28/12/54

สมรรถภาพทางเพศ

 
       อวัยวะเพศและระบบสืบพันธุ์ ถูกควบคุมด้วยระบบประสาท ฮอร์โมนและหลอดเลือด ดังนั้น เมื่อไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ ระบบสืบพันธุ์จึงทำงานบกพร่อง ผู้ชายมีการแข็งตัวของอวัยวะเพศหรือการหลั่งน้ำอสุจิน้อยลง ส่วนผู้หญิงนั้น ในระยะแรกๆ ความเครียดทำให้ระดูหรือประจำเดือนขาดหาย ไข่ไม่ตก ไประยะหนึ่ง ( 3 - 6 เดือน ) แล้วจึงกลับมาเป็นปกติ และในขณะร่วมเพศการขยายตัวของอวัยวะเพศและน้ำหล่อลื่นในช่องคลอดมักลดน้อยลง

      ดังนั้น ผู้ชายที่เป็นอัมพาต ก็ยังอาจทำให้ผู้หญิงท้องหรือมีลูกได้ ส่วนผู้หญิงที่เป็นอัมพาตเมื่อมีการร่วมเพศ ยังคงตั้งท้องและมีลูกได้เช่นกัน แต่อาจคลอดยาก ต้องช่วยคลอดหรือผ่าตัดคลอดบุตร


      ระบบสืบพันธุ์เพศชาย ประกอบด้วย

 

      - ลูกอัณฑะ ที่อยู่ในถุงอัณฑะ
      - ท่อนำน้ำอสุจิ และถุงเก็บน้ำอสุจิ
      - ต่อมลูกหมาก
      - องคชาติหรืออวัยวะเพศ ที่มีท่อปัสสาวะซึ่งเป็นทางนำ  น้ำอสุจิ






     ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ประกอบด้วย
 






      - มดลูก
      - ปีกมดลูก
      - รังไข่
      - ช่องคลอด ที่อยู่ระหว่าง รูเปิดท่อปัสสาวะ และทวรหนัก





                               การแข็งตัวของอวัยวะเพศชายและการหลั่งน้ำอสุจิ                                            

      การแข็งตัวของอวัวยะเพศชาย เป็นการตอบสนองต่อสิ่งเร้า 2 ประเภท คือ

      1. สิ่งเร้าที่กระตุ้นโดยตรงที่อวัยวะเพศ เช่น การสัมผัส การตอบสนองนี้ถูกควบคุมด้วยส่วนปลายสุดของไขสันหลังและรากประสาท

      2. สิ่งเร้าอื่น เช่น การจินตนการทางความนึกคิด การมองเห็น เป็นต้น การตอบสนองนี้ถูกควบคุมโดยสมองผ่านทางไขสันหลังส่วนอกต่อเอว

      ดังนั้น ถ้าพยาธิสภาพอยู่เหนือไขสันหลังส่วนปลายสุด การขยายและแข็งตัวของอวัยวะเพศ ก็ยังคงเกิดขึ้นได้ แต่มักพบว่า การหลั่งน้ำอสุจิบกพร่อง จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ร้อยละ 70 - 80 ของผู้ชายที่ไขสันหลังบาดเจ็บ ยังคงมีการขยายและแข็งตัวของอวัยวะเพศได้ แต่อวัยวะเพศมักแข็งตัวไม่นานพอหรือแข็งตัวไม่สมบูรณ์พอเพียงต่อการร่วมเพศ กึ่งหนึ่งร่วมเพศได้สำเร็จ แต่มีเพียง ร้อยละ 10 - 30 ที่หลั่งน้ำอสุจิได้ จึงทำให้มีบุตรยาก





                                 อุปสรรคต่อการร่วมเพศ หรือ การมีเพศสัมพันธ์                                                      

      - การขยายหรือแข็งตัวของอวัยวะเพศชายบกพร่อง
      - ขาดความเชื่อมั่นตัวเอง เมื่อร่างกายหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
      - คิดว่าคนอื่นรังเกียจตัวเอง เมื่อสภาพร่างกายบกพร่อง
      - ไม่มีความต้องการ หรือ หมดความสนใจทางเพศแล้ว
      - มีการเกร็งกระตุกของขาและลำตัว ทำให้ขัดขวางการร่วมเพศ
      - ควบคุมการขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ไม่ได้ ปัสสาวะอาจเร็ดราดในขณะมีเพศสัมพันธ์






