงโลหะ/อลูมิเนียม/อัลลอยด์ ที่มีลักษณะคล้ายเก้าอี้ มีทั้งแบบพับได้และพับไม่ได้
      - ส่วนบนสุดของโครงโค้งเป็นด้ามจับ2ข้าง เพื่อให้ผู้อื่นจับเข็น
      - พนักพิงและที่รองนั่ง มักทำด้วยผ้าใบหรือหนังเทียม บางคันเป็นโลหะ (สำหรับอาบน้ำ)
      - ที่รองรับแขน อยู่ 2 ข้างลำตัว อาจติดตายตัว พับ หรือ ถอดออกได้
      - ล้อใหญ่ 1 คู่ อยู่ด้านหลัง ซึ่งยึดติดกับเพลาหรือแกน มีวงล้อสำหรับมือจับประกบอยู่
      - ล้อเล็ก 1 คู่ อยู่ด้านหน้า หมุนได้รอบตัว
      - เบรก สำหรับยึดล้อไม่ให้เคลื่อนเวลาหยุดนิ่ง
      - ที่รองรับเท้าที่ทำด้วยโลหะ หรือ อลูมิเนียม หรือ พลาสติคแข็ง




                                       เมื่อไรจึงจำเป็นต้องใช้ Wheelchair                                            

      เมื่อสภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวยให้เดินได้ เราก็ต้องยอมรับว่า รถเข็นนั่ง มีความจำเป็นต่อชีวิต เป็นปัจจัยที่5 ที่จะช่วยทำให้เราไปไหน-มาไหน ได้เยี่ยงคนอื่น บางคนพอมีกำลังขา ก็อาจเดินได้โดยการใช้ประกับขาและไม้ค้ำยัน บางคนเลือกเดินเพียงระยะสั้นๆ และใช้รถเข็นนั่งเมื่อต้องไปไหนไกลๆ เพื่อช่วยทุ่นแรง ทั้งนี้ เราสามารถเลือกรถเข็นนั่งได้ตามความเหมาะสม โดยมีแพทย์ นักกายภาพบำบัด และนักกิจกรรมบำบัด เป็นผู้ช่วยให้คำแนะนำ



                                 Wheelchair ที่หมาะสม มีลักษณะอย่างไร?                                            

      - มีขนาดพอดีตัวผู้ใช้ เช่น ไม่ใหญ่ ไม่เล็กเกินไป มีช่องว่างข้างตัวประมาณข้างละ 1 นิ้ว ระดับที่รองนั่งไม่สูงหรือต่ำเกินไป เมื่อทิ้งแขนลงข้างตัว งอศอกประมาณ 30-45 องศาแล้ว มือวางอยู่ที่จุดสูงสุดของล้อ
      - มีน้ำหนักเบา มีความคล่องตัวเวลาใช้
      - มีความมั่นคง ไม่ล้มหรือหงายหลังง่าย มีตัวยันกันหงายหลัง
      - คงทน ไม่ชำรุดง่าย สามารถซ่อมหรือหาอะไหล่ได้ง่าย
      - ราคาไม่แพง
      - ปรับได้ตามความเหมาะสม  เช่น พนักพิงปรับเอียงได้ , ปรับที่นั่งให้เอียงได้ , พับหรือถอดที่รองแขนออกได้ , ปรับระดับที่รองเท้าได้ , เปลี่ยนตำแหน่งดุมล้อหลังได้ , พับได้ , ถอดล้อได้





                             Wheelchair ชนิดใด แบบไหน จึงจะเหมาะสม                                                  

      การเลือกรถเข็นนั่งให้เหมาะสมคงต้องดูว่า เรามีกำลังกล้ามเนื้อแขนและมือ มากน้อยขนาดไหนที่จะหมุนล้อรถเข็นให้เคลื่อนที่ได้ การทรงตัวเป็นเช่นไร จะนำไปใช้งานประเภทใด อีกทั้งดูที่กำลังทรัพย์ที่มีอยู่ด้วย


แขน และ มือ มีแรงปกติ แต่ ขา อ่อนแรง

 


  สามารถใช้รถเข็นแบบธรรมดา ที่ไม่ต้องดัดแปลง ถ้าการทรงตัวมั่นคงดี ก็สามารถเลือกรถเข็นขนาดพอเหมาะกับตัวที่มีพนักพิงต่ำและไม่ต้องมีที่เท้าแขนหรือรองรับแขน
 





แขนปกติ แต่ มือ และ ขา อ่อนแรง และลำตัวไม่แข็งแรง

 



  ควรเลือกรถเข็นที่มีน้ำหนักเบา มีพนักพิงสูง ที่เท้าแขนสามารถถอดออกหรือพับได้ เพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายตัว บางครั้งจำเป็นต้องติดปุ่ม/ปมที่วงล้อและสวมถุงมือ เพื่อช่วยให้หมุนล้อได้ง่ายขึ้น





