29/12/54

การขับถ่ายปัสสาวะ

       

          คนเรามีไตอยู่ 2 ข้างของกระดูกสันหลังระดับอกต่อเอว ไตทำหน้าที่กลั่นกรองเอาของเสียออกจากเลือด ได้เป็นน้ำปัสสาวะที่มีสีเหลืองใส ไหลผ่านหลอดไตเข้าสู่ กระเพาะปัสสาวะ

          กระเพาะปัสสาวะ มีหน้าที่เก็บปัสสาวะ โดยมี หูรูด กั้นไม่ให้ปัสาสาวะไหลเล็ดออกมา เมื่อมีปัสสาวะประมาณ 300-500 มิลลิลิตร เราจะรู้สึกปวดอยากถ่ายปัสสาวะ ถ้าไม่พร้อม หูรูดยังหดรัดกันไม่ให้ปัสสาวะเล็ดราดออกมา ต่อเมื่อพร้อมที่จะถ่าย หูรูดจึงคลายตัวพร้อมๆ กับที่กระเพาะปัสสาวะหดบีบตัว ปัสสาวะจึงถูกขับออกมา

          ในภาวะปกติ เราขับปัสสาวะออกหมดภายในเวลา 30 วินาที แต่ถ้ากลั้นปัสสาวะไว้นาน กระเพาะปัสสาวะจะคราก แรงหดบีบตัวน้อยลง อาจขับปัสสาวะออกไม่หมด แต่ปัสสาวะมักเหลือค้างไม่เกิน 50 มิลลิลิตร




           เหตุใดจึงควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะไม่ได้?

          การทำงานของ กระเพาะปัสสาวะ และ หูรูด ถูกควบคุมด้วยจิตใจ สมอง และ ไขสันหลัง เริ่มจากกระเพาะปัสสาวะขยายตัวเพื่อรองรับและเก็บปัสสาวะ เมื่อมีปัสสาวะมากและพร้อมที่จะขับออก สมองจึงสั่งการผ่านทางไขสันหลังมาที่เซลล์ไขสันหลังส่วนปลายสุด ทำให้หูรูดคลายตัว และกระเพาะปัสสาวะหดตัว ปัสสาวะจึงถูกขับออกมา

          คนปกติสามารถกลั้นไม่ให้ปัสสาวะเล็ด และขับปัสสาวะออกได้ทุกครั้งเมื่อต้องการ ถ้าไขสันหลังได้รับบาดเจ็บจะทำให้กระเพาะปัสสาวะและ หูรูด ทำงานผิดปกติ ในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่รู้สึกปวดปัสสาวะ ถ่ายปัสสาวะไม่ออก แต่...ต่อมา ปัสสาวะมักเล็ดราด ไหลซึมออกมาโดยไม่รู้ตัวหรือรู้ตัวว่าจะถ่่ายแต่กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ บางคนถ่ายปัสสาวะไม่ออกเลย ต้องสวนหรือคาสายสวนปัสสาวะ หรือ กดเบ่ง หลายคนโชคดีสามารถควบคุมและขับปัสสาวะได้ปกติเหมือนเดิม

   
          ลักษณะการทำงานที่ผิดปกติ ของ กระเพาะปัสสาวะและหูรูด

          การควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะที่ผิดปกติเกิดจากการทำงานของกระเพาะปัสสาวะและหูรูดที่ไม่สมดุลกัน ความผิดปกติแบ่งได้เป็น 4 ลักษณะ ดังนี้

          ภาพประกอบ : วงกลมใหญ่   หมายถึง กระเพาะปัสสาวะ
                                    วงกลมเล็ก    หมายถึง หูรูด
                                    เส้นหนาทึบ  หมายถึง การบีบรัดหดตัว
                                    เส้นบาง        หมายถึง การคลายตัว


     ลักษณะที่ 1 กระเพาะปัสสาวะและหูรูด หดตัว มากผิดปกติ




อาการ
: ถ่ายปัสสาวะไม่ออก หรือ อาจไหลเล็ดออกได้ทีละน้อย
และมีปัสสาวะเหลือค้างในหกระเพาะปัสสาวะมาก เนื่องจาก...
กระเพาะปัสสาวะและหูรูดหดเกร็งตัวโดยอัตโนมัติพร้อมๆ กัน





ทางเลือก
: มีหลายวิธี ได้แก่

- กินยาคลายการหดตัวของกระเพาะปัสสาวะ เพื่อไม่ให้ปัสสาวะไหลเล็ดราด อีกทั้งลดแรงดันในกระเพาะปัสสาวะ เพื่อป้องกันอันตรายต่อไต ร่วมกับ สวนปัสสาวะออกเป็นเวลา ( CIC ) วันละ 4-6 ครั้ง

- ถ้าไม่สามารถสวนปัสสาวะออกเป็นเวลา  ( CIC ) ได้ คงต้องพิจารณาทำให้หูรูดคลายตัว เพื่อให้ปัสสาวะออกง่ายและเหลือค้างน้อยที่สุด โดยที่กระเพาะปัสสาวะไม่หดตัวแรง ผู้ป่วยชายอาจเลือกการผ่าตัดกรีดขยายหูรูดให้คลายออก และสวมถุงยางต่อลงถุงเก็บปัสสาวะ ส่วนผู้ป่วยหญิงอาจใช้วิธีฉีดยาเข้าที่เส้นประสาทที่ควบคุมหูรูดหรือกล้ามเนื้อ ทำให้หูรูดคลายตัว ปัสสาวะไหลซึมออกได้สะดวกและใช้แผ่นรองซับปัสสาวะ

