31/12/54

นั่งคุยกันก่อนครับ

 
            สืบเนื่องจากประสบการ์ณตรงของตัวเอง นับจากได้รับอุบัติเหตุ เมื่อ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๔  ทำให้ชีวิตได้แปรเปลี่ยน จากคนทั่วๆไปกลายมาเป็นคนพิการ กระดูกสันหลังหักกดทับไขสันหลัง หรือ ผู้บาดเจ็บไขสันหลัง ถึงจะผ่านระยะเวลาล่วงเลยมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังคงอยู่ในความทรงจำว่า มันไม่ง่ายเลยนะ ที่จะก้าวข้ามเส้นปัญหา อุปสรรคนานัปประการ นอกจากจะมีจิตใจที่เข้มแข็งแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุด จะต้องมีความรู้ด้วย แล้วเราจะหาความรู้นั้นได้จากที่ไหน? ผมหมายถึงความรู้เกี่ยวกับโรคที่ตัวเองประสบอยู่ เพื่อที่จะดูแลตัวเองหรือให้ผู้อื่นช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องถูกวิธี เป็นก้าวย่างไปสู่การฟื้นฟูสมรรถภาพของตนเอง ทั้งกายและใจ เพื่อที่จะกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณค่า
            ผมคิดไว้นานแล้วว่า ผมน่าจะทำประโยชน์อะไรให้กับสังคมบ้าง โดยเฉพาะบุคคลผู้บาดเจ็บไขสันหลัง รายใหม่ๆ ตัวผมเองเป็นบัณฑิตทางด้านกฎหมาย ไม่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์แม้แต่น้อย แต่จากประสบการ์ณตรงและความรู้ที่ได้จากคุณหมอหลายๆ ท่าน โดยเฉพาะจากหนังสือ "คู่มือสำหรับผู้ป่วย บาดเจ็บไขสันหลัง" รองศาสตราจาร์ย คุณหมอ อภิชนา โฆวินทะ ผู้เขียน สิ่งที่ผมจะบันทึกไว้ ส่วนใหญ่นำมาจากคู่มือดังกล่าว เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและญาติหรือบุคคลผู้ดูแลผู้ป่ว
           ขอกราบขอบพระคุณ คุณหมอทุกๆ ท่าน ที่ได้บำบัดรักษาแล้วให้ความรู้แก่ผม รวมทั้ง คุณหมอ อภิชนา โฆวินทะ ถึงจะไม่มีโอกาสได้พบปะท่านมาก่อน ความรู้ในหนังสือของท่าน ทำให้ผมมีวันนี้ กราบขอบพระคุณทุกๆ ท่านครับ.
           ป.ล.บันทึกไว้ตั้งแต่ 23 มีนาคม 2551 นำมาปัดฝุ่นใหม่ครับ

***บันทึกจากผู้เขียน

     ทั้งหมดมี 12 บทความ ทุกๆ บทความ ผู้เขียนจะแสดงความคิดเห็นส่วนตัว จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนไว้ใต้บทความทุกบทความ โดยจะเริ่มทยอยอัพเดทไปเรื่อยๆ ทีละบทความจนกว่าจะครบทุกบทความ ขอบคุณครับ. 

บาดเจ็บไขสันหลัง

          บาดเจ็บไขสันหลัง จากกระดูกสันหลังหักกดทับไขสันหลัง  มีคนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับบาดเจ็บไขสันหลัง ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุทางจราจร ตกจากที่สูง หรือถูกยิง ทำให้กระดูกสันหลังหักเคลื่อนกดทับไขสันหลัง บางคนเป็นโรคที่ไขสันหลัง ทำให้มีอาการ ชา อ่อนแรง อาจรุนแรงจนเป็น อัมพาต และกลายเป็นคนพิการทุพพลภาพ แต่ก็มีบางคนอาการดีขึ้น การรักษาและบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพที่เหมาะสม ช่วยให้คนเหล่านี้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ไม่มากก็น้อย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ

ไขสันหลัง และ กระดูกสันหลัง

                      ทำไมเมื่อไขสันหลังบาดเจ็บจึงมีอาการ ชา อ่อนแรง อัมพาต ?         


          ไขสันหลัง ประกอบด้วย ใยประสาท และ เซลล์ประสาท ที่เชื่อมต่อระหว่าง สมอง กับ ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ใยประสาทเปรียบเสมือน สายไฟ หรือ สายโทรศัพท์ ที่ติดต่อจากทางหนึ่งไปยังอีกปลายทางหนึ่ง เมื่อใดที่สายสัญญาณขาดหรือชำรุด การติดต่อจึงไม่เกิดขึ้น สั่งการหรือรับทราบข้อมูลกันไม่ได้
 
          เมื่อไขสันหลัง บาดเจ็บรุนแรง จึงไม่สามารถรับส่งข้อมูลจากแขน ขา อวัยวะต่างๆ ไปยัง สมอง ได้ หรือ สั่งการจาก สมอง ไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกายไม่ได้ เราเรียกอาการที่เกิดขึ้นนี้ว่า อัมพาต 


          ถ้าไขสันหลัง บาดเจ็บเล็กน้อย ยังสามารถส่งข้อมูลกันได้บ้าง อาจกระท่อนกระแท่น ไม่ชัดเจน การทำงานของอวัยวะต่างๆ ไม่สมบูรณ์ แขน ขา พอที่จะขยับได้บ้าง เราเรียกอาการที่เกิดขึ้นนี้ว่า อ่อนแรง
 
