20/12/54

กายภาพบำบัด


      ผู้บาดเจ็บไขสันหลังเมื่อพ้นภาวะวิกฤตหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ข้อต่างๆ มีการเคลื่อนไหวได้มากขึ้น เพื่อเพิ่มสมรรถภาพและความสามารถให้กลับมาลุกนั่ง ยืน และเดินได้ตามลำดับ

      กายภาพบำบัด จึงได้ถูกนำมาใช้เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ ในขณะที่อยู่ที่โรงพยาบาลหรือที่บ้าน ผู้ป่วยและผู้ดูแลสามารถทำกายภาพบำบัดได้ โดยอาศัยการฝึก การเรียนรู้วิธีปฏิบัติและใช้อุปกรณ์ง่ายๆ ทั้งนี้ ทุกคนต้องรู้ว่า ความสำเร็จต้องอาศัยเวลา สภาพร่างกาย และจิตใจที่เอื้ออำนวย

      ผู้บาดเจ็บไขสันหลังบางคนอาจรู้สึกว่า สมรรถภาพหลังการบำบัดรักษาและฟื้นฟูมาระยะหนึ่งแล้ว ดีขึ้นน้อยกว่าที่คาดหวัง ทั้งนี้เป็นเพราะไขสันหลังได้รับบาดเจ็บมาก จึงไม่สามารถฟื้นตัวได้ กล้ามเนื้อยังคงอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต อีกทั้งผิวหนังไม่มีความรู้สึก ถ้าเป็นเช่นนี้ เราต้องอาศัยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม และเอื้ออำนวยต่อสภาพร่างกายที่เป็นอยู่ และอาจต้องอาศัยผู้ดูแลเป็นผู้ช่วยเหลือ



                                      เป้าหมายการทำกายภาพบำบัด มีอะไรบ้าง?                                            


      ในระยะแรก กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากๆ เป้าหมาย คือ


      - การหายใจที่มีประสิทธิภาพ โดยการฝึกหัดการหายใจ ช่วยขับและถ่ายเทเสมหะ


      - ป้องกัน ข้อติด โดยการจัดให้ข้อต่างๆ อยู่ในท่าที่เหมาะสม เช่น 
          1. เมื่อนอนหงายหรือนอนตะแคง กางข้อไหล่/แขนออก เหยียดข้อศอกและคว่ำฝ่ามือลง
          2. ใช้หมอนยันปลายเท้าให้ตั้งขึ้น หรือใช้ประกับประคองเท้าเพื่อ ไม่ให้ปลายเท้าตกลงและป้องกันการยึดติดของเอ็นร้อยหวาย
          3. ขยับข้อเป็นประจำทุกวัน ข้อละ 5-10 ครั้ง อย่างน้อย 2 ครั้ง/วัน เช้า-เย็น




      ในระยะฟื้นฟูสมรรถภาพ เป้าหมาย คือ


      - การลุกนั่ง ยืน ได้โดย ไม่หน้ามืด เป็นลม ดังนี้
          1. เอาศรีษะขึ้นทีละน้อย เวลานั่งหรือยืน
          2. ไม่อยู่ในท่านอนเกินความจำเป็น ปรับหัวเตียงให้สูงขึ้น หัดยืนบนเตียงที่ปรับยืนได้ 
          3. ใช้ผ้ายืดพันขาและท้อง เพื่อไม่ให้เลือดคั่งอยู่ตามขาและท้อง เวลานั่งหรือยืน
     
      - ข้อไม่ยึดติด ด้วยการยืดเอ็นและกล้ามเนื้อเป็นประจำ โดยเฉพาะถ้ากล้ามเนื้อเกร็ง 


      - กล้ามเนื้อมีกำลังมากขึ้นและคงทน ไม่อ่อนล้าง่าย ด้วยการพยายามเคลื่อนไหวข้อด้วยตนเอง ดังนี้
          1. ถ้ากำลังมีน้อย ขยับข้อโดยไม่มีแรงต้าน อาศัยนักกายภาพบำบัดหรือผู้ดูแลช่วยประคองให้ข้อเคลื่อนไหว
          2. เมื่อกำลังกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น จึงขยับข้อโดยมีแรงต้าน เช่น แรงต้านจากนักกายภาพหรือผู้ดูแล ตุ้มน้ำหนัก ยางยืดหรือสปริง เป็นต้น


