27/12/54

แผลกดทับ Bed Sore

การดูแลผู้ป่วยและป้องกันการเกิดแผลกดทับ 

            แผลกดทับเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เอง ผิวหนังถูกกดทับเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงผิวหนังที่ถูกกดทับได้อย่างสะดวก ส่งผลให้ผิวหนังมีลักษณะเป็นรอยแดงและมีการแตกทำลายของผิวหนัง ถ้าไม่ได้รับการป้องกันดูแลตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก็จะส่งผลให้เกิดแผลกดทับตามมาได้ ซึ่งการเกิดแผลกดทับจะส่งผลให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน จากการรักษาที่ยุ่งยาก เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อทางด้านจิตใจของผู้ป่วยด้วย  
   
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดแผลกดทับเกิดได้จาก 2 ปัจจัย คือ

1. ปัจจัยภายใน  สภาพอายุที่มากขึ้นชั้นไขมันใต้ผิวหนังบางลง ผิวหนังเปราะบาง ฉีกขาดได้ง่าย ผู้ป่วยที่บกพร่องในการเคลื่อนย้าย เช่นผู้ป่วยอัมพาต ผู้ป่วยอ้วนเนื้อเยื่อชั้นไขมันมากทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี ผู้ป่วยผอมทำให้เกิดแรงกดของเนื้อเยื่อบริเวณปุ่มกระดูกมากขึ้น การขาดสารอาหารโดยเฉพาะโปรตีน ภาวะโรคเดิมของผู้ป่วย เช่น เบาหวาน ไตวาย มะเร็ง เป็นต้น

2. ปัจจัยภายนอก แรงกดจะขัดขวางออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ ถ้าผู้ป่วยไม่มีการเคลื่อนไหวจะมีผลให้เนื้อเยื่อขาดเลือดไปเลี้ยงโดยเฉพาะบริเวณปุ่มกระดูกต่างๆ จะเกิดแรงกดมากขึ้น แรงเลื่อนไหลหรือแรงเฉือน เป็นแรงที่ผู้ป่วยนั่งหรือนอน เลื่อนไหลตามแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณนั้นเสียไป  แรงเสียดทานเป็นแรงที่เกิดจากผู้ป่วยสัมผัสกับพื้นผิวด้านนอกเกิดการถลอกของผิวหนัง เช่นการเลื่อนผู้ป่วย โดยการดึงลากทำให้ผิวหนังถลอกเป็นแผล ความเปียกชื้นของเหงื่อ ปัสสาวะ อุจจาระทำให้ผิวหนังเปื่อยได้ง่าย


บริเวณที่อาจเกิดแผลกดทับ


การป้องกันและการดูแลแผลกดทับ

การจัดท่านอน  ควรเปลี่ยนท่านอนอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง เพื่อให้ส่วนใดส่วนหนึ่งไม่รับแรงกดนานเกินไป ถ้าเปลี่ยนท่านอนแล้วรอยแดงบริเวณผิวหนังไม่หายภายใน 30 นาทีอาจจะพิจารณาให้เปลี่ยนท่านอนได้บ่อยขึ้น โดยมีการหมุนเวียนเปลี่ยนท่านอน เช่น นอนหงาย นอนตะแคงซ้าย นอนตะแคงขวา สลับกัน
  การนอนตะแคง ควรจัดให้นอนตะแคง กึ่งหงาย ใช้หมอนยาวรับตลอดแนวลำตัว รวมทั้งบริเวณข้อเข่า ข้อเท้า ควรทำให้สะโพก ทำมุม 30 องศา และใช้หมอนรองตามปุ่มกระดูก และใบหู
    การนอนหงาย ควรมีหมอนสอดคั่นระหว่างหัวเข่า ตาตุ่มทั้ง 2 ข้าง ขา 2 ข้าง และรองใต้น่องและขาเพื่อให้เท้าลอยพ้นพื้นไม่กดที่นอน  การจัดท่านอนศีรษะสูงไม่เกิน 30 องศา แต่ถ้าจำเป็นศีรษะสูงเพื่อให้อาหาร หลังจากให้อาหาร 30 นาที – 1 ชั่วโมง ควรลดระดับลงเหลือ 30 องศา กรณีที่นั่งรถเข็น ควรให้มีเบาะรองก้น และกระตุ้นให้เปลี่ยนถ่ายน้ำหนักตัว หรือยกก้นลอยพ้นพื้นที่นั่งทุก 30 นาที