                 ทำอย่างไร? ให้อวัยวะเพศชายแข็งตัวได้เพียงพอสำหรับการร่วมเพศ                      

      - การรับประทานยาบางชนิด ช่วยให้อวัยวะเพศขยายตัวและแข็งตัว ถ้าไขสันหลังส่วนปลายสุดได้รับบาดเจ็บ อาจใช้วิธิการนี้ไม่ได้ผล และไม่ควรใช้ในกรณีที่มีโรคหัวใจ หรือผู้ที่ได้ยาในกลุ่มไนเตรท
      - การกระตุ้นให้อวัยวะเพศขยายตัว และใช้แถบยางรัดที่โคนอวัยวะเพศ เพื่อให้การแข็งตัวอยู่นานเพียงพอต่อการร่วมเพศ สิ่งที่พึงระวัง ถ้ารัดทิ้งไว้นานเกิน 30 นาที อาจทำให้เกิดแผลที่ผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศ
      - ใช้อุปกรณ์สูญญากาศช่วย ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว แล้วจึงใช้แถบยางรัดที่โคนอวัยวะเพศ ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว
      - ใช้ ยาฉีด เข้าที่อวัยวะเพศ หรือ สอดเข้าไปในท่อปัสสาวะ ทำให้อวัยวะเพศขยายตัว แบบสอดมักได้ผลน้อยกว่าแบบฉีด แต่แบบฉีดอาจทำให้เลือดคลั่งนานผิดปกติ และเลือดออกใต้ผิวหนังที่ฉีด
      - การผ่าตัดสอดใส่แท่งซิลิโคลนหรือถุงน้ำเข้าไปในแท่งอวัยวะเพศ

      เนื่องจากเทคนิคแต่ละอย่าง มีผลข้างเคียงถ้าใช้ไม่ถูกต้อง การเลือกใช้วิธีการใดนั้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เขี่ยวชาญ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและเหมาะสม



                                                   ทำอย่างไร? ถ้าต้องการมีบุตร                                                            
          แพทย์สามารถช่วยการมีบุตรได้ โดยการกระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำอสุจิ และนำน้ำอสุจิใส่เข้าทางช่องคลอด เพื่อให้เกิดการผสมระหว่างไข่กับอสุจิ ในบางประเทศ แพทย์แนะนำและสอนให้ฝ่ายภรรยาเป็นผู้กระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำอสุจิ โดยการใช้เครื่องมือพิเศษ และให้สามีหรือภรรยานำน้ำอสุจิใส่เข้าไปในช่องคลอดเอง







                          ในขณะร่วมเพศ ถ้ามีอาการเกร็งกระตุกมาก ควรทำอย่างไร?                          

        อาการเกร็งที่ขาและลำตัว เป็นอุปสรรคขัดขวางการร่วมเพศ เช่น ขาทั้ง 2 ข้างเกร็งหนีบเข้าหากัน กาเกร็งเหยียดออก หรือขาเกร็งงอพับ ต้องสังเกตุว่าอาการเกร็งที่เกิดขึ้น มีลักษณะเช่นไร? และใช้การจัดท่าร่วมเพศที่เหมาะสม  ท่าร่วมเพศที่เหมาะสมจะช่วยควบคุมอาการเกร็งและทำให้การร่วมเพศสะดวกขึ้น

          การร่วมเพศจะสำเร็จได้ ทั้งสองฝ่ายต้องเข้าใจความบกพร่องที่เกิดขึ้น กับผู้ที่ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ คำนึงถึงกำลังของกล้ามเนื้อที่ยังคงใช้การได้ และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ การกินยาลดเกร็งอาจทำให้อ่อนแรงและเป็นอุปสรรค จึงต้องปรับให้พอเหมาะ





                                  ทำอย่างไร? ปัสสาวะจึงไม่เล็ดราดในขณะร่วมเพศ                                         
      ปัสสาวะจะเล็ดราดได้ ก็ต่อเมื่อมีปัสสาวะอยู่ในกระเพาะปัสสาวะจำนวนหนึ่ง ประกอบกับมีการหดตัวของกระเพาะปัสสาวะหรือกล้ามเนื้อหน้าท้อง มีการคลายตัวของหูรูดท่อปัสสาวะ มีแรงกดที่ท้องน้อย  มีแรงเบ่งดันให้ปัสสาวะไหลซึมเล็ดราดออกมา

      กรณีที่คาสายสวนปัสสาวะไว้

      - ผู้ชายไม่ต้องเอาสายสวนปัสสาวะออก เพียงปลดถุงเก็บปัสสาวะออกชั่วคราว และมัดปลายท่อแล้วพับสายสวนให้แนบกับอวัยวะเพศ เมื่ออวัยวะเพศแข็งตัวจึงสวมถุงยางอนามัยทับอีกทีหนึ่ง

      - ผู้หญิง ก็ไม่จำเป็นต้องเอาสายสวนปัสสาวะออกเช่นเดียวกัน เพียงเลี่ยงเอาสายสวนมาตรึงไว้ ที่ท้องน้อยด้านข้างชัวคราว เพื่อไม่เกิดการขัดสีและกดทับขณะร่วมเพศ

      กรณีที่สวนปัสสาวะออกเป็นเวลา

      - ให้สวนปัสสาวะออกให้หมดก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์

     ก่อนและหลังการร่วมเพศ ควรทำความสะอาดร่างกาย เพื่อป้องกันการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ

     ในทำนองเดียวกัน อุจจาระอาจเล็ดออกมาโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์นี้ ควรเพิ่มการสวนหรือล้วงในวันที่จะมีการร่วมเพศ หลีกเลี่ยงอาหารที่จะกระตุ้นให้อุจจาระออกง่าย และอาหารที่ทำให้เกิดการผายลม เช่น ถั่ว ผัก และผลไม้ที่มีกลิ่นแรง
   



การมีเพศสัมพันธ์เป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งของมนุษย์
ชีวิตคู่จะราบรื่นเมือทั้งสองฝ่ายเข้าอกเข้าใจ
พร้อมมอบสัมผัสและความรักให้กันและกัน



***ความเห็นส่วนตัวจากผู้เขียน

         ผู้เขียนมีโอกาสได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เกี่ยวกับ"เรื่องบนเตียง" สำหรับผู้บาดเจ็บไขสันหลัง สิ่งที่ผู้เขียนคิด คือ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตของแต่ละท่านกับเรื่องดังกล่าว สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การทำใจ ยอมรับกับสภาพความเป็นจริง ไม่มีใครรู้ดีเท่ากับตัวเราเอง                              

  
         สำหรับผู้ชายหลายๆ ท่านยังสามารถกระตุ้นให้มันแข็งตัวได้ ถึงกระทั่งสอดใส่หลั่งน้ำอสุจิได้ ผู้บาดเจ็บไขสันหลังมีหลายช่วงอายุ วัยที่ผ่านมาของแต่ละคนสำหรับเรื่องดังกล่าวแตกต่างกัน น้องๆ บางคนประสบอุบัติตั้งแต่วัยเด็กซึ่งยังไม่เคยประกอบกิจดังกล่าวมาก่อน บางคนยังไม่เคยผ่านประสบการณ์ชีวิตคู่มาก่อน ความคิด ความอ่าน ย่อมแตกต่างกัน

         ส่วนใหญ่ ต้องไม่ลืมว่า ประสาทรับรู้ความรู้สึกของอวัยวะเพศเป็นประสาทส่วนสุดท้ายของไขสันหลัง ดังนั้นคงไม่มีผู้บาดเจ็บไขสันหลังท่านใด สามารถรับรู้ความรู้สึกได้เฉกเช่นคนปกตินอกจากหลอกตัวเอง ปัสสาวะยังไม่สามารถบังคับมันได้ นับประสาอะไรกับการร่วมเพศ ยัดสายยางเข้าไปสวนปัสสาวะ ยังไม่รู้สึกเจ็บหรือเสียวเลย แล้วจะมีความรู้สึกเหมือนคนปกติทั่วไปได้อย่างไร? 

         สำหรับผม ผมมองคู่รัก ทอม กับ ดี้ ทำไม? เค้ามีความสุขกันได้ ท่านไปหาคำตอบเอาเองนะครับ ที่สำคัญที่สุด คือ ความคิด อย่าหมกมุ่นกับมันจนทำให้เกิดความทุกข์ใจ มันเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์เพียงเท่านั้น ทำเท่าที่เราสามารถทำได้ โชคดี และ ขอบคุณครับ


กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก




      ไขสันหลังที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่สามารถนำกระแสประสาทสั่งการ จากสมองมาถึงเซลล์ประสาทสั่งการ และไม่สามารถรับความรู้สึกจากส่วนต่างๆ ไปรายงานยังสมองได้ กล้ามเนื้อจึงมักเกร็งกระตุกเอง ควบคุมไม่ได้


   บางครั้ง แขน ขา เกร็งเหยียด บางครั้งเกร็งงอ ไม่แน่นอน กล้ามเนื้อและเอ็นจึงหดยึด ข้อเคลื่อนไหวได้น้อยลง และติดยึดในเวลาต่อมา อาการเกร็งอาจเกิดต่อเนื่อง ขัดขวางการทำงาน ทำให้นอนไม่หลับ บางครั้งมีการอาการเจ็บหรือปวดกล้ามเนื้อร่วมด้วย ถ้ากล้ามเนื้อบริเวณทรวงอกเกร็ง การหายใจจะลำบากและอึดอัด






  
                   สิ่งเร้าที่กระตุ้นการเกร็ง ได้แก่


      - การเปลี่ยนอิริยาบทหลังจากอยู่ท่าใดท่าหนึ่งนานๆ
      - ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ทางเดินหายใจ
      - มีแผลกดทับ เล็บขบ
      - โรคกระเพาะ ท้องผูก ริดสีดวงทวาร
      - ระหว่างมีประจำเดือน

      นอกจากนี้ สิ่งเร้าภายนอก เช่น อากาศหนาวเย็น ก็เป็นสาเหตุุทำให้อาการเกร็งมากขึ้น บางครั้งการตั้งใจที่จะบังคับให้ร่างกายเคลื่อนไหว ก็ทำให้เกิดการเกร็งในส่วนนั้นและส่วนอื่น ๆ