      - การเคลื่อนย้านตัวบนเตียง เริี่มจาก
          1. หัดพลิก ตะแคงตัว
          2. หัดลุกจากนอนเป็นนั่ง และจากนั่งเป็นนอน 
      ในกรณีที่ยังใส่ประกับคอหรือลำตัว การฝึกหัดเคลื่อนย้ายตัวอาจทำไม่ได้เต็มที่ เมื่อถอดประกับออกแล้ว จึงฝึกได้เต็มที่
          
      - การทรงตัวมั่นคง เริ่มจาก
          1. ฝึกทรงตัวในท่านั่งห้อยขาข้างเตียง
          2. เคลื่อนไหวแขนพร้อมกับพยายามทรงตัวให้ได้
          3. ฝึกยืน โดยเริ่มจากการทรงตัวในราวคู่ ฝึกถ่ายเทน้ำหนักลงที่ขา เพื่อเตียมพร้อมสำหรับการเดิน
          4. ในกรณีที่ขาอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต จำเป็นต้องใส่ ประกับ (เบรส หรือ Brace) เพื่อช่วยให้เข่าเหยียดตรง ไม่ทรุดเวลายืน อีกทั้ง ต้องเพิ่มกำลังแขนและลำตัวให้แข็งแรงมากขึ้น เพื่อใช้ในการยันและเหวี่ยงลำตัวให้เคลื่อนไปทางด้านหน้า


      - การหัดเดิน เริ่มจาก
          1. หัดเดินในราวคู่ ด้วยการก้าวเดินทีละขา หรือเหวี่ยงตัวก้าวกระโดดไปข้างหน้า ให้ขาทั้ง 2 ข้างไปพร้อมๆ กัน
          2. ถ้ากำลังกล้ามเนื้อขาและแขนแข็งแรงพอสมควร จึงฝึกเดินโดยใช้ ไม้ค้ำยัน หรือ เครื่องช่วยพยุงเดิน


            การเดินอาจอาศัยพละกำลังมาก บางครั้งรู้สึกเหนื่อยเพียงแค่เดินระยะสั่นๆ บางครั้งต้องยอมรับว่า เราสามารถเดินภายในบ้านได้ แต่เมื่อออกไปนอกบ้าน ต้องใช้รถเข็นเพื่อให้เคลื่อนที่ไปไหนได้สะดวก รวดเร็ว และไม่เหนื่อย


          อนึ่ง ผู้บาดเจ็บไขสันหลังต้องรู้ว่า ในขณะฝึกเพื่อเพิ่มพละกำลัง และความคงทนของกล้ามเนื้อนั้น กล้ามเนื้ออาจได้รับบาดเจ็บเนื่องจากฝึกมากเกินกำลัง ทำให้รู้สึกเจ็บหรือปวดที่กล้ามเนื้อ และอาการเกร็งอาจเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงควรค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาหรือจำนวนครั้งของการฝึกทีละน้อย อย่าฝึกจนล้า ถ้าปวดหรือเจ็บมาก ควรบอกเพทย์ นักกายภาพบำบัด หรือ ผู้ดูแล อย่าฝืนหรือทนเจ็บโดยไม่จำเป็น




                               ทำกายภาพบำบัดที่บ้าน อุปกรณ์ที่จำเป็นมีอะไรบ้าง ?                                                     
      - ตุ้ม/ถุงน้ำหนัก อาจดัดแปลงทำเองโดยเย็บเป็นถุง แล้วหาทรายหรือเม็ดตะกั่ว/เหล็ก มาใส่
      - รอก เชือก หรือ ยางยืด ที่มีความยืดหยุ่น เช่น แถบยางในรถจักรยาน ผ้าขาวม้า
      - ราวคู่ ซึ่งอาจดัดแปลงทำจากไม้ไผ่ 2 ลำ 
      - ประกับขา  (เบรส หรือ Brace) อาจดัดแปลงทำจากกระบอกไม้ไผ่ หรือ ท่อเอสล่อน นำมาผ่าซึก กรุด้วยผ้าขนหนูเพื่อกันผิวหนังถูกกดครูด