          การรับรู้ความรู้สึกจากผิวหนังได้บ้าง เราเรียกอาการที่เกิดขึ้นนี้ว่า ชา
          ไขสันหลัง เป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาท ที่มีความสำคัญต่อระบบทำงานของร่างกาย เป็นอย่างยิ่ง ธรรมชาติจึงสร้างให้อยู่ในโพรงกระดูกสันหลัง   ตั้งแต่ กระดูกสันหลังระดับต้นคอ ระดับอก ระดับเอว ระดับกระเบนเหน็บ ไล่ลงมาจนถึง ก้นกบ กระดูกสันหลังจึงเปรียบเสมือนเกราะกำบังให้ไขสันหลัง

          ถ้ากระดูกสันหลังได้รับการกระแทกอย่างรุนแรง กระดูกสันหลัง แตก หัก เคลื่อน ไขสันหลัง ที่อยู่ภายในโพรงกระดูกสันหลัง จึงได้รับบาดเจ็บและชอกช้ำ บางครั้งกระดูกสันหลังไม่มีการแตกเคลื่อน  แต่หมอนรองกระดูกแตกและกดไขสันหลัง ผู้เคราะห์ร้ายจึงมีอาการ ชา อ่อนแรง หรือ เป็นอัมพาต

                                         อาการอ่อนแรง อัมพาต มีกี่ลักษณะ?                                   


        1. พาราเพลเจีย Paraplegia ไขสันหลังระดับ อก/เอว ได้รับบาดเจ็บ ขาทั้ง 2 ข้าง หรือ ขาและลำตัว เป็นอัมพาต หรือ อ่อนแรง


        2. ควอดริเพลเจีย Quadriplegia ไขสันหลังระดับ คอ ได้รับบาดเจ็บ แขน ขา ทั้ง 2 ข้าง รวมทั้งลำตัว เป็นอัมพาต หรือ อ่อนแรง  ( เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เตตราเพลเจีย Tetraplegia )

        ผู้ป่วยบางคน มีเพียงพยาธิสภาพเฉพาะที่ส่วนปลายสุดของไขสันหลัง ที่ควบคุมการทำงานของหูรูด กระเพาะปัสสาวะ และอวัยวะเพศ ไม่มีอัมพาตหรืออ่อนแรง แต่จะสูญเสียการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ ถ้าเป็นผู้ชายจะมีปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ


                             การเยียวยา รักษา ฟื้นฟู ให้หายเป็นปกติ ได้หรือไม่ ?                         


          จนปัจจุบัน ยังไม่มีที่ใดในโลก ที่สามารถรักษา ไขสันหลังที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงกลับมาเป็นปกติได้ วิธีการที่ดีที่สุด คือ ผู้ป่วยต้องได้รับการ วินิจฉัย ดูแลรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพให้เร็วที่สุด ถ้าปล่อยให้มีอาการอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตแล้ว โอกาสฟื้นก็น้อยหรือไม่มีเลย



       
ไขสันหลังที่ได้รับบาดเจ็บนั้น ยังไม่มีทางรักษาให้หายเป็นปกติได้
เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ต้อง ยอมรับ มี ใจสู้ และ ไม่ย่อท้อต่อชีวิต
ความสำเร็จในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพจะทำให้
ชีวิตใหม่ กล้บมา มี คุณค่า และ คุณภาพ ได้อีกครั้ง



***ความเห็นส่วนตัวจากผู้เขียน

     การได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังของแต่ละคนนั้น  ถึงแม้ กระดูกสันหลังหักจะข้อหรือระดับเดียวกัน แต่ผลที่กระทบต่อร่างกายไม่เหมือนกันทั้งหมด เช่น กระดูกสันหลังระดับคอ ( C ) บางคนอาการหนักมาก ไม่สามารถใช้แขนและมือได้ แต่บางคนใช้แขนและมือได้ หรือถึงขนาดสามารถสั่งการขาได้ แต่ อ่อนแรง เนื่องมาจาก จุดที่ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บนั้น หนัก - เบา ไม่เท่ากัน บางคนไขสันหลังบาดเจ็บหนักมากถึงกับขาดไปเลยก็เป็นได้ บางคนแต่บาดเจ็บเล็กน้อย ผิว ผิว โอกาสฟื้นตัวจะสูงมาก

    การฟื้นตัวของไขสันหลัง ให้นึกถึง หญ้า ในสนามกีฬา เราเอาน้ำมันไปเทแล้วจุดไฟ หลังจากไฟดับ เราจะสังเกตุได้ว่า หญ้าจะตายแผ่ขยายออกเป็นวงกลม เมื่อเวลาผ่านไป หญ้าก็จะกลับฟื้นคืนมีชีวิตขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เริ่มจาก ส่วนปลายสุดจากจุดศูนย์กลาง เพราะได้รับผลกระทบน้อยกว่า ส่วนจุดศูนย์กลางอาจไม่สามารถฟื้นตัวได้เลย ไขสันหลัง ก็ฉันใดฉันนั้น บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ก็จะฟื้นตัวกลับคืนมาเองตามธรรมชาติ แต่ต้องอาศัยเวลามิใช่น้อย

    เวลาผ่านไป 11 ปี เผลอแผล็บเดียว ยอมรับว่า...ยังมีอีกหลายสิ่ง ที่ ยัง ไม่รู้ ยังมีอีกหลายอย่าง ที่ ยัง ไม่ได้ทำ ที่สำคัญที่สุด คือ จง พอใจ กับ สิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ในทุกๆ สิ่ง ขอบคุณครับ