      อนึ่ง แต่ละคนมีอาการเกร็งกระตุกมากน้อยต่างกัน เป็นที่น่าสังเกตุว่า ผู้ที่ยังมีความรู้สึกในส่วนที่อ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต หรือ มีเพียงอาการอ่อนแรง มีอาการเกร็งเกิดขึ้นมากกว่าผู้ที่เป็น อัมพาต



                                 มียาที่ช่วยควบคุมหรือลดอาการเกร็งหรือไม่?                                                    

      ปัจจุบันมียาหลายขนานที่กินแล้วช่วยควบคุมอาการเกร็งกระตุกได้ แพทย์จะพิจารณาใช้ก็ต่อเมื่อการการเกร็งกระตุกนั้น ค่อนข้างรุนแรงและรบกวนการดำเนินชีวิตปรจำวัน

      ยาควบคุมอาการเกร็งกระตุกที่มีใช้บ้านเรา ได้แก่
      - ยาแวเลี่ยม (ชื่อสามัญ ไดอะซีแปม)
      - ยาเซอร์ดาลุด (ชื่อสามัญ ทิชานิดีน)
      - ยาไลโอลีซัล (ชื่อสามัญ บาโคลเฟน)

      บางครั้งต้องใช้ยาหลายขนานพร้อมกันเพื่อให้ได้ผลเต็มที่ แต่ถ้ากินยาเกินขนาด กล้ามเนื้อจะอ่อนแรงและรู้สึกอ่อนเปลี้ย ส่วนผลข้างเคียงของยา ได้แก่ ง่วงนอน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ประสิทธิภาพการหายใจลดลง และอาจมีผลเสียต่อตับและไต ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพือความปลอดภัย

      ส่วนยาทาภายนอก ที่ใช้ทาถูกนวดและให้ความร้อนนั้น มักช่วยทำให้อาการเกร็งกระตุกลดลงได้บ้าง เราสามารถหาซื้อยาทาภายนอกได้ตามร้านขายยาทั่วไป ควรระวัง เมื่อใช้ติดต่อกันนานๆ อาจทำให้ผิวหนังแห้ง และแตกเป็นแผลได้

      ข้อสำคัญ ต้องพิจารณาหาสาเหตุที่เร้า หรือกระตุ้นให้เกิดการเกร็งกระตุก และกำจัดสาเหตุเพื่อลดอาการเกร็ง เช่น

      - ปัสสาวะติดเชื้อ ก็ต้องกินยาปฏิชีวนะ ฆ่าเชื้อ
      - ท้องผูก ก็ต้องช่วยระบายอาจจาระออก
      - มีแผลติดเชื้อ ต้องรักษาแผบให้หาย เป็นต้น


                ควรปฏิบัติอย่างไร เพื่อควบคุมอาการเกร็งกระตุกให้ได้ผลมากขึ้น?                  


      อาการเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อ ซึ่งสมองไม่สามารถควบคุมได้ แต่เราสามารถควบคุมได้ โดยอาศัยวิธีและหลักการกายภาพบำบัด ดังนี้

     * ใช้ความร้อนหรือความเย็น ประคบ ที่กล้ามเนื้อ

      - ถุ้าความรู้สึกที่ผิดหนังผิดปกติ ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนประคบ และใช้ความเย็นประคบหรือใช้ยาทาที่ทำให้รู้สึกร้อนที่ผิวหนังแทน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและป้องกันผิวหนังพองไหม้ การประคบแต่ละครั้งกินเวลาประมาณ 20-30 นาที และทุกๆ 5 นาที ควรสำรวจดูผิวหนัง อย่าปล่อยให้ผิวหนังพองไหม้

    *  ยืดเอ็นและกล้ามเนื้อ

      - ทำช้าๆ ค่อยๆ ยืด และคงไว้เมื่อถึงจุดที่ตึงประมาณ 10-30 วินาที ทำบ่อยๆ คราวละ 5-10 ครั้ง วันละ 3-4 รอบ
      - เราสามารถยืดกล้ามเนื้อได้ด้วยตนเองหรือให้ผู้ดูแลช่วย
      - กล้ามเนื้อและเอ็นที่ควรยืด ได้แก่ กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง กล้ามเนื้อต้นขาด้านใน กล้ามเนื้อน่องและเอ็นร้อยหวาย

   *  ใช้ประกับหรืออุปกรณ์ดาม หรือจัดท่านอนท่านั่งให้เหมาะสม

      - เพื่อให้กล้ามเนื้อและข้ออยู่ในท่ายืด ป้องกันการหดยึด
      - เมื่อใช้ประกับหรืออุปกรณ์ดาม ต้องระวังการกดที่ผิวหนังและทำให้เกิดแผลกดทับ ดังนั้น ควรเริ่มใช้จากระยะเวลาสั้นๆ 10-20 วินาที เมื่อผิวหนังทนได้จึงเพิ่มระยะเวลาใช้ให้นานขึ้น