- บางคนเลือก คาสาย สวนปัสสาวะและต่อลงถุงเก็บปัสสาวะเพราะไม่มีทางเลือกอื่น

          อนึ่ง ปัสสาวะที่เหลือค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุทำให้ปัสสาวะติดเชื้อและกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นเช่นนี้นานเป็นแรมปี ปัสสาวะมักไหลย้อนกลับขึ้นไต ทำให้ ไตอักเสบ และ ไตวาย ในที่สุด



     ลักษณะที่ 2 กระเพาะปัสสาวะ หดตัว และ หูรูด คลายตัว




อาการ
: ปัสสาวะ ไหลเล็ดราดออกเกือบตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่อริยาบทไหน






ทางเลือก : ผู้ชายมักเลือกสวมถุงยางต่อกับถุงเก็บปัสสาวะเพื่อไม่ให้ปัสสาวะราดเลอะ อาจใช้ถุงพลาสติคบางพันห่ออวัยวะเพศหรือใช้กระบอกตวงเพื่อรองรับปัสสาวะที่ไหลซึมออกมา
                   ผู้หญิงมักเลือกคาสายสวนปัสสาวะหรือใช้แผ่นรองซับปัสสาวะ ถ้าเลือกการคาสายสวนปัสสาวะ ควรกินยาคลายกระเพาะปัสสาวะด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้กระเพาะปัสสาวะหดเล็กลง



     ลักษณะที่ 3 กระเพาะปัสสาวะคลายตัว แต่ หูรูด หดตัว



อาอาร : ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ถ่ายปัสสาวะไม่ออกเลย ไม่เล็ดราด






             
ทางเลือก : วิธีที่เหมาะสมที่สุด คือ การสวนปัสสาวะออกเป็นเวลา  ( CIC ) วันละ 4-6 ครั้ง โดยสวนไม่ให้ปัสสาวะเหลือค้างในกระเพาะปัสสาวะ

     อนึ่ง จำนวนครั้งที่สวนต่อวันขึ้นอยู่กับจำนวนน้ำที่ดื่ม ควรดื่มน้ำวันละ 2 - 2.5 ลิตร ทั้งนี้เพื่อให้มีปัสสาวะออกไม่น้อยกว่า 1.5 ลิตรต่อวัน (แต่ก็ไม่ควรมากกว่า 2 ลิตร) เพื่อป้องกันการติดเชื้อในปัสสาวะ

     ส่วนการเบ่งหรือการกดให้ปัสสาวะออกมักไม่ได้ผล และยังเป็นผลเสีย ทำให้แรงดันในกระเพาะปัสสาวะสูงเกินไป ถ้ากดเบ่งเป็นประจำนานเป็นแรมปี ปัสสาวะอาจไหลย้อนกลับขึ้นไตได้

     ถ้าไม่สะดวกที่จะสวนปัสสาวะเป็นเวลา หลายๆ ครั้งต่อวัน อาจจำเป็นต้องคาสายสวนปัสสาวะ ดื่มน้ำมากๆ และเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะทุก 1-2 สัปดาห์ หรือเมื่อสายสวนปัสสาวะตันก่อนกำหนดเวลาเปลี่ยน


     ลักษณะที่ 4 กระเพาะปัสสาวะ คลายตัว และ หูรูด คลายตัว



อาการ : ปัสสาวะมักเล็ดราดเมื่อมีปัสสาวะมากเกินไป เมื่อ ไอ จาม
เมื่อออกแรงเบ่งกดที่ท้องน้อย หรือเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ






ทางเลือก : วิธีที่เหมาะสมที่สุด คือ การสวนปัสสาวะออกเป็นเวลา  ( CIC ) วันละ 4-6 ครั้ง ควรสวนก่อนที่ปัสสาวะจะไหลท้นออกมาเพื่อไม่ให้ปัสสาวะเล็ดราด

     ส่วนการเบ่งหรือกดให้ปัสสาวะออก อาจทำได้ แต่ถ้าเบ่งกดแรงๆ อาจทำให้ปัสสาวะไหลย้อนกลับขึ้นไตได้ และทำให้ท่อปัสสาวะผู้ชายตรงส่วนที่ผ่านกระบังลมส่วนล่างตีบ ปัสสาวะออกลำบากและเหลือค้างได้

     บางคนเลือกใช้วิธีคาสายสวนปัสสาวะ เพื่อให้ปัสสาวะออกและป้องกันการเล็ดราด แต่บางครั้งปัสสาวะอาจเล็ดราดออกมารอบๆ สายสวนปัสสาวะ ทั้งนี้ เป็นเพราะหูรูดคลายตัวและกระบังลมหย่อน ในกรณีเช่นนี้การกินยาคลายกระเพาะปัสสาวะไม่ช่วยลดการไหลเล็ดราดออกมารอบๆ สายสวนปัสสาวะ ส่วนการผ่าตัดใส่หูรูดเทียมเพื่อกันปัสสาวะเล็ดราดนั้น มีข้อจำกัด คือ หูรูดเทียมมีราคาแพง และการผ่าตัดต้องการความชำนาญของแพทย์



 สายสวนปัสสาวะ มี  2  ประเภท                                       


1. ประเภทที่ใช้สวนเป็นเวลา ( ไม่คาสาย )
สายสวนประเภทนี้ ได้แก่ สายยางแดงที่ใช้ตามโรงพยาบาลทั่วไป
และสายซิลิโคนที่ใช้เวลาอยู่บ้าน ทั้ง 2 ชนิดนี้ใช้ซ้ำได้หลังจากทำความสะอาดและฆ่าเชื้อแล้ว สำหรับสายยางแดงนั้นมักล้างแล้วต้มหรืออบฆ่าเชื้อ ใช้ได้นานเป็นเดือนจนกว่าสายยางจะนิ่ม หรือหมดสภาพ
     ส่วนสายซิลิโคนซึ่งบรรจุอยู่ในหลอดที่มีจุกปิดและพกพาได้ ควรล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อ และเปลี่ยนน้ำยาฆ่าเชื้อ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ อาจนำสายมาต้มนาน 20 นาที เดือนละ 1-2 ครั้ง เราสามารถใช้สายสวนชนิดนี้ซ้ำได้ แต่ควรเปลี่ยนเมื่อสายชำรุดและเปลี่ยนทุก 2 ปี เป็นอย่างน้อย