การใช้อุปกรณ์ลดแรงกด    อุปกรณ์ลดแรงกดอยู่กับที่ เช่น ที่นอนที่ทำจาก เจล โฟม ลม น้ำ หมอน เป็นต้น     อุปกรณ์ลดแรงกดสลับไปมา เช่น ที่นอนลม ไฟฟ้า


การดูแลผิวหนัง ผู้ป่วยที่มีผิวหนังแห้ง ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำอุ่น หลังทำความสะอาดร่างกายควรทาโลชั่น 3-4 ครั้ง / วัน เพื่อป้องกันผิวหนังแตกแห้ง ผู้ป่วยที่ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ควรทำความสะอาดทุกครั้ง ที่มีการขับถ่าย และซับให้แห้งอย่างเบามือ ทาวาสลีน หรือ Zinc paste ให้หนาบริเวณผิวหนังรอบๆทวารหนัก แก้มก้นทั้ง 2 ข้าง เพื่อป้องกันผิวหนังเปียกชื้น ส่งเสริมการเคลื่อนไหวของร่างกายโดยการออกกำลังกาย    ระวังอุบัติเหตุที่เกิดกับผิวหนัง เช่น การกระแทก ของมีคม เป็นต้น
    จัดสิ่งแวดล้อมเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อไม่ให้ผิวหนังอับชื้น หลีกเลี่ยงการนวดปุ่มกระดูกโดยเฉพาะที่มีรอยแดง จะทำให้การไหลเวียนลดลง  หลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนประคบบริเวณผิวหนังที่มีความรู้สึกน้อย หรืออ่อนแรง  ดูแลผ้าปูที่นอนให้สะอาดแห้ง และเรียบตึงเสมอ เพื่อลดความเปียกชื้นและลดแรงเสียดทาน จัดเสื้อผ้าให้เรียบ หลีกเลี่ยงการนอนทับตะเข็บเสื้อ และปมผูกต่างๆเพื่อลดแรงกดบริเวณผิวหนัง  ไม่นวดหรือใช้ความร้อนประคบหรือใช้สบู่กับผิวหนังที่มีรอยแดง  ไม่ใช้ห่วงยางเป่าลมรองบริเวณปุ่มกระดูกเพราะจะทำให้เลือดไปเลี้ยงได้ไม่ดีทำให้เกิดแผลได้ และไม่ควรใช้ถุงมือใส่น้ำรองบริเวณปุ่มกระดูก เพราะอาจแพ้ยางได้

การเคลื่อนย้าย การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยควรใช้แรงยกไม่ควรใช้วิธีลาก ไม่ควรเคลื่อนย้ายตามลำพังถ้าผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ขณะเคลื่อนย้ายโดยการใช้รถเข็น ควรสวมรองเท้าหุ้มส้นทุกครั้ง และรัดสายรัดกันเท้าตกเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุขณะเคลื่อนย้าย ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ไม่ควรอยู่ในท่านั่งนานเกิน 1 ชั่วโมง

ภาวะโภชนาการ   ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยหรือรับประทานอาหารไม่ได้เลยควรพิจารณาใส่สายยางให้อาหาร ควรเพิ่มอาหารประเภทโปรตีนเพื่อส่งเสริมการหายของแผล เช่น นม ไข่ เนื้อสัตว์ต่างๆ วิตามินซี เช่น ส้ม ผัก ผลไม้สด มีผลต่อการหายของแผล ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน และป้องกันการทำลายเนื้อเยื่อ วิตามินเอได้แก่ นม ไข่ ผักคะน้า ผักใบเขียว เป็นต้น ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น สังกะสี เช่น หอยแมลงภู่ เมล็ดทานตะวัน ช่วยในการสังเคราะห์โปรตีน สร้างคอลลาเจน