   *  การยืนลงน้ำหนักที่ขาทั้ง 2 ข้าง ช่วยลดอาการเกร็งได้บ้าง

      - ถ้ากล้ามเนื้อขาเป็นอัมพาตหรืออ่อนแรง ต้องใช้ประกับช่วยเพื่อให้ขาเหยียดตรง และป้องกันการเกร็งงอที่ข้อเข่า

    *  หลีกเลี่ยงการออกกำลังต้านน้ำหนักหรือแรงต้านมากๆ เพราะมักกระตุ้นให้เกร็งมากขึ้น

    *  ทำจิตใจให้ผ่อนคลอย ไม่เครียด และรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง


                                     ยังมีวิธีการอื่นใดที่ช่วยลดอาการเกร็งได้อีก ?                                             

      - การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อที่เกร็ง ที่เส้นประสาท หรือเข้าในเยื่อหุ้มไขสันหลัง ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวได้ชั่วคราว
      - การผ่าตัดยึดเอ็นกล้ามเนื้อที่เกร็งช่วยลดการเกร็งและแก้ปัญหาข้อยึดติด หลังผ่าตัดต้องเข้าเฝือกหรือใส่ประกับเพือไม่ให้เกิดการหดยึดซ้ำ
      - การตัดเส้นประสาทก็เป็นอีกหนทางที่ช่วยลดหรือระงับการเกร็งได้ ทำให้เกิดอาการอ่อนแรงหรืออัมพาตของกล้ามเนื้อและหมดความรู้สึกที่ผิวหนังอย่างถาวร

      ดังนั้น ควรคำนึงถึงผลดีและผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ก่อนตัดสินใจ ใช้วิธีใดวิธีหนึ่งที่กล่าวมานี้




                                       มีสาเหตุอื่นอะไรบ้าง ที่ทำให้ข้อติด ?                                                                                      

      ถ้าไม่บริหารข้ออย่างสม่ำเสมอ กล้ามเนื้อเกร็งและเอ็นจะหดยึด เป็นเหตุให้ข้อติด ตำแหน่งที่เกิดบ่อยได้แก่

      - กล้ามเนื้อน่องและเอ็นร้อยหลายหดยึด ปลายเท้าจิกงุ้มลง
      - กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังหดยึด ข้อเข่าติดในท่างอ
      - กล้ามเนื้อต้นขาด้านในหดยึด กางต้นขาได้ยากลำบาก
      - กล้ามเนื้อที่ช่วยเหยียดนิ้วหดยึด นิ้วมือเหยียดตรง กำมือไม่ได้
      - กล้ามเนื้อข้อมือหดยึด ข้อมืองอพับ ติดแข็ง กระดกไม่ได้
      - กล้ามเนื้อต้นแขนด้านหน้าหดยึด ข้อศอกติดในท่างอ




                                สาเหตุที่เร่งให้ข้อติดยึดง่ายและเร็วขึ้น ได้แก่                                                     
      - ในขณะนอนหรือนั่ง ข้ออยู่ในท่าที่ทำให้กล้ามเนื้อและเอ็นหดยึด เช่น แขนอยู่แนบลำตัวทำให้ไหล่ติด ข้อศอกอยู่ในท่างอทำให้เหยียดข้อศอกได้ไม่ตรง นิ้วมืออยู่ในท่าเหยียดทำให้กำมือไม่ได้ นั่งนานทำให้ข้อเข่าและตะโพกงอติด ปล่อยให้ปลายเท้าตกทำให้ข้อเท้าติด กระดกไม่ขึ้น เป็นต้น
      - การบวน เช่น ข้อ มือบวมทำให้ข้อนิ้วติด
      - กล้ามเนื้อเอ็นฉีกขาด ทำให้เกิดพังผืดที่หดยึดรอบๆ ข้อ
      - บางครั้งมีแคลเซียมแทรกในเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อ ทำให้ข้อยึดติดแข็งมักเกิดที่บริเวณข้อตะโพก ข้อเข่า ข้อไหล่ เป็นต้น
      - มีแผลกดทับ





หลีกเลี่ยงสาเหตุ ป้องกันภาวะแทรกซ้อน
บริหารข้อ ยืดเอ็นและกล้ามเนื้อเป็นประจำ
ช่วยลดเกร็งและป้องกันข้อติดยึด

Wheelchair


       ผู้บาดเจ็บไขสันหลัง เมื่อร่างกายบกพร่อง ขาอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต การเคลื่อนย้ายตัวหรือเคลื่อนที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก ถ้าแขนและมือยังพอมีแรงมีกำลัง ควรใช้แขนและมือเพื่อชดเชยสิ่งที่ขาดหายไป เพิ่มความสามารถให้ตนเอง ด้วยการฝึก และรู้จักใช้เครื่องทุ่นแรง ได้แก่ ไม้ค้ำยัน ประกับขา และ วีลแชร์