2.ประเภทที่ใช้สวนแบบคาสายไว้
สายสวนประเภทนี้ ที่นิยมใช้ คือ สายโฟเลย์ ซึ่งปลายข้างหนึ่งมีถุงลมหรือลูกโป่งขนาด 10-15 มิลลิลิตร ผู้ชายควรใช้สายสวนขนาด 12-14 F ส่วนผู้หญิงใช้ขนาด 14-16 F ไม่ควรใช้สายสวนที่มีขนาดสายหรือขนาดถุงลมหรือลูกโป่งใหญ่เกินความจำเป็น ทั้งนี้เพราะสายใหญ่มักรคับท่อปัสสาวะและทำให้ท่อปัสสาวะอักเสบง่าย ส่วนขนาดลูกโป่งที่ใหญ่มักกระตุ้นให้กระเพาะปัสสาวะหดเกร็ง บีบตัวแรง เป็นสาเหตุให้ปัสสาวะไหลออกมารอบๆ สายสวน ถ้ากระเพาะปัสสาวะบีบตัวแรงมาก อาจทำให้สายสวนหลุดออกทั้งๆ ที่ลูกโป่งไม่แตก ทำให้ท่อปัสสาวะได้รับบาดเจ็บ


                                                                                                                                           

                           การสวนปัสสาวะด้วยตนเอง ทำอย่างไร?
                          
     - การสวนด้วยสายซิลิโคน ชนิดพกพา






เตรียมอุปกรณ์ ได้แก่ สายสวนปัสสาวะ น้ำสะอาด สำลี สารหล่อลื่น สบู่และน้ำยาฆ่าเชื้อ
จัดท่านั่งให้สะดวก โดยนั่งกางขาทั้ง 2 ข้างออกจากกันหรือนั่งขัดสมาธิ ในกรณีที่นั่งสวนบนเตียงต้องเตรียมภาชนะรองรับปัสสาวะ แต่ถ้านั่งสวนบนโถส้วมไม่จำเป็นต้องเตรียมภาชนะรองรับ



     1.ทำความสะอาดมือ และรูเปิดท่อปัสสาวะด้วยสบู่ น้ำสะอาด หรือสำลีชุบน้ำยาฆ่าเชื้อ เสร็จแล้วควรล้างมืออีกครั้งก่อนจับสายสวนปัสสาวะ ในกรณีที่เป็นผู้ชาย ควรร่นหนังหุ้มปลายเพื่อเปิดให้เห็นส่วนปลาย แล้วจึงทำความสะอาดบริเวณรูเปิดท่อปัสสาวะ
     2.ใช้มือที่ถนัดดึงสายสวนออกจากหลอด โดยจับที่จุกซึ่งอุดส่วนปลายของสายสวน เมื่อดึงสายสวนออกมาแล้ว แขวนหลอดที่บรรจุสายสวนไว้ที่ๆ ใกล้ตัว
     3.ล้างสายสวนด้วยน้ำสะอาด
     4.ใช้มืออีกข้างหนึ่งเปิดหลอดสารหล่อลื่น แล้วบีบสารหล่อลื่นลงที่ปลายสายสวน ผู้หญิงอาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้สารหล่อลื่น
     5.ผู้ชาย ใช้มือจับอวัยวะเพศให้ตั้งขึ้น ส่วนผู้หญิง ใช้นิ้วชี้กลางเปิดถ่างแคมออก ให้ง่ามนิ้วอยู่ตรงกับหัวเหน่า รูเปิดท่อปัสสาวะมักอยู่ตรงระดับข้อแรกของนิ้วมือ ถ้าไม่เห็นให้อาศัยกระจกเงาที่ตั้งอยู่ระหว่างขา ช่วยสะท้อนให้เห็นรูปิดท่อปัสสาวะ ซึ่งอยู่เหนือต่อช่องคลอด
      6.ค่อยๆ สอดใส่สายสวนปัสสาวะเข้าไปในรูเปิดท่อปัสสาวะที่ละน้อย ไม่สอดใส่สายสวนในขณะที่อวัยวะเพศชายขยายตัว ควรรอให้อวัยวะเพศอ่อนตัวก่อน
     7.ถ้าใส่แล้วติด (มักติดที่หูรูด) อย่าใช้แรงดัน จับอวัยวะเพศชายเอนลง รอสักอึดใจ หายใจเข้าออกลึกๆ 2-3 ครั้ง หูรูดมักคลายตัวออกแล้วจึงค่อยๆ ดันสายสวนเข้าไป
     8.เมื่อปัสสาวะไหลออกมาในสายสวน ปลดจุกที่อุดปลายสายสวนปัสสาวะออก หย่อนส่วนปลายสายสวนลงในภาชนะที่รองรับปัสสาวะ หรือปล่อยให้ปัสสาวะไหลลงโถส้วน
     9.เมื่อปัสสาวะหยุดไหล จึง ค่อยๆ ดึงสายสวนปัสสาวะออกทีละน้อย พร้อมๆ กับใช้มืออีกข้างกดเบาๆ ที่บริเวณเหนือหัวเหน่า เพื่อไม่ให้ปัสสาวะเหลือค้าง เมื่อแน่ใจว่าปัสสาวะออกหมดแล้ว ดึงสายสวนออก
    10.ล้างสายสวนปัสสาวะให้สะอาดก่อนนำกลับไปแช่ในหลอดที่มีน้ำยาฆ่าเชื้อ พร้อมปิดจุก ควรเปลี่ยนน้ำยาฆ่าเชื้อสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

