23/12/54

ปวด บรรเทา ได้



      อาการปวด มีสาเหตุจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกายคนเรา ประสบการณ์ในอดีตของแต่ละคน ปรุงแต่งอาการปวด บางคนจึงทนปวดได้มาก แต่...บางคนทนปวดได้เพียงเล็กน้อย

      ผู้ที่ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ อาการปวดเกิดจาก ระบบประสาทที่ผิดปกติ หรือเป็นอาการที่เกี่ยวเนื่องกับระบบประสาทที่ผิดปกติ ทำให้ระบบอื่นพลอยผิดปกติไปด้วย เช่น

      - ปวดศรีษะเพราะความดันเลือดสูงขึ้น
      - ปวดท้องเพราะมีกรดหลั่งในกระเพาะอาหารมากขึ้น
      - ปวดข้อเนื่องจากลงน้ำหนักที่ข้อนั้นมากเกินไป
      - ปวดกล้ามเนื้อเพราะกล้ามเนื้อปวดล้าจากการใช้งานที่ไม่สมดุล
      - ปวดเจ็บที่ผิวหนังเพราะรากประสาทถูกรบกวน เป็นต้น

      ทั้งหมด ที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าได้รับการวินิจฉัย บำบัดรักษา อาการปวดจะทะเลาและควบคุมได้



                                  ทำไมจึงมีอาการปวดศรีษะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว?                                             


       คนทั่วๆ ไป ก็ปวดศรีษะ อาการปวดศรีษะเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เครียด ใช้สายตามากเกินไป เป็นต้น แต่สำหรับผู้บาดเจ็บไขสันหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบาดเจ็บระดับ อก หรือ คอ ระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการหดขยายหลอดเลือดในร่างกายทำงานผิดปกติ ดังนั้น เมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้น เช่น กระเพาะปัสสาวะขยายตัวหรือหดเกร็งตัว ท้องผูก กระเพาะปัสสาวะอักเสบ มีแผลที่ผิวหนัง โรคกระเพาะ มดลูกบีบตัวเวลามีประจำเดือน เป็นต้น จึงทำให้หลอดเลือด(ในส่วนที่เป็นอัมพาตหรืออ่อนแรง)หดตัว ความดันเลือดจึงสูงขึ้นอย่างฉับพลัน

      ระบบประสาทพยายามปรับตัวเองเพื่อทำให้ความดันเลือดลดลง โดยสังเกตุได้จากหลอดเลือดที่ใบหน้าขยายตัว หน้าจึงแดง และหัวใจเต้นช้าลง แต่ความดันเลือดคงสูงอยู่ จนกว่าสิงเร้านั้นจะถูกกำจัดไป

      ภาวะนี้มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า ออโดโนมิค ดิสรีเฟล็กเชีย ผู้ป่วยจะปวดศรีษะ ความดันเลือดสูงขึ้นผิดปกติ (สูงกว่า 140/90) หน้าแดง และเหงื่อออกที่ใบหน้าและแขน ควรแก้ปั้ญหาเบื้องต้น ดังนี้

      - ยกหรือหนุนศรีษะขึ้นสูง
      - หาและกำจัดสาเหตุที่เป็นตัวกระตุ้น เช่น สวนปัสสาวะ ค่อยๆ ล้วงหรือสวนอุจจาระออก อาการปวดศรีษะจึงทะเลา และความดันเลือดลดลงเป็นปกติ ถ้าไม่ดีขึ้น ต้องกินยาลดความดัน

      อาการปวดศรีษะที่เกิดขึ้นเนื่องจากภาวะนี้ป้องกัน และทำให้ทุเลาได้ แต่ถ้าอาการเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ ต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชียวชาญเพื่อการหาสาเหตุและรักษาที่เหมาะสมต่อไป



                                 ปวดที่ข้อไหล่ บ่า และ สบัก ทำอย่างไร จึงจะทุเลา ?                                                               

       อาการปวดที่ ข้อไหล่ บ่า และ สะบัก มักมีสาเหตุจากข้อและกล้ามเนื้อบริเวณนั้นนั่นเอง เช่น นอนตะแคงกดทับที่หัวไหล่เป็นเวลานาน เป็นต้น

      การจัดท่านอนที่เหมาะสม เช่น นอนตะแคง 30-45 องศา กางแขนออก 90 องศา ช่วยป้องกันและทะเบาอาการปวดได้ นอกจากนี้ เวลานั่ง ควรมีหมอนหรือที่รองแขนหนุนไม่ให้ข้อไหล่หลุดหรือปลายแขนตก

      บางครั้งอาการปวดเกิดจากการอักเสบของเอ็นรอบๆ ข้อไหล่ ถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน อาจทำให้ไหล่ติดและเจ็บเวลาขยับ  การกินยาต้านการอักเสบ หรือรักษาด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด ช่วยลดอาการอักเสบได้