แขน มือ ลำตัว อ่อนแรง แต่ ขา พอมีกำลัง

 

   สามารถใช้รถเข็นชนิดธรรมดาได้โดยไม่ใช้มือหมุนล้อ แต่ใช้ขาและเท้าช่วยผลักให้รถเข็นเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ต้องการ
      บางคนอาจเดินเกาะและดันรถเข็น โดยอาศัยรถเข็นช่วยพยุงลำตัวเวลาเดิน ทำให้มั่นคง อีกทั้งสามารถลงนั่งบนรถเข็นเมื่อต้องการพัก








แขน มือ ลำตัวและขา อ่อนแรง ไม่มีกำลัง

 


ต้องใช้รถเข็นที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ปัจจุบันมีจำหน่ายในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้า จึงมีราคาแพง ถ้ามีผู้ดูแลช่วยเข็นรถให้ ก็สามารถใช้รถเข็นแบบธรรมดาได้






ในกรณีที่มีอาการหน้ามืดง่ายในขณะนั่ง




    ใช้รถเข็นที่ปรับพนักพิงเอียงลง ปรับที่รองรับขาหรือเท้าให้สูงขึ้นได้ ถ้าใช้รถเข็นแบบธรรมดา ผู้ดูแลสามารถเหยียบก้านเหล็กด้านหลังที่อยู่ข้างๆ ล้อ พร้อมกดก้านจับที่ด้านหลังพนักพิงลง รถเข็นจะหงายหลังทำให้เลือดไหลเวียนกลับสู่หัวใจและไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น อาการก็ทุเลา









         นั่ง Wheelchair อย่างไร ไม่ให้เกิดแผลกดทับ
                                                 

      - ไม่นั่งติดต่อกันนานเป็นชั่วโมง โดยไม่ขยับตัว

      - ยกตัวให้ก้นลอยขึ้นจากที่นั่งชั่วคราว ครั้งละ 30 วินาที ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง              

      - พยายามนั่งให้หลังตรง พิงพนัก และเข่าอยู่ระดับเดียวกับตะโพก ไม่นั่งไขว่ห้าง

      - เวลาย้ายตัวจากรถุเข็น ควรยกให้ตัวลอยขึ้น ไม่ให้ถูไถกับที่รองนั่งหรือเตียง

      - ใช้เบาะรองนั่งเพื่อลดและกระจายแรงกดจากน้ำหนักตัว

             อนึ่ง ทุกวันเมื่อลงจากรถเข็นแล้ว ควรสำรวจผิวหนังบริเวณก้นและตะโพก ด้วยการส่งกระจกดูว่ามีแผลถลอกหรือรอยกดแดงช้ำ หรือไม่? และใช้มือคลำ สำรวจว่ามีก้อนแข็งๆ หรือนิ่มๆ ใต้ผิวหนัง หรือไม่? ถ้ามี ก็บ่งชี้ว่ามีแผลกดทับเกิดขึ้นแล้ว





                                     เบาะรองนั่งมีกี่แบบ จะเลือกชนิดไหนดี?                                                    


บาะฟองน้ำ

1. เบาะฟองน้ำ ที่ใช้ทำเบาะนั่งรถยนต์หรือโซฟา

      - มีความหนาประมาณ 3-4 นิ้ว
      - เป็นฟองน้ำอัดหรือฟองน้ำที่มีความหนาแน่นปานกลาง
      - ราคาประมาณ 300-500 บาท
      - มีอายุการใช้งานประมาณ 6 เดือน สามารถลดแรงกดได้พอใช้





เบาะเจล
   
        2. เบาะเจล

      - เป็นเบาะชนิดพิเศษ ทำจากต่างประเทศ
      - สามารถลดแรงกดได้ดี
      - ข้อเสีย คือ มีน้ำหนักมาก ราคาแพง




เบาะลม



     3. เบาะลม โรโฮ ( ROHO )

   - เป็นเบาะที่มีประสิทธิภาพ ดีที่สุด
   - น้ำหนักเบา ระบายความอับชื้นได้ดี
   - ข้อเสีย คือ ราคาแพงมาก และอาจเสียสมดุลในการทรงตัวง่าย



        

          เบาะรองนั่งทุกชนิด ควรมีปลอกผ้าหุ้ม ที่ทำด้วยผ้ายืดที่ซับเหงื่อและแห้งง่าย ไม่มีตะเข็บที่ด้านบนเพราะแนวตะเข็บเป็นต้นเหตุของแผลกดทับได้  ควรหลีกเลี่ยงปลอกที่ทำจากหนังเทียมเพราะทำให้เกิดความอับชื้น ผิวหนังจะเป็นผื่น เปื่อย และอาจเป็นแผล ควรทำความสะอาดเบาะรองนั่งและซักปลอกที่หุ้มเป็นประจำ หรือทุกครั้งที่มีการเลอะเปื้อน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ผิวหนังและระบบทางเดินปัสสาวะ