     - การสวนปัสสาวะ แบบ คาสาย ไว้


การคาสายสวนปัสสาวะนั้น ต้องใช้เทคนิค ปราศจากเชื้อ ส่วนวิธีการสวนก็เหมือนกับการสวนปัสสาวะชนิดพกพา แต่...สุดท้าย ให้ใส่น้ำเข้าไปในถุงลมหรือลูกโป่ง เพื่อไม่ให้สายสวนหลุดเลื่อนออกมา เวลาคาไว้นานเป็นวันหรือสัปดาห์






                                                                                                                                                                                  
    ขั้นตอน การใส่สายสวนแบบคาสายไว้ มีดังนี้


1.เตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาด ไซลิงค์ที่บรรจุน้ำสะอาด 10 มิลลิลิตร และสารหล่อลื่น
2.ฉีกถุงสายโฟเลย์ ส่วนบน นำสายถุงเก็บปัสสาวะ ใส่ต่อกันให้เรียบร้อย
3.บีบสารหล่อลื่นใส่ที่ส่วนปลายสายโฟเลย์ แล้วจึงสอดใส่สายสวนเข้าไปในท่อปัสสาวะอย่างช้าๆ
4.เมื่อปัสสาวะเริ่มไหลออกมา ดันสายสวนเข้าไปอีกเล็กน้อยเพื่อให้แน่ใจว่าสายเข้าไปลึกพอ
5.ฉีดน้ำสะอาดที่เตรียมไว้เข้าไปในท่อที่ติดต่อกับถุงลม(ลูกโป่ง)
6.ดึงสายออกจนรู้สึกว่าติด(ลูกโป่ง) แล้วดันสายกลับเข้าไปเล็กน้อยประมาณ 1 Cm
7.ผู้ชายให้ตรงสายสวนไว้ที่ท้องน้อยหรือเหนือขาหนีบ ผู้หญิง ให้ตรึงสายสวนไว้ที่ต้นขา


วิธีป้องกันการติดเชื้อและสายสวนอุดตัน


1.ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 2.5 - 3 ลิตร ให้ปัสสาวะใส ไม่เข้มตลอดวันตลอดคืน
2.เทปัสสาวะออกจากถุงเก็บปัสสาวะโดยเทผ่านทางท่อที่ให้ปัสสาวะไหลออก ไม่ปลดถุงออกจากสายสวนปัสสาวะ ไม่ปล่อยให้ถุงเต็มก่อนแล้วจึงเท
3.เปลี่ยนสายสวนปัสสาวะ(พร้อมถุงเก็บปัสสาวะ) ทุก 1 - 2 สัปดาห์
4.ถ้าปัสสาวะขุ่น หรือ สายสวนอุดตันก่อนกำหนดเวลา (สังเกตุ จากท้องน้อยโป่ง ปัสสาวะออกมาทางสายสวนน้อย บางครั้งปัสสาวะไหลซึมออกมารอบๆ สายสวน) ต้องเปลี่ยนสายทันที ไม่รอช้า
5.ถ้ามีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน บ่งชี้ว่า ไตอักเสบติดเชื้อ ต้องรีบเปลี่ยนสายสวนใหม่ทันที และพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง
6.เปลี่ยนทั้งสายสวนและถุงเก็บปัสสาวะพร้อมกัน
7.ก่อนดึงสายสวนออก ใช้ไซลิงค์ดูดเอาน้ำออกจากลูกโป่งก่อน ถ้าไม่สามารถดูดเอาน้ำในลูกโป่งออก หรือดึงสายสวนไม่ออก ต้องไปพบแพทย์ อาจมีตะกอนแข็งจับทำให้ลูกโป่งไม่ยุบตัว
8.เมื่อเอาสายสวนออกแล้ว ควรทิ้งระยะห่างประมาณ 15-30 นาที ก่อนใส่สายสวนใหม่



     ถ้าปัสสาวะไหลซึมเล็ดราดตลอด ไม่ต้องการคาหรือสวนปัสสาวะ จะทำอย่างไร?


     กรณีเช่นนี้ ต้องแน่ใจว่า การปล่อยให้ปัสสาวะไหลซึมออกมาโดยไม่สวนนั้นปลอดภัย กระเพาะปัสสาวะไม่บีบหรือหดตัวแรงเกินไป ปัสสาวะออกมากและเหลือค้างน้อย
     สำหรับผู้ชาย สวมถุงยางที่อวัยวะเพศ แล้วต่อลงถุงเก็บปัสสาวะ
     สำหรับผู้หญิง ต้องใช้แผ่นรองซับปัสสาวะ ควรเปลี่ยนแผ่นรองซับปัสสาวะวันละ 2-3 ครั้ง ไม่ปล่อยให้ผิวหนังเปียกชื้นแฉะ ควรงดใช้บางเวลาเพื่อให้ผิวหนังแห้ง


     ถุงยางรองรับปัสสาวะมีกี่ประเภท ใช้อย่างไรจึงปลอดภัย ?


