20/12/54

กายภาพบำบัด


      ผู้บาดเจ็บไขสันหลังเมื่อพ้นภาวะวิกฤตหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ข้อต่างๆ มีการเคลื่อนไหวได้มากขึ้น เพื่อเพิ่มสมรรถภาพและความสามารถให้กลับมาลุกนั่ง ยืน และเดินได้ตามลำดับ

      กายภาพบำบัด จึงได้ถูกนำมาใช้เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ ในขณะที่อยู่ที่โรงพยาบาลหรือที่บ้าน ผู้ป่วยและผู้ดูแลสามารถทำกายภาพบำบัดได้ โดยอาศัยการฝึก การเรียนรู้วิธีปฏิบัติและใช้อุปกรณ์ง่ายๆ ทั้งนี้ ทุกคนต้องรู้ว่า ความสำเร็จต้องอาศัยเวลา สภาพร่างกาย และจิตใจที่เอื้ออำนวย

      ผู้บาดเจ็บไขสันหลังบางคนอาจรู้สึกว่า สมรรถภาพหลังการบำบัดรักษาและฟื้นฟูมาระยะหนึ่งแล้ว ดีขึ้นน้อยกว่าที่คาดหวัง ทั้งนี้เป็นเพราะไขสันหลังได้รับบาดเจ็บมาก จึงไม่สามารถฟื้นตัวได้ กล้ามเนื้อยังคงอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต อีกทั้งผิวหนังไม่มีความรู้สึก ถ้าเป็นเช่นนี้ เราต้องอาศัยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม และเอื้ออำนวยต่อสภาพร่างกายที่เป็นอยู่ และอาจต้องอาศัยผู้ดูแลเป็นผู้ช่วยเหลือ



                                      เป้าหมายการทำกายภาพบำบัด มีอะไรบ้าง?                                            


      ในระยะแรก กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากๆ เป้าหมาย คือ


      - การหายใจที่มีประสิทธิภาพ โดยการฝึกหัดการหายใจ ช่วยขับและถ่ายเทเสมหะ


      - ป้องกัน ข้อติด โดยการจัดให้ข้อต่างๆ อยู่ในท่าที่เหมาะสม เช่น 
          1. เมื่อนอนหงายหรือนอนตะแคง กางข้อไหล่/แขนออก เหยียดข้อศอกและคว่ำฝ่ามือลง
          2. ใช้หมอนยันปลายเท้าให้ตั้งขึ้น หรือใช้ประกับประคองเท้าเพื่อ ไม่ให้ปลายเท้าตกลงและป้องกันการยึดติดของเอ็นร้อยหวาย
          3. ขยับข้อเป็นประจำทุกวัน ข้อละ 5-10 ครั้ง อย่างน้อย 2 ครั้ง/วัน เช้า-เย็น




      ในระยะฟื้นฟูสมรรถภาพ เป้าหมาย คือ


      - การลุกนั่ง ยืน ได้โดย ไม่หน้ามืด เป็นลม ดังนี้
          1. เอาศรีษะขึ้นทีละน้อย เวลานั่งหรือยืน
          2. ไม่อยู่ในท่านอนเกินความจำเป็น ปรับหัวเตียงให้สูงขึ้น หัดยืนบนเตียงที่ปรับยืนได้ 
          3. ใช้ผ้ายืดพันขาและท้อง เพื่อไม่ให้เลือดคั่งอยู่ตามขาและท้อง เวลานั่งหรือยืน
     
      - ข้อไม่ยึดติด ด้วยการยืดเอ็นและกล้ามเนื้อเป็นประจำ โดยเฉพาะถ้ากล้ามเนื้อเกร็ง 


      - กล้ามเนื้อมีกำลังมากขึ้นและคงทน ไม่อ่อนล้าง่าย ด้วยการพยายามเคลื่อนไหวข้อด้วยตนเอง ดังนี้
          1. ถ้ากำลังมีน้อย ขยับข้อโดยไม่มีแรงต้าน อาศัยนักกายภาพบำบัดหรือผู้ดูแลช่วยประคองให้ข้อเคลื่อนไหว
          2. เมื่อกำลังกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น จึงขยับข้อโดยมีแรงต้าน เช่น แรงต้านจากนักกายภาพหรือผู้ดูแล ตุ้มน้ำหนัก ยางยืดหรือสปริง เป็นต้น