ระดับแผลกดทับและการดูแลแผล

ระดับ 1 ผิวหนังไม่มีการฉีกขาด แต่เป็นรอยแดงกดบริเวณรอยแดงไม่จางหายภายใน 30 นาที ดูแลโดยมีการป้องกันแรงเสียดทานแรงกดทับโดยใช้อุปกรณ์ที่ช่วยลดแรงกดทับ เช่น หมอน เจลโฟม ที่นอนลม, เปลี่ยนท่าทุก 2 ชั่วโมง ทาโลชั่นหรือครีมในผู้ป่วยที่มีผิวหนังแห้ง ดูแลผิวหนังไม่ให้เปียกชื้น และกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหว
 ระดับ 2 ผิวหนังส่วนบนหลุดออก ฉีกขาดเป็นแผลตื้น มีรอยแดงบริเวณเนื้อเยื่อ รอบๆ มีอาการปวด บวม แดง ร้อน มีสิ่งขับหลั่งจากแผลปริมาณเล็กน้อย หรือปานกลาง ดูแลเหมือนระดับที่ 1 เพื่อป้องกันไม่ให้มีแผลเพิ่ม เช็ดรอบๆแผลด้วย Alcohol 70 % และใช้silver sulfa diazine ปิดด้วยผ้าก็อส ใช้วาสลีนทาผิวหนังรอบแผลเพื่อปกป้องผิวหนังไม่ให้เกิดการเปียกแฉะ ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำยา Povidine เช็ดแผล
ระดับ 3 มีการทำลายผิวหนังถึงชั้นไขมัน มีรอยแผลลึกเป็นหลุมโพรง มีสิ่งขับหลั่งออกจากแผลมาก อาจมีกลิ่นเหม็น
  










ระดับ 4 มีการทำลายถึงเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ กระดูก แผลเป็นโพรง มีสิ่งขับหลั่งออกจากแผลมาก มีกลิ่นเหม็น







   ***แผลกดทับระดับที่ 3, 4 ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาเลือกวิธีการ การเลือกใช้วัสดุในการใส่แผลให้ถูกต้อง เหมาะสมในแผลแต่ละชนิด

 สรุป

การป้องกันแผลกดทับเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก โดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ส่งผลกระทบให้เกิดแผล
ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับตามมาได้ รวมทั้งเมื่อเกิดแผลกดทับขึ้นการดูแลที่เหมาะสม     ตามระดับของแผล ป้องกันไม่ให้แผลลุกลามมากขึ้นการลดแรงกดที่เหมาะสมรวมทั้งการดูแลเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ก็จะทำให้การหายของแผล เป็นไปได้อย่างดี



***ความเห็นส่วนตัวจากผู้เขียน

             จากประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับ " แผลกดทับ " สำหรับผู้เขียนมีบ้างเหมือนกัน ขอแยกออกเป็น 2 ช่วงนะครับ เพราะกิจวัตรประจำวันจะแตกต่างกัน ดังนี้ 