          ประเภทถุงยางสำหรับผู้ชาย มี 2 ชนิด ได้แก่

     1.ถุงยางชนิดบางและไม่มีสารหล่อลื่น มีราคาถูกและหาซื้อได้จากโรงพยาบาลทั่วไป ผู้ใช้ต้องตัดส่วนปลายและต่อเข้ากับท่อยางก่อนต่อกับถุงเก็บปัสสาวะ ถุงชนิดนี้ขาดและทะลุง่ายจึงมักใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
    2.ถุงยางที่ปลายเป็นกรวยและมีท่อต่อเข้ากับถุงเก็บปัสสาวะ ล้างแล้วใช้ซ้ำได้

          ส่วนการตรึงถุงยางที่อวัยวะเพศ ต้องใช้เทปกาวหรือพลาสเตอร์พันทับถุงยาง ที่บริเวณโคนอวัยวะเพศชาย บางคนไม่ใช้ถุงยางดังกล่าวเวลาอยู่บ้าน แต่ใช้กระบอกตวงหรือใช้ถุงพลาสติคบางพันห่ออวัยวะเพศเพื่อรองรับปัสสาวะที่ไหลซึมออกมา

          อนึ่ง ต้องรู้จักการพันตรึงถุงยางอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดจากการตรึงถุงยาง ได้แก่
1.รัดแน่นไป ทำให้เป็นแผลและปัสสาวะไม่ออก
2.ตรึงหลวมไป ถุงยางหลุดและปัสสาวะเล็ดราด
3.ปลายถุงบิดเป็นเกลียว ปัสสาวะขังในถุงยางและปัสสาวะท้นออกมา


                    
                                   โรคแทรกซ้อนมีอะไรบ้าง ป้องกันและรักษาอย่างไร?  
                  

     1.การติดเชื้อในปัสสาวะและระบบทางเดินปัสสาวะ

สาเหตุ   1.ปัสสาวะเหลือค้างมาก จึงเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค(แทคทีเรีย)             
             2.วิธีการสวนและอุปกรณ์ไม่สะอาด
             3.ไม่เปลี่ยนสายสวน เมื่อถึงกำหนด หรือเมื่อสายสวนอุดตัน หรือเมื่อปัสสาวะขุ่น เหม็นมีตะกอน

อาการ   1.ปัสสาวะขุ่น เหม็นมาก บางครั้งมีสีเข้มมากหรือมีเลือดปน
             2.มีหนองไหลออกจากท่อปัสสาวะ
             3.ปัสสาวะไหลซึมบ่อยกว่าเดิม หรือตรงกันข้ามคือ เคยออกมากกลับออกทีละน้อย
             4.กล้ามเนื้อขาหรือหน้าท้องเกร็งหรือกระตุกบ่อยกว่าที่เคยเป็น
             5.มีอาการไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน ถ้าไตอักเสบติดเชื้อ

วิธีรักษา   1.ดื่มน้ำมากขึ้น
               2.ให้เปลี่ยนสายสวนปัสสาวะใหม่ทันที
               3.ถ้าสวนปัสสาวะเป็นเวลา น้อยกว่า 4 ครั้ง/วัน ควรเพิ่มให้มากขึ้นและอย่าให้ปัสสาวะเหลือค้าง            
              4.ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน หรือมีอาการไข้ร่วมด้วย ต้องรีบไปพบแพทย์

วิธีป้องกัน    1.รักษาอุปกรณ์ ให้สะอาด ปราศจากเชื้อ
                   2.รักษาความสะอาดส่วนตัว และเสื้อผ้าที่สวมใส่
                   3.สวนปัสสาวะด้วยเทคนิคที่สะอาดและปราศจากเชื้อ
                   4.เปลี่ยนสายสวนตามเวลาที่กำหนด หรือก่อนกำหนดถ้าสายอุดตันหรือปัสสาวะขุ่น
                   5.ดื่มน้ำให้เพียงพอ ให้ปัสสาวะใสตลอดเวลา

*** ถ้าสวนปัสสาวะเป็นเวลา 4-6 ครั้ง/วัน ต้องดื่มน้ำ 2-2.5 ลิตร/วัน เพื่อให้มีปัสสาวะออกมาวันละประมาณ 1.5 ลิตร จำนวนปัสสาวะต่อการสวนหนึ่งครั้งไม่ควรเกิน 0.5 ลิตร

*** ถ้าคาสายสวนไว้ ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 2.5-3 ลิตร/วัน เพื่อให้ปัสสาวะออกมาไม่น้อยกว่า 2 ลิตร/วัน และปัสสาวะใสเท่าๆ กันตลอดวันตลอดคืน
         


     2.การเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะและไต


สาเหตุุ  1.คาสายสวนปัสสาวะทิ้งไว้นาน
            2.ดื่มน้ำน้อย
            3.ปัสสาวะติดเขื้อบ่อย
            4.ปัสสาวะเป็นด่าง
         
อาการ  1.ปัสสาวะมีตะกอนขุ่น มีเลือดปน มีตะกอนจับที่สายสวน

ป้องกัน  1.ดื่มน้ำมากขึ้น
              2.ดื่มน้ำผลไม้รสเปรี้ยว ยาที่ทำให้ปัสสาวะเป็นกรด เช่น วิตามินซี ขนาด 2-3 กรัม/วัน อาจลด                 การติดเชื้อและการตกตะกอนได้ ควรหลีกเลี่ยงยาที่ทำให้ปัสสาวะเป็นด่าง
             3.เปลี่ยนสายสวนตามกำหนด หรือ เมื่อปัสสาวะขุ่นหรือสสายสวนอุดตันก่อนกำหนด
             4.ขยับเขยื้อน เคลื่อนย้ายร่างกายบ่อยๆ


วิธีรักษา ให้รีบไปพบแพทย์




     3.ท่อปัสสาวะอักเสบ และท่อปัสสาวะบาดเจ็บ


สาเหตุ   1.สายสวนปัสสาวะขนาดใหญ่เกินไป
            2.เทคนิควิธีสวนไม่ดี เช่น ดันสายสวนในขณะที่หูรูดไม่คลายตัว
            3.ตรึงสายสวนไม่ถูกที่
            4.ดึงสายสวนชนิดคาสายไว้ออก โดยลืมดูดน้ำออกจากลูกโป่งก่อน

อาการ 1.หนองหรือเลือด ไหลออกจากท่อปัสสาวะ


ป้องกัน    1.เอาสายสวนปัสสาวะออก เมื่อหมดความจำเป็น
              2.ใช้สารหล่อลื่นเวลาสวน และใช้เทคนิคที่ถูกต้อง
              3.ไม่พยายามใส่สายสวนในขณะที่อวัยวะเพศขยายหรือแข็งตัว

วิธีรักษา ให้รีบไปพบแพทย์



                   ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจระบบทางเดินปัสสาวะ บ่อยเพียงไร?