ผู้บาดเจ็บไขสันหลัง
ต้อง
หมั่นฝึกฝน ทำกายภาพบำบัด
เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ
เพิ่มสมรรถภาพให้ร่างกาย

กิจกรรมบำบัด


                                        กิจกรรมบำบัด และ การปรับสภาพแวดล้อม                                             
      กิจกรรมบำบัด เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ทำให้ผู้บาดเจ็บไขสันหลังที่สภาพร่างกายบกพร่อง และความสามารถน้อยลง ให้กลับมามีความสามารถอีกครั้ง

      เป้าหมาย คือ ให้สามารถทำ กิจกรรม/กิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้ด้วยตนเอง อาจต้องใช้อุปกรณ์ช่วย และ การปรับสภาพแวดล้อม ให้เหมาะสม กับสภาพและความสามารถของแต่ละบุคคล


                                            กิจวัตรประจำวันที่สำคัญ มีอะไรบ้าง?                                                                 
      - พลิกตัว เคลื่อนย้ายตัว ลุกออกจากเตียง ยืน และ เดิน
      - ทำความสะอาดร่างกาย ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ ล้างก้น
      - แต่งกาย ถอด-ใส่ เสื้อ กางเกง ถุงเท้า รองเท้า
      - ความสวยงาม หวีผม โกนหนวด แต่งหน้า ทาปาก
      - กินอาหาร ดื่มน้ำ
      - ขับถ่าย อุจจาระ ปัสสาวะ


      เหล่านี้ล้วนเป็นกิจวัตรส่วนตัว ประจำวันที่ผู้บาดเจ็บไขสันหลังทุกคนต้องทำ นอกจากนี้บางคนยังต้องทำงานบ้าน เช่น ล้างจาน กวาดบ้าน ถูบ้าน ซักรีดเสื้อผ้า อีกหลายคนต้องทำงาน เข้าสังคม ต้องขีดเขียนหนังสือ ขับรถ จับจ่ายซื้อของ


      ดังนั้น เมื่อผู้บาดเจ็บไขสันหลังสภาพร่างกายบกพร่อง ไม่สามารถควบคุมให้มีการเคลื่อนไหวได้ตามที่ต้องการ การทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ที่เคยทำได้ง่ายๆ ก็ทำไม่ได้ บางครั้งทำได้แต่ลำบากและใช้เวลามาก


      นักกิจกรรมบำบัด หรือ นักอาชีวบำบัด  จะเป็นผู้ฝึกและให้คำชี้แนะเกี่ยวกับการฝึกทำกิจวัตรประจำวัน สภาพร่างกายและจิตใจเป็นตัวบ่งชี้ว่า จะทำได้มากน้อยเพียงใดหลังจากได้รับการฝึกฝนแล้ว เมื่อทำได้แล้วควรทำเป็นประจำให้เกิดความชำนาญ




                            มือ อ่อนแรง จะลุกนั่งและทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างไร?                                                 
กำลังแขนและมืออ่อนแรง


      - ฝึกกำลังกล่ามเนื้อที่ช่วยงอศอกให้แข็งแรง
      - ใช้บันไดเชือกหรือห่วง แขนคล้องที่บันได/ห่วง งอข้อศอก ผงกศรีษะขึ้น ลำตัวจะถูกดึงขึ้น แล้วเหยียดแขนอีกข้างลงเพื่อยันลำตัว ให้ทรงอยู่ในท่านั่ง
      - อาศัยผู้ดูแลช่วยประคองตัวขึ้น ถ้ากำลังมีไม่พอเพียง