      - การเคลื่อนย้านตัวบนเตียง เริี่มจาก
          1. หัดพลิก ตะแคงตัว
          2. หัดลุกจากนอนเป็นนั่ง และจากนั่งเป็นนอน 
      ในกรณีที่ยังใส่ประกับคอหรือลำตัว การฝึกหัดเคลื่อนย้ายตัวอาจทำไม่ได้เต็มที่ เมื่อถอดประกับออกแล้ว จึงฝึกได้เต็มที่
          
      - การทรงตัวมั่นคง เริ่มจาก
          1. ฝึกทรงตัวในท่านั่งห้อยขาข้างเตียง
          2. เคลื่อนไหวแขนพร้อมกับพยายามทรงตัวให้ได้
          3. ฝึกยืน โดยเริ่มจากการทรงตัวในราวคู่ ฝึกถ่ายเทน้ำหนักลงที่ขา เพื่อเตียมพร้อมสำหรับการเดิน
          4. ในกรณีที่ขาอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต จำเป็นต้องใส่ ประกับ (เบรส หรือ Brace) เพื่อช่วยให้เข่าเหยียดตรง ไม่ทรุดเวลายืน อีกทั้ง ต้องเพิ่มกำลังแขนและลำตัวให้แข็งแรงมากขึ้น เพื่อใช้ในการยันและเหวี่ยงลำตัวให้เคลื่อนไปทางด้านหน้า


      - การหัดเดิน เริ่มจาก
          1. หัดเดินในราวคู่ ด้วยการก้าวเดินทีละขา หรือเหวี่ยงตัวก้าวกระโดดไปข้างหน้า ให้ขาทั้ง 2 ข้างไปพร้อมๆ กัน
          2. ถ้ากำลังกล้ามเนื้อขาและแขนแข็งแรงพอสมควร จึงฝึกเดินโดยใช้ ไม้ค้ำยัน หรือ เครื่องช่วยพยุงเดิน


            การเดินอาจอาศัยพละกำลังมาก บางครั้งรู้สึกเหนื่อยเพียงแค่เดินระยะสั่นๆ บางครั้งต้องยอมรับว่า เราสามารถเดินภายในบ้านได้ แต่เมื่อออกไปนอกบ้าน ต้องใช้รถเข็นเพื่อให้เคลื่อนที่ไปไหนได้สะดวก รวดเร็ว และไม่เหนื่อย


          อนึ่ง ผู้บาดเจ็บไขสันหลังต้องรู้ว่า ในขณะฝึกเพื่อเพิ่มพละกำลัง และความคงทนของกล้ามเนื้อนั้น กล้ามเนื้ออาจได้รับบาดเจ็บเนื่องจากฝึกมากเกินกำลัง ทำให้รู้สึกเจ็บหรือปวดที่กล้ามเนื้อ และอาการเกร็งอาจเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงควรค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาหรือจำนวนครั้งของการฝึกทีละน้อย อย่าฝึกจนล้า ถ้าปวดหรือเจ็บมาก ควรบอกเพทย์ นักกายภาพบำบัด หรือ ผู้ดูแล อย่าฝืนหรือทนเจ็บโดยไม่จำเป็น




                               ทำกายภาพบำบัดที่บ้าน อุปกรณ์ที่จำเป็นมีอะไรบ้าง ?                                                     
      - ตุ้ม/ถุงน้ำหนัก อาจดัดแปลงทำเองโดยเย็บเป็นถุง แล้วหาทรายหรือเม็ดตะกั่ว/เหล็ก มาใส่
      - รอก เชือก หรือ ยางยืด ที่มีความยืดหยุ่น เช่น แถบยางในรถจักรยาน ผ้าขาวม้า
      - ราวคู่ ซึ่งอาจดัดแปลงทำจากไม้ไผ่ 2 ลำ 
      - ประกับขา  (เบรส หรือ Brace) อาจดัดแปลงทำจากกระบอกไม้ไผ่ หรือ ท่อเอสล่อน นำมาผ่าซึก กรุด้วยผ้าขนหนูเพื่อกันผิวหนังถูกกดครูด







ผู้บาดเจ็บไขสันหลัง
ต้อง
หมั่นฝึกฝน ทำกายภาพบำบัด
เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ
เพิ่มสมรรถภาพให้ร่างกาย