     ผู้ป่วยที่กระเพาะปัสสาวะและหูรูดทำงานผิดปกติหรือบกพร่อง เนื่องจากไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ

*ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง
**ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด เพื่อดูการทำงานของไต และฉายภาพรังสี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
***ตรวจการทำงานของกระเพาะปัสสาวะและหูรูดปีละครั้ง หรือปีละ2ครั้ง แล้วแต่แพทย์เห็นสมควร





ปัสสาะวะ ไม่ออก เล็ดราด มีวิธิแก้ไข

ปรึกษาแพทย์เป็นประจำ ป้องกันภาวะแทรกซ้อน

ระวัง !

ไตอักเสบ  ไตวาย  อันตรายถึงชีวิต






*ความเห็นส่วนตัวจากผู้เขียน

     ผู้เขียนได้พบปะผู้บาดเจ็บไขสันหลังมาหลายสิบคน ไม่มีสักคนที่เคยได้รับความรู้ เรื่องระบบปัสสาวะ อันดับแรกจะต้องวิเคราะห์ การทำงานของร่างกายตัวเองให้ได้ก่อน ว่า การบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะของตนเองเป็นแบบไหน? และ หูรูดกระเพาะปัสสาวะของตนเองทำงานอยางไร? ถึงจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องปัสสาวะของตนเองได้อย่างถูกต้อง ผู้เขียนไปเห็นมาด้วยตนเอง เกี่ยวกับการตัดสินใจของบุคคลากรในสถานฟื้นฟูแห่งหนึ่ง วินิจฉัยเรื่องดังกล่าวได้อย่างยอดแย่ เช่น ผู้บาดเจ็บไขสันหลัง กระเพาะปัสสาวะ หดตัว และ หูรูด คลายตัว ควรจะแนะนำให้ใส่คอนดอม ทั้งๆ ที่ผู้ป่วยก็พยายามชี้แจงว่า อยู่บ้านดูแลตัวเองมาหลายปี โดยการสวมใส่คอนดอม เจ้าหน้าที่หามีความรู้ไม่? สั่งให้หัดสวนปัสสาวะออกเป็นเวลา ( cic )  เห้อ!

     ประการต่อมา เกี่ยวกับ การสวนปัสสาวะ   การสวนปัสสาวะแบบคาสาย กรณี ผู้ป่วยพาราฯ หรือ ควอดิฯ ที่มือสามารถทำงานได้ สามารถใส่สายสวนปัสสาวะแบบคาสายได้ด้วยตัวเองที่บ้าน สถานฟื้นฟูแห่งหนึ่ง ไม่ยอมสอนให้ผู้ป่วยทำเอง แถมยังห้ามอย่างเด็ดขาดอีกว่า ห้ามทำเอง ต้องให้เดินทางมาเปลี่ยนที่สถานพยาบาล ผมอยากจะตะโกนดังๆ ว่า ทำไม? จะใส่สายสวนปัสสาวะแบบคาสายเองไม่ได้ ถ้ามือทำงานได้เป็นปกติ ผมเองพิการมา 10 ปี ใส่เกินกว่า 100 ครั้ง และไม่เคยมีปัญหาใดๆ และท่านทราบหรือไม่ว่า? ทุก 15 วัน หรือ 1 เดือน จะต้องเดินทางไปเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะ ความไม่สะดวกในการเดินทาง ค่าใช้จ่าย กำ! ในต่างจังหวัด บางท้องที่ เจ้าหน้าที่อนามัยหรือโรงพยาบาลจะไปให้บริการถึงบ้าน ยอดเยี่ยมครับ

     ข่าวน่าเศร้า ที่ผ่านมาเมื่อไม่นานนี้ ผู้บาดเจ็บไขสันหลังไปเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะแบบคาสาย ณ สถานพยาบาลแห่งหนึ่ง ถึงกับเสียชีวิต เนื่องจาก ลูกโป่งยังไม่ได้เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำเข้าไป ทำให้ท่อปัสสาวะแตก และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ผู้ป่วยถึงแก่กรรมในเวลาต่อมา เศร้า!

     หัวใจ ในการดูแลผู้บาดเจ็บไขสันหลัง ในเรื่อง การสวนปัสสาวะ คือ ค ว า ม ส ะ อ า ด ท่านจะต้อง ระวีังไม่ให้เกิด การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ และ ไม่ให้ปัสสาวะท้นไปที่ไต  ขอยืนยันว่า การดูแลตัวเองดังกล่าว ไม่ยาก เน้นเรื่อง ความสะอาด ผู้เขียนดูแลตัวเองมากว่า 10 ปี สวนปัสสาวะออกเป็นเวลา ( cic ) ไม่เคยติดเชื่อในกระเพาะปัสสาวะ แม้แต่ครั้งเดียว 

    ***หมายเหตุ ผู้เขียนจะใส่สวนปัสสาวะแบบคาสาย กรณี ที่จำเป็นต้องเดินทางไกล และ อีกกรณีหนึ่งคือ ถ้าอยากร่ำสุราแบบผสมโซดาซาบซ่าชุ่มหัวใจ กับสหายรู้ใจ ครับ 




การขับถ่ายอุจจาระ



       หลังจากไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ ทำไมจึงมีอาการท้องอืดและท้องผูก ?           