กำลังแขนมาก แต่ มือ อ่อนแรง

      - ฝึกกล้ามเนื้อแขนให้มีกำลัง เช่น กล้ามเนื้อที่ช่วยเหยียดข้อศอก และกล้ามเนื้อหัวไหล่ที่ช่วยดันต้นแขนไปทางด้านหลัง
      - พลิกตะแคงตัว ดึงขาทั้งสองข้างให้งอ ถ้าเป็นไปได้ หย่อนขาลงข้างเตียง เพราะจะทำให้ลุกได้ง่ายขึ้น
      - งอแขนด้านที่ตะแคงทับ ดันแขนและศอกลงกับเตียง แล้วเหยียดแขนข้อศอกออกให้ตรง ลำตัวจะถูกยันขึ้นมา

กล้ามเนื้อลำตัวแข็งแรง แต่กล้ามเนื้อแขนอ่อนแรง

      - สามารถลุกขึ้นนั่งตรงๆ โดยใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง ไม่ต้องใช้แรงแขน

กล้ามเนื้อขาแข็งแรง แต่กล้ามเนื้อแขนและลำตัวอ่อนแรง

      - ฝึกกล้ามเนื้อที่ช่วยงอข้อตะโพกให้แข็งแรง

      - ตรึงต้นขาไว้

      - เมื่อเกร็งกล้ามเนื้อที่ช่วยงอข้อตะโพก แรงหดตัวของกล้ามเนื้อ อาจทำให้ลำตัวถูกยกขึ้นได้

      - ถ้ากำลังไม่พอ ต้องอาศัยผู้ดูแลช่วยประคองตัวขึ้นนั่ง



                       ทำอย่างไรจึงจะเคลื่อนตัวบนเตียงนอนหรือพื้นได้สะดวก ?                                        

      เมื่อผู้บาดเจ็บไขสันหลังลุกขึ้นนั่งได้แล้ว  เราต้องเรียนรู้ที่จะขยับขเยื้อน เคลื่อนย้ายตัวไปมาทีละเล็กทีละน้อยบนเตียงหรือพื้นที่นั่งอยู่  ไม่ลากหรือไถตัวกับพื้นเพราะจะทำให้เกิดแผลที่ก้นและตะโพกได้ง่าย

เมื่อขาอ่อนแรง แต่ลำตัวและแขนยังแข็งแรง

      - ผู้บาดเจ็บไขสันหลังต้องฝึกกล้ามเนื้อที่ช่วยเหยียดข้อศอก และกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อไหล่และสะบักให้แข็งแรง เพื่อช่วยให้การเคลื่อนย้ายตัวสะดวกขึ้น

      - ใช้แขนและมือยันพื้น ยกลำตัวขึ้นโดยการเหยียดข้อศอกให้ตรง เพื่อให้ก้นลอยพ้นพื้น แล้วจึงขยับตัวไปทีละน้อย

      - บางคนอาจใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ล้อเลื่อน  เพื่อทำให้เคลื่อนที่ไปไหน มาไหนบนบ้านได้ไม่ต้องใช้รถเข็น

เมื่อแขนมีแรง แต่ช่วงแขนสั้น


      - บางครั้งผู้บาดเจ็บไขสันหลังต้องใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น แท่นไม้ ที่ใช้จับยันกับพื้น เมื่อเหยียดข้อศอก ก็ทำให้ก้นลอยพ้นพื้น และตัวยกขึ้น

      - ในกรณีที่ไม่มีอุปกรณ์ช่วย แต่กล้ามเนื้อข้อมือแข็งแรง สามารถยันตัวขึ้นโดยตั้งข้อมือและฝ่ามือให้ตรง ลงน้ำหนักที่ด้านหลังนิ้วมืออยู่ในท่าเหยียด การทำเช่นนี้ทำให้ช่วงแขนยาวขึ้นและช่วยทำให้ก้นลอยเวลายกเคลื่อนย้ายตัว