   

            Wheelchair มี ส่วนประกอบหลักๆ ดังนี้                                                


      - โครงโลหะ/อลูมิเนียม/อัลลอยด์ ที่มีลักษณะคล้ายเก้าอี้ มีทั้งแบบพับได้และพับไม่ได้
      - ส่วนบนสุดของโครงโค้งเป็นด้ามจับ2ข้าง เพื่อให้ผู้อื่นจับเข็น
      - พนักพิงและที่รองนั่ง มักทำด้วยผ้าใบหรือหนังเทียม บางคันเป็นโลหะ (สำหรับอาบน้ำ)
      - ที่รองรับแขน อยู่ 2 ข้างลำตัว อาจติดตายตัว พับ หรือ ถอดออกได้
      - ล้อใหญ่ 1 คู่ อยู่ด้านหลัง ซึ่งยึดติดกับเพลาหรือแกน มีวงล้อสำหรับมือจับประกบอยู่
      - ล้อเล็ก 1 คู่ อยู่ด้านหน้า หมุนได้รอบตัว
      - เบรก สำหรับยึดล้อไม่ให้เคลื่อนเวลาหยุดนิ่ง
      - ที่รองรับเท้าที่ทำด้วยโลหะ หรือ อลูมิเนียม หรือ พลาสติคแข็ง




                                       เมื่อไรจึงจำเป็นต้องใช้ Wheelchair                                            

      เมื่อสภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวยให้เดินได้ เราก็ต้องยอมรับว่า รถเข็นนั่ง มีความจำเป็นต่อชีวิต เป็นปัจจัยที่5 ที่จะช่วยทำให้เราไปไหน-มาไหน ได้เยี่ยงคนอื่น บางคนพอมีกำลังขา ก็อาจเดินได้โดยการใช้ประกับขาและไม้ค้ำยัน บางคนเลือกเดินเพียงระยะสั้นๆ และใช้รถเข็นนั่งเมื่อต้องไปไหนไกลๆ เพื่อช่วยทุ่นแรง ทั้งนี้ เราสามารถเลือกรถเข็นนั่งได้ตามความเหมาะสม โดยมีแพทย์ นักกายภาพบำบัด และนักกิจกรรมบำบัด เป็นผู้ช่วยให้คำแนะนำ



                                 Wheelchair ที่หมาะสม มีลักษณะอย่างไร?                                            

      - มีขนาดพอดีตัวผู้ใช้ เช่น ไม่ใหญ่ ไม่เล็กเกินไป มีช่องว่างข้างตัวประมาณข้างละ 1 นิ้ว ระดับที่รองนั่งไม่สูงหรือต่ำเกินไป เมื่อทิ้งแขนลงข้างตัว งอศอกประมาณ 30-45 องศาแล้ว มือวางอยู่ที่จุดสูงสุดของล้อ
      - มีน้ำหนักเบา มีความคล่องตัวเวลาใช้
      - มีความมั่นคง ไม่ล้มหรือหงายหลังง่าย มีตัวยันกันหงายหลัง
      - คงทน ไม่ชำรุดง่าย สามารถซ่อมหรือหาอะไหล่ได้ง่าย
      - ราคาไม่แพง
      - ปรับได้ตามความเหมาะสม  เช่น พนักพิงปรับเอียงได้ , ปรับที่นั่งให้เอียงได้ , พับหรือถอดที่รองแขนออกได้ , ปรับระดับที่รองเท้าได้ , เปลี่ยนตำแหน่งดุมล้อหลังได้ , พับได้ , ถอดล้อได้





                             Wheelchair ชนิดใด แบบไหน จึงจะเหมาะสม                                                  

      การเลือกรถเข็นนั่งให้เหมาะสมคงต้องดูว่า เรามีกำลังกล้ามเนื้อแขนและมือ มากน้อยขนาดไหนที่จะหมุนล้อรถเข็นให้เคลื่อนที่ได้ การทรงตัวเป็นเช่นไร จะนำไปใช้งานประเภทใด อีกทั้งดูที่กำลังทรัพย์ที่มีอยู่ด้วย


แขน และ มือ มีแรงปกติ แต่ ขา อ่อนแรง

 


  สามารถใช้รถเข็นแบบธรรมดา ที่ไม่ต้องดัดแปลง ถ้าการทรงตัวมั่นคงดี ก็สามารถเลือกรถเข็นขนาดพอเหมาะกับตัวที่มีพนักพิงต่ำและไม่ต้องมีที่เท้าแขนหรือรองรับแขน
 





แขนปกติ แต่ มือ และ ขา อ่อนแรง และลำตัวไม่แข็งแรง

 