     ในระยะแรก กระเพาะอาหารและลำไส้บีบตัวและเคลื่อนไหวลดน้อยลง จึงมีอาการท้องอืดและไม่ถ่ายอุจจาระ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้น้ำและสารอาหารทางหลอดเลือดแทนการกิน จนกว่ากระเพาะอาหารและลำไส้จะกลับมาทำงานปกติอีกครั้ง บางคนมีกรดในกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้นเพราะตกอยู่ในภาวะเครียด มีอาการปวดท้องหรือมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร

     หลังจาก 1 สัปดาห์ผ่านไป กระเพาะอาหารและลำไส้มักทำงานเป็นปกติ เริ่มผายลม แต่อุจจาระอาจไม่ถูกขับออกมา ส่วนใหญ่ต้องสวนหรือช่วยกระตุ้นให้อุจจาระออก ถ้าหูรูดรูทวารคลายตัวและลำไส้ทำงานน้อย มักต้องเบ่งหรือล้วงช่วย บางครั้งอุจจาระออกมาโดยไม่รู้ตัว เช่น เวลาแบ่งปัสสาวะ อุจจาระก็ออกมาด้วย หลังจากการฝึกขับถ่ายอุจจาระแล้ว ส่วนใหญ่มักถ่ายอุจจาระออกได้เอง



                                 ฝึกขับถ่ายอุจจาระ ทำอย่างไร?                                               


      เป้าหมายของการฝึก ได้แก่ ถ่ายอุจจาระออกเป็นเวลา ท้องไม่ผูก และอุจจาระไม่ราดเล็ดออกมาในเวลาที่ไม่สมควร การฝึกจะประสบความสำเร็จได้ขึ้นกับปัจจัยต่อไปนี้
   
     * อาหาร  กินอาหารที่มีกากมีใยมาก เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ เป็นต้น ดื่มน้ำให้เพียงพอ ทั้งนี้ เพื่อให้อุจจาระจับเป็นก้อน แต่ไม่แข็ง และถูกขับออกง่าย

       ข้อควรระวัง  ถ้าดื่มน้ำน้อยและกากอาหารถูกทิ้งอยู่ในลำไส้ใหญ่นาน อุจจาระจะแข็งตัวและท้องผูก ควรหลีกเลี่ยงถั่ว ผลไม้ที่มีกลิ่นแรงเพราะทำให้ผายลมมีกลิ่นเหม็น

    * เวลา  อิงเวลาเดิม(ก่อนการป่วย) ที่เคยถ่ายอุจจาระ ฝึกขับถ่ายเป็นเวลาช่วยทำให้ลำไส้ใหญ่กลับมาทำงานโดยอัตโนมัติได้  ควรถ่ายอย่างน้อย วันเว้นวัน หรือ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ให้เวลาที่พอเพียง ไม่รีบ บางคนอาศัยการบีบตัวของลำไส้ใหญ่หลังจากกินอาหาร หรือดื่มน้ำอุ่นๆ กระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวและถ่ายอุจจาระ ควรหัดภายใน 30 นาทีหลังกินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอาหารมื้อเช้า หรือมื้อเย็น แล้วแต่สะดวก

   * ตัวกระตุ้น  ในระยะแรก มักต้องอาศัยตัวกระตุ้น เช่น
- ยาสวนยูนิสั้น ขนาด 20 มิลลิลิตร 1-2 ลูก หรือน้ำสบู่อุ่นๆ 20-50 มิลลิลิตร
- ใช้นิ้วถ่างรูทวารหนัก เพื่อกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่บีบตัว
- เบ่งเมื่อมีอุจจาระใกล้รูทวาร
- การล้วงออกจะง่าย ถ้าอุจจาระแข็งและจับตัวเป็นก้อนเล็กๆ
     หมายเหตุ   ถ้าต้องสวนปัสสาวะเป็นเวลา ( cic ) ควรสวนปัสสาวะก่อนการเบ่งถ่ายอุจจาระ เพื่อไม่ให้แรงเบ่งมีผลเสียต่อกระเพาะปัสสาวะ
- ยาหรือสารอาหารบางอย่างมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ เช่น
        + ยาระบายซิโนคอต 2-4 เม็ด หรือยาดัลโคแลค 1 เม็ด
        + ยาเหน็บ ดัลโคแลค หรือ แท่งกรีเซอรีน
        + ยาช่วยให้อุจจาระไม่แข็ง เช่น ยาน้ำขาว อี เอล พี
        + มะละกอสุก ต้มจืดใบตำลึง ช่วยกระตุ้นลำไส้

     ข้อสังเกตุ  1. ยาระบาย อาจทำให้ถ่ายหลายครั้งติดต่อกัน ดังนั้น แต่ละคนต้องลองดูว่า ประมาณแค่ไหนจึงจะเหมาะสมกับตน
                       2. ต้องลองว่า วิธีไหนได้ผลกับตนเอง อาจใช้หลายวิธีเพื่อทำให้ได้ผลเร็วขึ้น เช่น กินยาร่วมกับการล้วงหรือสวน
                      3. ถ้ากล้ามเนื้อหูรูดเป็นอัมพาต ไม่หดรัด ยาสวนมักไหลออกมาและสวนไม่ได้ผล ในกรณีเช่นนี้ การล้วงน่าจะได้ผลดีกว่า
                     4. การกดนวดที่บริเวณท้องน้อยด้านซ้ายล่าง
                     5. หลังการฝึกได้ระยะหนึ่งแล้ว หลายคนสามารถถ่ายอุจจาระได้เอง โดยไม่ต้องใช้ตัวช่วย
                     6. ความเครียดส่งผลให้การเคลื่อนไหวและบีบตัวของลำไส้ลดลง ทำให้ท้องผูก ถ่ายไม่ออก ในทางตรงกันข้าม ใจที่เป็นสุขและสงบทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวบีบตัวได้ดี และขับถ่ายอุจจาระออกง่ายขึ้น





                 ข้อพึงระวังเกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระ มีอะไรบ้าง?                                     