      อนึ่ง กล้ามเนื้อแขน ลำตัว และขา อ่อนแรง ต้องอาศัยผู้อื่นช่วยยกและย้ายตัว


                                                ทำอย่างไร จะสวมเสื้อผ้าเองได้ ?                                                         

ถ้าการทรงตัวในท่านั่งไม่ดี แต่แขนและมือมีแรง

      - ให้ผู้บาดเจ็บไขสันหลังสวมใส่เสื้อผ้าในท่านั่งพิงบนรถเข็น หรือบนเตียง
      - ฝึกสวมเสื้อผ่าหน้า เสื้อยืดสวมหัวคอกว้าง กางเกงตัวโตๆ ที่ขอบเป็นยางยืด

ถ้ามือไม่มีแรงหยิบจับ

      - อาศัยอุปกรณ์ช่วยในการติดกระดุม
      - เปลี่ยนกระดุมเป็นซืปและมีห่วงเชือกคล้องติดกับซิปเพื่อให้รูดซิปปิด-เปิดง่าย โดยเอานิ้วมือคล้องกับห่วง


                                          ถ้ามือไม่มีแรง จะกินข้าวเองได้อย่างไร ?                                                  

      การกินดื่มเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต ผู้บาดเจ็บไขสันหลังส่วนใหญ่อยากกินเอง ไม่ต้องให้ใครมาป้อน อุปกรณ์ที่ทำให้ช้อนถูกยึดติดกับฝ่ามือร่วมกับการดัดด้ามช้อน ทำให้ตักอาหารใส่ปากได้สะดวกขึ้น การเสริมด้ามช้อนให้ใหญ่ขึ้น ก็ทำให้จับช้อนได้ดีขึ้น ส่วนการดื่มนั้นควรใช้ถ้วยที่มีหู



                                                ทำอย่างไร จึงจะอาบน้ำได้เอง ?                                                                     
      ก่อนอื่นผู้บาดเจ็บไขสันหลังต้องรู้ว่า รถเข็นทั่วไปเป็นสนิมได้ ควรย้ายตัวเองจากรถเข็นไปยังเก้าอี้ หรือม้าพลาสติกที่ตั้งอยู่ในห้องน้ำ อาศัยห่วงที่ติดอยู่เหนือโถส้วม แล้วใช้แขนเกี่ยวที่ห่วงเพื่อยกตัวออกจากรถเข็นแล้วย้ายตัวไปที่โถส้วม

      ถ้าทรงตัวได้ดี แนะนำผู้บาดเจ็บไขสันหลังนั่งอาบน้ำบนโถส้วม(แบบซักโครก) ติดตั้งฝักบัวไว้ใกล้ๆ โถส้วม ควรใช้ก๊อกชนิดก้านโยกเพื่อสะดวกในการเปิด-ปิดวาล์วน้ำได้เอง

      ในกรณีที่มือไม่มีแรงกำ เอาสบู่ใส่ถุงผ้าตาข่ายที่มีสายยาว เพื่อใช้คล้องไว้กับคอเวลาถูสบู่ กันสบู่ลื่นหล่น เมื่อเสร็จก็เอาถุงสบู่ดังกล่าวออกไปคล้องไว้กับก๊อกน้ำ

      ส่วนการชำระล้างหลังถ่ายนั้นก็เช่นเดียวกัน ต้องรู้จักใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ใช้สายชำระหรือสายฝักบัวฉีดน้ำล้างก้น ปัจจุบันมีการติดตั้งหัวฉีดน้ำที่โถส้วม แค่กดปุ่มน้ำก็ถูกพ่นออกมาชำระล้างก้น

ไม่ต้องท้อใจ ถ้าฝึกแล้ว ยังทำเองไม่ได้
การพยายามทำเองทุกอย่าง บางครั้งก็เป็นไปไม่ได้
คงต้องยอมรับว่า...กิจกรรมบางอย่างต้องพึ่งผู้อื่น
ขอเพียงให้มีสิทธิตัดสินใจเองว่า จะทำอะไร เมื่อไร อย่างไร ก็พอ