      ส่วนอาการปวดกล้ามเนื้อเนื่องจาก อาการเกร็งหรือล้าจากการใช้งานนั้น การนวดเบาๆ ใช้ความร้อนประคบที่บริเวณไหล่ บ่าและสะบัก การยืดกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าว ก็ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวและอาการปวดบรรเทาลง โดยไม่จำเป็นต้องกินยาแก้ปวดที่อาจระคายกระเพาะและทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหาร ถ้าผิวหนังชาไม่มีความรู้สึก ควรหลีกเลี่ยงการประคบด้วยของร้อน เมื่อใช้ความร้อนประคบต้องระมัดระวัง และตรวจดูผิวหนังทุก 5-10 นาที ถ้าผิวหนังแดงมากผิดปกติ ต้องเอาที่ประคบออกทันที มิฉะนั้น ผิวหนังจะพองเป็นแผล

      ในกรณีที่กระดูกต้นคอหักเคลื่อน อาการปวดที่บริเวณนี้อาจเกิดจาก เส้นประสาทถูกรบกวน การจัดกระดูกเข้าที่และใส่ประกับประคองคอและศรีษะ จะทำให้อาการปวดทุเลาลงได้


                                    ทำอย่างไรจึงทุเลาอาการปวดที่บริเวณกระดูกสันหลัง ?                                           



       
เมื่อกระดูกสังหลังหัก เส้นประสาท พังผืด และกล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆ บริเวณนั้นมักชอกช้ำและอักเสบ ทำให้เจ็บและปวดจากบาดแผลดังกล่าว เมื่อกระดูกติด พังผืดสมาน กล้ามเนื้อฟื้นตัว อาการเจ็บปวดก็ค่อยๆ ทุเลา อาจกินเวลานานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่ได้รับในตอนแรก การผ่าตัดตรึงกระดูกให้เข้าที่และยาจะช่วยทุเลาอาการปวดได้

      นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นๆ เช่น ใช้ประกับประคับประคองกระดูกสันหลัง เพื่อไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหวที่อาจทำให้ปวดมากขึ้น กระตุ้นด้วยไฟฟ้าอย่างอ่อนๆ ที่ผิวหนัง และฝังเข็มเพื่อลดปวด เป็นต้น

      ในระยะยาว อาการปวดหลังมักเกิดจากการเสื่อมของกระดูกสันหลัง และหมอนรองกระดูกสันหลังเนื่องจากการนั่งนาน และการทำงานของกล้ามเนื้อลำตัวที่ไม่สมดุล ซึ่งเกิดได้กับคนปกติเช่นกัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัย คำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสม เพื่อบรรเทาอาการปวดและชะลอการเสื่อมของกระดูกสันหลัง





                              ทำไม บริเวณที่ไม่มีความรู้สึกหรือที่เป็นอัมพาต จึงปวดเจ็บ ?                                                  


       หลายคนแปลกใจว่า ทำไมผิวหนังที่ชา ไม่มีความรู้สึก จึง ปวดเจ็บ อาการดังกล่าวมักเกิดจากความผิดปกติที่ไขสันหลัง ซึ่งได้รับบาดเจ็บ บางคนเจ็บผิวๆ บางคนปวดลึกๆ ไม่แน่นอน ไม่เป็นเวลา ถ้าไม่นึกถึงอาการดังกล่าว ก็อาจลืมอาการนั้นไปชั่วขณะ ดังนั้น จึงแนะนำให้ผู้ที่มีอาการปวดประเภทนี้ อย่าอยู่เฉย ให้มีงานอดิเรกทำ เล็กๆ น้อยๆ ตลอดเวลา หรือหากิจกรรมทำยามว่าง


      บางคนมีอาการปวดเกิดขึ้นพร้อมๆ กับอาการเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อ เหมือนปวดตะคริว อาการปวดประเภทนี้ ถ้าอาการเกร็งลดน้อยลงหรือควบคุมได้ อาการปวดก็ทะเลาไปด้วย แพทย์อาจจำเป็นต้องให้ยาที่ช่วยควบคุมและลดอาการปวดที่เกิดขึ้นจากเส้นประสาท และระบบประสาทที่ผิดปกติ






                                 ปวดชาที่มือ เกิดขึ้นจากอะไร รักษาให้หายได้หรือไม่ ?                                                  


        หลายคนต้องใช้มือทำทุกอย่าง เพื่อชดเชยส่วนที่บกพร่องไป เช่น เคลื่่อนย้ายตัว หมุนล้อนั่ง ใช้ไม้ค้ำยันเพื่อช่วยในการเดิน เป็นต้น การใช้มือติดต่อกันนานๆ และใช้มือรับน้ำหนักตัว อาจทำให้เส้นประสาทที่ผ่านเข้าไปเลี้ยงบริเวณมืออักเสบ และมีอาการปวดชามือในเวลาต่อมา


      การรักษาให้อาการดังกล่าวทุเลาลง หรือกลับมาเป็นปกตินั้นไม่ยาก เบื้องต้นต้องรู้จักใช้เครื่องทุ่นแรง และไม่ใช้มือรับน้ำหนักหรือนานเกินความจำเป็น ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และรับคำแนะนำรวมทั้งการรักษาอื่นที่เหมาะสมต่อไป






อาการปวดเจ็บทุเลาได้เมื่อได้รับการวินิจฉัยและบำบัดรักษาที่เหมาะสม
บางครั้งต้องเรียนรู้ที่จะเอาชนะอาการปวดเจ็บ
แต่บางครั้งก็ต้องยอมรับที่จะอยู่กับมัน