              1.ช่วงที่ผู้เขียนนั่งทำงานบนวีลแชร์ 9 ปีเต็มๆ ปัญหาแผลกดทับแทบไม่มี จะมีก็ประมาณแผลถลอกจากการเสียดสีเคลื่อนไหว ดูแลตัวเอง เริ่มจากเบาะเยล แล้วเปลี่ยนเป็นเบาะลม ผสมกับการยกตัวให้พ้นพื้นรองนั่งบนวีลแชร์บ่อยๆ ให้เลือดและอากาศมันสามารถไหลผ่านตามธรรมชาติของมันได้บ้าง การยกตัวเองของผู้เขียน จะยกตัวเองให้ลอยพ้นพื้นหน่อยเดียวเท่านั้น แต่ยกบ่อยมากจนชิน นั่งไม่เกิน 15 นาทีจะยกก้นหนึ่งครั้งๆ ละเพียงแค่ 5-10 วินาที ไม่ได้ทำตามคำแนะนำจากแพทย์ ทำตามความคิดของตัวเอง คือ ให้เลือดและอากาศมันวิ่งผ่านได้บ้างไม่กดทับมันไว้นานๆ  9 ปีดังกล่าวที่ผ่านมา สภาพร่างกาย ไขมัน ผิวหนัง กล้ามเนื้อ อาจยังคงสมบูรณ์อยู่ ปัญหาการเกิดแผลกดทับจึงไม่เกิดขึ้นจากการกดทับตรงๆ เลยสักครั้งเดียว

               2.ช่วงที่ผู้เขียนลาออกจากงานกลับมาอยู่บ้าน ไม่กี่เดือนเริ่มเป็นแผลกดทับจากการนั่งกดทับ สาเหตุน่าจะมาจาก สภาพร่างกายเริ่มทรุดโทรมและนั่งไม่เป็นเวลา นั่งมากเกินไป ก็เป็นได้ แต่แผลที่เกิดขึ้น ไม่ได้หนักหนาสาหัสอะไร เพราะผู้เขียนใส่แพมเพิร์ธตลอด24 ช.ม.มาตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา เวลาเปลี่ยนแพมเพิร์ธเราก็จะรู้ว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับก้นของเรา เมื่อตัวเองรู้ว่าเริ่มเป็นแผล ก็จะดูแลรักษาด้วยตัวเอง ใช้กระจกแบบตั้งและพับได้มานอนตะแคง ทำแผลเอง ใช้น้ำเกลือล้างแผล ขอเน้นว่า "น้ำเกลือสำหรับล้างแผล" มีขายตามร้านขายยาทั่วๆ ไป ส่วนตัวยา ผู้เขียนใช้ยาทาแผลตัวนี้ SOLCOSERYL JELLY10%  20 G หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปเช่นกัน ทำแผลเอง วันละครั้งหลังจากอาบน้ำเสร็จ และหลีกเลี่ยงการนั่งโดยไม่จำเป็น กว่าแผลจะหายสนิทได้ 2-3 เดือน


                 ที่กล่าวมาจะกล่าวถึงอริยาบทในการนั่ง ส่วนเรื่องการนอน ผู้เขียนฝึกตัวเองนอนตะแคงมาโดยตลอดตั้งแต่อุบัติเหตุ ออกจากโรงพยาบาลมาอยู่บ้าน ไม่เคยนอนหงายนานเกิน15นาทีเลย จะนอนตะแคงพลิกซ้ายที ขวาที ร่างกายมันจะสั่งให้พลิกตัวเองโดยอัตตโนมัติตามที่เราฝึกไว้ 2-3 ช.ม. ก็พลิกตะแคงใหม่ทีนึง

            แผลกดทับ
เป็นของคู่กันกับผู้ป่วยอัมพาตก็จริง แต่เราสามารถดูแลตัวเองได้ ให้เข้าใจถึงสาเหตุที่เกิดแผลก่อน คือ อากาศและเลือดมันไม่สามารถวิ่งผ่านไปได้ตามที่ธรรมชาติสร้างไว้ มันก็เลยทำให้เซลล์ต่างๆ เริ่มตาย จนเกิดแผลกดทับขึ้น สำหรับคนที่ดูแลตัวเองได้ ยกก้นได้ แล้วยังเกิดแผลกดทับอีก นั่นคือ ท่านยังดูแลตัวเองได้ไม่ดีพอ ส่วนท่านที่ไม่สามารถดูแลตัวเองด้วยการยกก้นได้ คงต้องหาตัวช่วยต่างๆ เช่น เบาะลม นะครับ 