  ควรเลือกรถเข็นที่มีน้ำหนักเบา มีพนักพิงสูง ที่เท้าแขนสามารถถอดออกหรือพับได้ เพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายตัว บางครั้งจำเป็นต้องติดปุ่ม/ปมที่วงล้อและสวมถุงมือ เพื่อช่วยให้หมุนล้อได้ง่ายขึ้น





แขน มือ ลำตัว อ่อนแรง แต่ ขา พอมีกำลัง

 

   สามารถใช้รถเข็นชนิดธรรมดาได้โดยไม่ใช้มือหมุนล้อ แต่ใช้ขาและเท้าช่วยผลักให้รถเข็นเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ต้องการ
      บางคนอาจเดินเกาะและดันรถเข็น โดยอาศัยรถเข็นช่วยพยุงลำตัวเวลาเดิน ทำให้มั่นคง อีกทั้งสามารถลงนั่งบนรถเข็นเมื่อต้องการพัก








แขน มือ ลำตัวและขา อ่อนแรง ไม่มีกำลัง

 


ต้องใช้รถเข็นที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ปัจจุบันมีจำหน่ายในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้า จึงมีราคาแพง ถ้ามีผู้ดูแลช่วยเข็นรถให้ ก็สามารถใช้รถเข็นแบบธรรมดาได้






ในกรณีที่มีอาการหน้ามืดง่ายในขณะนั่ง




    ใช้รถเข็นที่ปรับพนักพิงเอียงลง ปรับที่รองรับขาหรือเท้าให้สูงขึ้นได้ ถ้าใช้รถเข็นแบบธรรมดา ผู้ดูแลสามารถเหยียบก้านเหล็กด้านหลังที่อยู่ข้างๆ ล้อ พร้อมกดก้านจับที่ด้านหลังพนักพิงลง รถเข็นจะหงายหลังทำให้เลือดไหลเวียนกลับสู่หัวใจและไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น อาการก็ทุเลา









         นั่ง Wheelchair อย่างไร ไม่ให้เกิดแผลกดทับ
                                                 

      - ไม่นั่งติดต่อกันนานเป็นชั่วโมง โดยไม่ขยับตัว

      - ยกตัวให้ก้นลอยขึ้นจากที่นั่งชั่วคราว ครั้งละ 30 วินาที ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง              

      - พยายามนั่งให้หลังตรง พิงพนัก และเข่าอยู่ระดับเดียวกับตะโพก ไม่นั่งไขว่ห้าง

      - เวลาย้ายตัวจากรถุเข็น ควรยกให้ตัวลอยขึ้น ไม่ให้ถูไถกับที่รองนั่งหรือเตียง

      - ใช้เบาะรองนั่งเพื่อลดและกระจายแรงกดจากน้ำหนักตัว

             อนึ่ง ทุกวันเมื่อลงจากรถเข็นแล้ว ควรสำรวจผิวหนังบริเวณก้นและตะโพก ด้วยการส่งกระจกดูว่ามีแผลถลอกหรือรอยกดแดงช้ำ หรือไม่? และใช้มือคลำ สำรวจว่ามีก้อนแข็งๆ หรือนิ่มๆ ใต้ผิวหนัง หรือไม่? ถ้ามี ก็บ่งชี้ว่ามีแผลกดทับเกิดขึ้นแล้ว





                                     เบาะรองนั่งมีกี่แบบ จะเลือกชนิดไหนดี?                                                    


บาะฟองน้ำ

1. เบาะฟองน้ำ ที่ใช้ทำเบาะนั่งรถยนต์หรือโซฟา

      - มีความหนาประมาณ 3-4 นิ้ว
      - เป็นฟองน้ำอัดหรือฟองน้ำที่มีความหนาแน่นปานกลาง
      - ราคาประมาณ 300-500 บาท
      - มีอายุการใช้งานประมาณ 6 เดือน สามารถลดแรงกดได้พอใช้





เบาะเจล
   
        2. เบาะเจล

      - เป็นเบาะชนิดพิเศษ ทำจากต่างประเทศ
      - สามารถลดแรงกดได้ดี
      - ข้อเสีย คือ มีน้ำหนักมาก ราคาแพง




เบาะลม



     3. เบาะลม โรโฮ ( ROHO )

   - เป็นเบาะที่มีประสิทธิภาพ ดีที่สุด
   - น้ำหนักเบา ระบายความอับชื้นได้ดี
   - ข้อเสีย คือ ราคาแพงมาก และอาจเสียสมดุลในการทรงตัวง่าย



        

          เบาะรองนั่งทุกชนิด ควรมีปลอกผ้าหุ้ม ที่ทำด้วยผ้ายืดที่ซับเหงื่อและแห้งง่าย ไม่มีตะเข็บที่ด้านบนเพราะแนวตะเข็บเป็นต้นเหตุของแผลกดทับได้  ควรหลีกเลี่ยงปลอกที่ทำจากหนังเทียมเพราะทำให้เกิดความอับชื้น ผิวหนังจะเป็นผื่น เปื่อย และอาจเป็นแผล ควรทำความสะอาดเบาะรองนั่งและซักปลอกที่หุ้มเป็นประจำ หรือทุกครั้งที่มีการเลอะเปื้อน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ผิวหนังและระบบทางเดินปัสสาวะ