                                      อุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นเมื่อใช้ Wheelchair                                                            
      - สายคาดขนาดใหญ่และยาว ใช้พันรอบตัว กันการเสียหลักแล้วหล่นออกจากรถเข็น ในกรณีที่การทรงตัวไม่ดี
      - สายคาดขนาดเล็ก ใช้พันรอบขาหรือรองรับขา กนไม่ให้เท้าหล่นออกจากที่รองรับเท้า
      - ปุ่มเหล็ก หรือ ปมยางติดที่วงล้อ เพื่อช่วยให้หมุนล้อได้ถนัดขึ้น
      - ถุงมือ ไว้สวมใส่เพื่อให้หมุนล้อได้ดีขึ้น อีกทั้งป้องกันบาดเจ็บ เวลาหมุนล้อ
      - ปลอกผ้าหนาๆ ส่วมที่ข้อศอก ป้องกันแผลกดทับ
      - ถุงใส่ของ ห้อยไว้ด้านหลังพนักพิง
      - ที่ยึดจับไม้ค้ำยัน
      - ไม้กระดานเล็ก สำหรับรองรับและช่วยในการย้ายตัว
      - น้ำมันหล่อลื่น สำหรับหยอดส่วนต่างๆ ของรถเข็น
      - ที่สูบลม



                                 ข้อพึงปฏิบัติเมื่อใช้รถเข็น มีอะไรบ้าง?                                                          

      - หมั่นทำความสะอาดเบาะรองนั่งและปลอกหุ้ม
      - ถ้าการทรงตัวไม่ดี ควรใช้สายคาดลำตัว
      - ถ้าขาทั้งสองข้างชนกัน เกร็งหนีบ ควรใช้แถบผ้าพันรั้งขาให้กางออก หรือใช้หมอนกั้นไว้
      - หลีกเลี่ยงการนั่งยกเข่าสูงกว่าตะโพก หรือ นั่งไข่วห้าง
      - สวมถุงเท้า รองเท้า ทุกครั้งเมื่อนั่งรถเข็นออกไปนอกบ้าน
      - วางเท้าบนที่รองเท้า ไม่ให้หล่นลงมาลากกับพื้น
      - ถ้าเท้าบวน ควรยกเท้าขึ้นมาพาดบนเก้าอี้หรือเตียงเป็นครั้งคราว
      - ถ้ากล้ามเนื้อแขนและลำตัวไม่แข็งแรง ควรใช้ไม้แผ่นรองช่วยในการย้ายตัว
      - ล็อคล้อรถเข็น ก่อนย้ายตัวขึ้น-ลง
      - ทำความสะอาดล้อทุก 1-2 สัปดาห์ เป็นอย่างน้อย
      - หยอดน้ำมันหล่อลื่นตามข้อต่อ ทุก 1-2 เดือน
      - ไม่นั่งอาบน้ำบนรถเข็นที่ไม่กันสนิม
      - สูบลมยางเป็นประจำ อย่าปล่อยให้ยางแบน
      - ถ้ามีอาการ ตาลาย จะเป็น ลม ต้องบอกให้คนข้างเคียง ช่วยกระดกล้อหน้าให้รถเข็นหงายหลัง เพื่อให้ศรีษะต่อและปลายเท้าชี้ขึ้น เมื่ออาการดีขึ้นจึงปล่อยรถเข็นลงสู่ปกติ




รถเข็นเป็นสัญญลักษณ์ของคนพิการ
แต่...รถเข็นช่วยให้ร่างกายที่บกพร่องกลับมามีประสิทธิภาพ
และกลับคืนสู่สังคมได้อีกครั้ง






      ***บันทึกจากผู้เขียน


         Wheelchairs คือ อุปกรณ์จำเป็นสำหรับ คนพิการ ที่ขาใช้งานไม่ได้ มีมากมายหลายเกรด คุณภาพแตกต่าง ตามราคาที่จำหน่ายทั่วๆ ไป คงไม่แตกต่างกับรถยนต์ ท่านไหนมีสตางค์มากหน่อย ก็สามารถซื้อรถเบ็นซ์ขับได้ ทั้งนี้ ทั้งนั้น สำหรับคนพิการที่ฐานะยากจน หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ มีวีลแชร์ให้ท่านใช้ฟรีๆ แน่นอน 
         
          3-4 ปี ที่ผ่านมา 
คนพิการที่เกิดความพิการจากการประสบอุบัติทางการจราจร กรมขนส่งทางบกแจกวีลแชร์คุณภาพดี เกรด A ให้กับคนพิการดังกล่าวทุกๆ คน