ระบบทางเดินหายใจ



          ทางเดินหายใจเริ่มตั้งแต่ โพรงจมูก ด้านหลังช่องปาก หลอดลม และปอด กระบังลมกั้นระหว่างช่องอกและช่องท้อง ทำหน้าที่หดตัวเวลาหายใจเข้า และคลายตัวเวลาหายใจออก การทำงานของกระบังลมเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดเวลาที่คนเรายังมีลมหายใจหรือมีชีวิต เราจะสังเกตเห็นการทำงานของกระบังลมได้ โดยดูที่หน้าท้องซึ่งโป่งออก เมื่อกระบังลมหดตัวและดันให้หน้าท้องพองออก เมื่อกระบังลมคลายตัว หน้าท้องจึงยุบลง

          การหายใจเข้าแรงๆ ลึกๆ นั้น กล้ามเนื้อบริเวณทรวงอก ช่องซี่โครงและต้นคอหดช่วย ทรวงอกขยายออก ลมจึงเข้าสู่ปอดมากขึ้น เมื่อกล้ามเนื้อเหล่านี้คลายตัว ทรวงอกก็ยุบตัวเอง ตามจังหวะของการหายใจ


                        ทำไม เมื่อไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ จึงรู้สึกหายใจไม่ทั่วท้อง ?                                   

        เมื่อไขสันหลังระดับ คอ หรือ อกส่วนบน ได้รับบาดเจ็บ กล้ามเนื้อที่ช่วยทำให้เกิดการหายใจ ดังกล่าวอ่อนแรงเป็นอัมพาต จึงรู้สึกหายใจไม่ทั่วท้อง หายใจลำบาก อึดอัด บางครั้งประสิทธิภาพการหายใจลดลงมาก จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือ ร่วมกับการ เจาะคอ (หลอดลมส่วนคอ) เพื่อให้การหายใจและออกซิเจนเพียงพอต่อร่างกาย

      อนึ่ง เมื่อหายใจเข้าได้น้อย แรงหายใจออก ก็น้อยลงด้วย กล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแรงเป็นอัมพาต จึงไม่สามารถไอขับเสมหะออก ต้องอาศัยแรงดันจากภายนอกเพื่อช่วยเพิ่มแรงขับ หรือต้องอาศัยเครื่องช่วยดูดเสมหะออก

     ก่อนป่วยบางคนเคยสูบบุหรี่ มีเสมหะมากและหายใจลำบาก จึงมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนง่าย เช่น ปอดอักเสบ เสมหะอุดตัน และถุงลมแฟบ เป็นต้น




                    ทำอย่างไร จึงหายใจได้เองอย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ ?                                                 

       ถ้ากล้ามเนื้อกระบังลมเพืยงแค่อ่อนแรง  เราสามารถฝึกให้แข็งแรงและคงทนต่อการอ่อนล้าได้ ด้วยวิธีง่ายๆ ดังต่อไปนี้
     - นอนหงาย เอาหมอนหนุนให้เข่างอและรู้สึกผ่อนคลาย
     - หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ จนสุด (หน้าท้องโป่งออก)
     - กลั้นหายใจชั่วครู่ (นับในใจ 1 ถึง 3)
     - ปล่อยลมหายใจออก (หน้าท้องยุบ)
     - หายใจเข้า-ออก ลึกๆ ช้าๆ ทำไปเรื่อยๆ

เมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น หายใจสะดวกขึ้น

     - นอนหงาย เอาถุงทรายขนาด 1-2 Kg หรือหนังสือเล่มใหญ่ๆ วางที่หน้าท้องใต้ต่อลิ้นปี่
     - พยายามหายใจเข้าลึกๆ เช่นเดิม แต่...จะรู้สึกหายใจเข้ายากมากกว่าเดิม เพราะมีถุงทรายต้านอยู่             
     - ฝึกทำบ่อยๆ เช่น 10 นาที/ทุกชั่วโมงในช่วงที่ตื่นนอน
   