                                      อุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นเมื่อใช้ Wheelchair                                                            
      - สายคาดขนาดใหญ่และยาว ใช้พันรอบตัว กันการเสียหลักแล้วหล่นออกจากรถเข็น ในกรณีที่การทรงตัวไม่ดี
      - สายคาดขนาดเล็ก ใช้พันรอบขาหรือรองรับขา กนไม่ให้เท้าหล่นออกจากที่รองรับเท้า
      - ปุ่มเหล็ก หรือ ปมยางติดที่วงล้อ เพื่อช่วยให้หมุนล้อได้ถนัดขึ้น
      - ถุงมือ ไว้สวมใส่เพื่อให้หมุนล้อได้ดีขึ้น อีกทั้งป้องกันบาดเจ็บ เวลาหมุนล้อ
      - ปลอกผ้าหนาๆ ส่วมที่ข้อศอก ป้องกันแผลกดทับ
      - ถุงใส่ของ ห้อยไว้ด้านหลังพนักพิง
      - ที่ยึดจับไม้ค้ำยัน
      - ไม้กระดานเล็ก สำหรับรองรับและช่วยในการย้ายตัว
      - น้ำมันหล่อลื่น สำหรับหยอดส่วนต่างๆ ของรถเข็น
      - ที่สูบลม



                                 ข้อพึงปฏิบัติเมื่อใช้รถเข็น มีอะไรบ้าง?                                                          

      - หมั่นทำความสะอาดเบาะรองนั่งและปลอกหุ้ม
      - ถ้าการทรงตัวไม่ดี ควรใช้สายคาดลำตัว
      - ถ้าขาทั้งสองข้างชนกัน เกร็งหนีบ ควรใช้แถบผ้าพันรั้งขาให้กางออก หรือใช้หมอนกั้นไว้
      - หลีกเลี่ยงการนั่งยกเข่าสูงกว่าตะโพก หรือ นั่งไข่วห้าง
      - สวมถุงเท้า รองเท้า ทุกครั้งเมื่อนั่งรถเข็นออกไปนอกบ้าน
      - วางเท้าบนที่รองเท้า ไม่ให้หล่นลงมาลากกับพื้น
      - ถ้าเท้าบวน ควรยกเท้าขึ้นมาพาดบนเก้าอี้หรือเตียงเป็นครั้งคราว
      - ถ้ากล้ามเนื้อแขนและลำตัวไม่แข็งแรง ควรใช้ไม้แผ่นรองช่วยในการย้ายตัว
      - ล็อคล้อรถเข็น ก่อนย้ายตัวขึ้น-ลง
      - ทำความสะอาดล้อทุก 1-2 สัปดาห์ เป็นอย่างน้อย
      - หยอดน้ำมันหล่อลื่นตามข้อต่อ ทุก 1-2 เดือน
      - ไม่นั่งอาบน้ำบนรถเข็นที่ไม่กันสนิม
      - สูบลมยางเป็นประจำ อย่าปล่อยให้ยางแบน
      - ถ้ามีอาการ ตาลาย จะเป็น ลม ต้องบอกให้คนข้างเคียง ช่วยกระดกล้อหน้าให้รถเข็นหงายหลัง เพื่อให้ศรีษะต่อและปลายเท้าชี้ขึ้น เมื่ออาการดีขึ้นจึงปล่อยรถเข็นลงสู่ปกติ




รถเข็นเป็นสัญญลักษณ์ของคนพิการ
แต่...รถเข็นช่วยให้ร่างกายที่บกพร่องกลับมามีประสิทธิภาพ
และกลับคืนสู่สังคมได้อีกครั้ง






      ***บันทึกจากผู้เขียน


         Wheelchairs คือ อุปกรณ์จำเป็นสำหรับ คนพิการ ที่ขาใช้งานไม่ได้ มีมากมายหลายเกรด คุณภาพแตกต่าง ตามราคาที่จำหน่ายทั่วๆ ไป คงไม่แตกต่างกับรถยนต์ ท่านไหนมีสตางค์มากหน่อย ก็สามารถซื้อรถเบ็นซ์ขับได้ ทั้งนี้ ทั้งนั้น สำหรับคนพิการที่ฐานะยากจน หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ มีวีลแชร์ให้ท่านใช้ฟรีๆ แน่นอน 
         
          3-4 ปี ที่ผ่านมา 
คนพิการที่เกิดความพิการจากการประสบอุบัติทางการจราจร กรมขนส่งทางบกแจกวีลแชร์คุณภาพดี เกรด A ให้กับคนพิการดังกล่าวทุกๆ คน