1. ท้องผูก (อุจจาระแข็ง,ถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์)


2. ริดสีดวงทวาร


3. รูทรารฉีก เป็นแผล

4. ท้องเสีย




***ความเห็นส่วนตัวจากผู้เขียน

    ระบบขับถ่ายอุจจาระ ก่อนที่จะออกจากโรงพยาบาล ผู้เขียนได้รับการฟื้นฟูฯและคำแนะนำในการดูแลตัวเองเกี่ยวกับขับถ่ายอุจจาระ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกย้ายตัวนั่งบนชักโครก การฝึกกระตุ้นกากอาหารในลำไส้ใหญ่ ทั้งนี้ ทั้งนั้น ที่สำคัญ คือ การปรับสภาพของห้องน้ำให้รองรับวีวแชร์ ตอนนั้นผู้เขียนคิดผิดที่ไม่ยอมปรับสภาพห้องน้ำ ให้รองรับรถเข็น ได้แต่ขยายประตูห้องน้ำ และเลือกวิธีที่ง่ายที่สุดคือ ซื้อรถเข็นอาบน้ำแบบนั่งถ่ายบนรถได้ เนื่องจากบ้านพักเป็นของหน่วยงาน ที่อนุญาติให้ผู้เขียนเข้าอยู่ได้ในกรณีพิเศษ และมีเวลาเตรียมตัวไม่มากนัก ญาติพี่น้องไม่ต้องการให้กลับไปทำงานอีก ผู้เขียนเลยติดกับการนั่งรถเข็นแบบอาบน้ำได้ ไม่ได้ฝึกย้ายตัวนั่งบนชักโครก เพราะคิดได้ตอนอยู่คนเดียวแล้ว ถ้าพลาดตกชักโครกจะหาผู้ช่วยอุ้มขึ้นลำบาก ปัจจุบันก็ยังคงใช้รถเข็นอาบน้ำเพราะมันปลอดภัยที่สุด

 การย่อยอาหาร การเดินทางของอาหารจากปากกว่าจะถึงปลายสุดของลำไส้ใหญ่ ทุกคนย่อมแตกต่างกัน สำหรับผู้เขียนการขับถ่ายอุจจาระเป็นอุปสรรค กับการดำเนินชีวิตของผู้เขียนมากถึงมากที่สุด ผู้เขียนใช้ชีวิตดูแลตัวเองตามลำพังอย่างเดียวดายมาตลอด 10 ปีเต็มๆ ผู้เขียนเป็นนักดื่มตัวยง ฉายาผู้เขียนในอดีต คือ ปีศาจสุรา การดื่มสุรามีผลต่อระบบขับถ่ายเป็นอย่างมาก สำหรับผู้เขียน ถ้าอยู่บ้านไม่ได้ออกไปไหน การขับถ่ายอุจจาระเป็นเรื่องจิ๊บจิ๊บ ตอนเป็นใหม่ๆ จะใช้การเหน็บยากระตุ้นแบบวันเว้นวัน ตอนนั้นมีผู้ช่วยดูแล ต่อมาเปลี่ยนเป็นยาสวนแบบน้ำ สวนออกทุกวันตอนอาบน้ำเช้า จากการได้แลกเปลี่ยนกับรุ่นพี่ๆ ที่บาดเจ็บไขสันหลังมากอ่นเรา ได้ถ่ายทอดวิชากระตุ้นด้วยการ "ล้วง" ล่วงออกทุกวันตอนอาบน้ำเช้า แต่ถ้าต้องเดินทางไกล ขอแยกเป็น 2 กรณี

   กรณีไม่ค้างคืน ไปเช้า-เย็นกลับ ปกติผู้เขียนใส่ผ้าอ้อมตลอด24ช.ม. จวบจนปัจจุบัน สำหรับผู้เขียนบ่อยครั้งที่อุจจาระพรวดออกมาขณะเดินทางไกล เนื่องจากขณะนั่งอยู่บนรถมันไม่ได้นิ่มนวลอย่างที่คิด มันมีการสั่นสะเทือนในร่างกาย เปรียบเสมือนมีการไปกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ให้กากอาหารเดินทางเร็วกว่าปกติ ดังนั้นผู้เขียนจะต้องมีแผนล่วงหน้า สำหรับการเดินทางไกล จะควบคุมการทานอาหารอย่างน้อย 3-4 วัน โดยเฉพาะสุรา ต้องงดดื่มก่อนการเดินทาง 3-4 วัน ประสบการณ์ของแต่ละบุคคลคงแตกต่างกัน แตน่าจะเรียนรู้ด้วยตัวเองได้แบบไม่ยากเย็นนัก 

   กรณีไปค้างคืน ให้ตายเหอะ! 10 ปี ที่ผ่านมาสำหรับผม ไปค้างคืนที่อื่น นับครั้งได้อ่ะคับ เพราะผมมันต้องดื่มถ้าจะไปเที่ยวที่ไหนก็ตาม แต่สำหรับหลายๆ ท่าน พวกพาราฯด้วยกัน เค้าเที่ยวกันกระจาย เพราะเค้าควบคุมดูแลตัวเองได้ดี ไปเที่ยวกันรอบโลก เหอ เหอ  

   ดังนั้น  หัวใจของระบบขับถ่ายอุจจาระ ในการดูแลตัวเอง ก็คือ ไม่ให้มันเร็ดราดออกมาไม่เป็นเวลา ปัญหาเรื่องท้องอืด ท้องเฟื้อ หรือยากระตุ้นอะไรต่างๆ คงต้องปรึกษาแพทย์หรือผู้บาดเจ็บรุ่นพี่ๆ เพราะแต่ละท่านดูแลตัวเองแตกต่างกันไปครับ.