      บางครั้งต้องฝึกใช้กล้ามเนื้อส่วนอื่นด้วยเช่น กล้ามเนื้อบริเวณคอ/บ่า ด้วยการฝึกยักไหล่และเกร็งกล้ามเนื้อคอเวลาหายใจเข้า เกร็งค้างไว้ชั่วครู่ แล้วปล่อยให้คลายเวลาหายใจออก




     บางครั้งอาจใช้อุปกรณ์เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการฝึก อุปกรณ์ดังกล่าวเป็นหลอดพลาสติคที่มีลูกลอย สูดหายใจเข้าให้ลูกลอยลอยขึ้น ยิ่งหายใจเข้าได้มาก ลูกลอยยิ่งลอยสูงขึ้น ลูกลอยจึงเป็นเสมือนเป้าล่อให้เห็นว่าทำได้มากน้อยเพียงใด อนึ่ง ผู้ที่ใช้อุปกรณ์นี้ควรมีกำลังหายใจดีพอควร ปอดปกติและไม่มีเสมหะ




                                    มีเสมหะมาก แต่ขับไม่ออก ทำอย่างไรดี ?                                                      
      การใช้แรงกระทำจากภายนอก เช่น กดที่ชายโครงหรือใต้ลิ้นปี่เวลาหายใจออก ช่วยเพิ่มแรงขับเสมหะได้ นอกจากนี้ ยังสามารถจัดท่านอนหรือนั่ง เพื่อช่วยถ่ายเทเสมหะออกจากหลอดลมได้ ทั้งนี้ขึ้นกับว่าเสมหะอยู่ในหลอดลมบริเวณใด ควรอยู่ในท่านั้นๆ นานประมาณ 10-20 นาที การเคาะที่ทรวงอกช่วยให้เสมหะหลุดออกมาง่ายขึ้น

      การจัดท่าเพื่อขับเสมหะออกจากหลอดลมและปอด

ก. ท่านั่ง เพื่อเทเสมหะออกจากปอดบน
ข. นอนตะแคงขวากึ่งหงายหรือคว่ำ เพื่อเทเสมหะออกจากปอดซ้ายช่วงกลาง
ค. นอนคว่ำ เพื่อเทเสมหะออกจากปอดด้านหลัง
ง. นอนคว่ำหัวต่ำ เพื่อเทเสมหะออกจากหลอดลมและปอดด้านหลัง

      อนึ่ง ผู้ที่ยังพอไอได้บ้าง ควรกระแอมเพื่อทำให้เกิดแรงสั่นในหลอดลม และกระตุ้นให้เสมหะที่เหนียวหลุดออกจากหลอดลมที่อยู่ลึกๆ กระแอมหลายๆ ครั้งจนรู้สึกว่าเสมหะขึ้นมาอยู่ที่คอแล้ว จึงไอออกมา การทำเช่นนี้ เป็นการทุ่นแรงและไม่ทำให้รู้สึกเหนื่อย ถ้าไอติดต่อกันมากจนรู้สึกหายใจไม่ได้ ให้ช่วยประครองศรีษะและลำตัวขึ้นจนกว่าจะหยุดไอ

      หลังการไอ ถ้ารู้สึกเหนื่อย ให้หายใจเข้าออกอย่างผ่อนคลาย ไม่ต้องรีบ ไม่ต้องเร่ง ปล่อยให้จังหวะการหายใจเป็นไปตามธรรมชาติ

      ในกรณีที่เจาะคอมีท่อช่วยหายใจ และมีเสมหะมาก ต้องใช้เครื่องช่่วยดูดเสมหะออก พยาบาลจะสอนให้ผู้ดูแลรู้จักวิธีการดูดเสมหะด้วยเครื่องอย่างถูกต้องและสะอาด

      อนึ่ง การดื่มน้ำให้พอเพียงกับความต้องการของร่างกาย ทำให้เสมหะเหนียว ถ้าเสมหะเหนียวมาก แพทย์จะพิจารณาให้ยาละลายเสมหะ หรือยาขยายหลอดลม เพื่อให้เสมหะออกง่ายขึ้นและหายใจสะดวกขึ้น