28/12/54

กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก




      ไขสันหลังที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่สามารถนำกระแสประสาทสั่งการ จากสมองมาถึงเซลล์ประสาทสั่งการ และไม่สามารถรับความรู้สึกจากส่วนต่างๆ ไปรายงานยังสมองได้ กล้ามเนื้อจึงมักเกร็งกระตุกเอง ควบคุมไม่ได้


   บางครั้ง แขน ขา เกร็งเหยียด บางครั้งเกร็งงอ ไม่แน่นอน กล้ามเนื้อและเอ็นจึงหดยึด ข้อเคลื่อนไหวได้น้อยลง และติดยึดในเวลาต่อมา อาการเกร็งอาจเกิดต่อเนื่อง ขัดขวางการทำงาน ทำให้นอนไม่หลับ บางครั้งมีการอาการเจ็บหรือปวดกล้ามเนื้อร่วมด้วย ถ้ากล้ามเนื้อบริเวณทรวงอกเกร็ง การหายใจจะลำบากและอึดอัด






  
                   สิ่งเร้าที่กระตุ้นการเกร็ง ได้แก่


      - การเปลี่ยนอิริยาบทหลังจากอยู่ท่าใดท่าหนึ่งนานๆ
      - ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ทางเดินหายใจ
      - มีแผลกดทับ เล็บขบ
      - โรคกระเพาะ ท้องผูก ริดสีดวงทวาร
      - ระหว่างมีประจำเดือน

      นอกจากนี้ สิ่งเร้าภายนอก เช่น อากาศหนาวเย็น ก็เป็นสาเหตุุทำให้อาการเกร็งมากขึ้น บางครั้งการตั้งใจที่จะบังคับให้ร่างกายเคลื่อนไหว ก็ทำให้เกิดการเกร็งในส่วนนั้นและส่วนอื่น ๆ

      อนึ่ง แต่ละคนมีอาการเกร็งกระตุกมากน้อยต่างกัน เป็นที่น่าสังเกตุว่า ผู้ที่ยังมีความรู้สึกในส่วนที่อ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต หรือ มีเพียงอาการอ่อนแรง มีอาการเกร็งเกิดขึ้นมากกว่าผู้ที่เป็น อัมพาต



                                 มียาที่ช่วยควบคุมหรือลดอาการเกร็งหรือไม่?                                                    

      ปัจจุบันมียาหลายขนานที่กินแล้วช่วยควบคุมอาการเกร็งกระตุกได้ แพทย์จะพิจารณาใช้ก็ต่อเมื่อการการเกร็งกระตุกนั้น ค่อนข้างรุนแรงและรบกวนการดำเนินชีวิตปรจำวัน

      ยาควบคุมอาการเกร็งกระตุกที่มีใช้บ้านเรา ได้แก่
      - ยาแวเลี่ยม (ชื่อสามัญ ไดอะซีแปม)
      - ยาเซอร์ดาลุด (ชื่อสามัญ ทิชานิดีน)
      - ยาไลโอลีซัล (ชื่อสามัญ บาโคลเฟน)

      บางครั้งต้องใช้ยาหลายขนานพร้อมกันเพื่อให้ได้ผลเต็มที่ แต่ถ้ากินยาเกินขนาด กล้ามเนื้อจะอ่อนแรงและรู้สึกอ่อนเปลี้ย ส่วนผลข้างเคียงของยา ได้แก่ ง่วงนอน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ประสิทธิภาพการหายใจลดลง และอาจมีผลเสียต่อตับและไต ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพือความปลอดภัย

      ส่วนยาทาภายนอก ที่ใช้ทาถูกนวดและให้ความร้อนนั้น มักช่วยทำให้อาการเกร็งกระตุกลดลงได้บ้าง เราสามารถหาซื้อยาทาภายนอกได้ตามร้านขายยาทั่วไป ควรระวัง เมื่อใช้ติดต่อกันนานๆ อาจทำให้ผิวหนังแห้ง และแตกเป็นแผลได้

      ข้อสำคัญ ต้องพิจารณาหาสาเหตุที่เร้า หรือกระตุ้นให้เกิดการเกร็งกระตุก และกำจัดสาเหตุเพื่อลดอาการเกร็ง เช่น

      - ปัสสาวะติดเชื้อ ก็ต้องกินยาปฏิชีวนะ ฆ่าเชื้อ
      - ท้องผูก ก็ต้องช่วยระบายอาจจาระออก
      - มีแผลติดเชื้อ ต้องรักษาแผบให้หาย เป็นต้น


                ควรปฏิบัติอย่างไร เพื่อควบคุมอาการเกร็งกระตุกให้ได้ผลมากขึ้น?                  


      อาการเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อ ซึ่งสมองไม่สามารถควบคุมได้ แต่เราสามารถควบคุมได้ โดยอาศัยวิธีและหลักการกายภาพบำบัด ดังนี้

     * ใช้ความร้อนหรือความเย็น ประคบ ที่กล้ามเนื้อ

      - ถุ้าความรู้สึกที่ผิดหนังผิดปกติ ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนประคบ และใช้ความเย็นประคบหรือใช้ยาทาที่ทำให้รู้สึกร้อนที่ผิวหนังแทน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและป้องกันผิวหนังพองไหม้ การประคบแต่ละครั้งกินเวลาประมาณ 20-30 นาที และทุกๆ 5 นาที ควรสำรวจดูผิวหนัง อย่าปล่อยให้ผิวหนังพองไหม้

    *  ยืดเอ็นและกล้ามเนื้อ

      - ทำช้าๆ ค่อยๆ ยืด และคงไว้เมื่อถึงจุดที่ตึงประมาณ 10-30 วินาที ทำบ่อยๆ คราวละ 5-10 ครั้ง วันละ 3-4 รอบ
      - เราสามารถยืดกล้ามเนื้อได้ด้วยตนเองหรือให้ผู้ดูแลช่วย
      - กล้ามเนื้อและเอ็นที่ควรยืด ได้แก่ กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง กล้ามเนื้อต้นขาด้านใน กล้ามเนื้อน่องและเอ็นร้อยหวาย

   *  ใช้ประกับหรืออุปกรณ์ดาม หรือจัดท่านอนท่านั่งให้เหมาะสม

      - เพื่อให้กล้ามเนื้อและข้ออยู่ในท่ายืด ป้องกันการหดยึด
      - เมื่อใช้ประกับหรืออุปกรณ์ดาม ต้องระวังการกดที่ผิวหนังและทำให้เกิดแผลกดทับ ดังนั้น ควรเริ่มใช้จากระยะเวลาสั้นๆ 10-20 วินาที เมื่อผิวหนังทนได้จึงเพิ่มระยะเวลาใช้ให้นานขึ้น

   *  การยืนลงน้ำหนักที่ขาทั้ง 2 ข้าง ช่วยลดอาการเกร็งได้บ้าง

      - ถ้ากล้ามเนื้อขาเป็นอัมพาตหรืออ่อนแรง ต้องใช้ประกับช่วยเพื่อให้ขาเหยียดตรง และป้องกันการเกร็งงอที่ข้อเข่า

    *  หลีกเลี่ยงการออกกำลังต้านน้ำหนักหรือแรงต้านมากๆ เพราะมักกระตุ้นให้เกร็งมากขึ้น

    *  ทำจิตใจให้ผ่อนคลอย ไม่เครียด และรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง


                                     ยังมีวิธีการอื่นใดที่ช่วยลดอาการเกร็งได้อีก ?                                             

      - การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อที่เกร็ง ที่เส้นประสาท หรือเข้าในเยื่อหุ้มไขสันหลัง ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวได้ชั่วคราว
      - การผ่าตัดยึดเอ็นกล้ามเนื้อที่เกร็งช่วยลดการเกร็งและแก้ปัญหาข้อยึดติด หลังผ่าตัดต้องเข้าเฝือกหรือใส่ประกับเพือไม่ให้เกิดการหดยึดซ้ำ
      - การตัดเส้นประสาทก็เป็นอีกหนทางที่ช่วยลดหรือระงับการเกร็งได้ ทำให้เกิดอาการอ่อนแรงหรืออัมพาตของกล้ามเนื้อและหมดความรู้สึกที่ผิวหนังอย่างถาวร

      ดังนั้น ควรคำนึงถึงผลดีและผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ก่อนตัดสินใจ ใช้วิธีใดวิธีหนึ่งที่กล่าวมานี้




                                       มีสาเหตุอื่นอะไรบ้าง ที่ทำให้ข้อติด ?                                                                                      

      ถ้าไม่บริหารข้ออย่างสม่ำเสมอ กล้ามเนื้อเกร็งและเอ็นจะหดยึด เป็นเหตุให้ข้อติด ตำแหน่งที่เกิดบ่อยได้แก่

      - กล้ามเนื้อน่องและเอ็นร้อยหลายหดยึด ปลายเท้าจิกงุ้มลง
      - กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังหดยึด ข้อเข่าติดในท่างอ
      - กล้ามเนื้อต้นขาด้านในหดยึด กางต้นขาได้ยากลำบาก
      - กล้ามเนื้อที่ช่วยเหยียดนิ้วหดยึด นิ้วมือเหยียดตรง กำมือไม่ได้
      - กล้ามเนื้อข้อมือหดยึด ข้อมืองอพับ ติดแข็ง กระดกไม่ได้
      - กล้ามเนื้อต้นแขนด้านหน้าหดยึด ข้อศอกติดในท่างอ




                                สาเหตุที่เร่งให้ข้อติดยึดง่ายและเร็วขึ้น ได้แก่                                                     
      - ในขณะนอนหรือนั่ง ข้ออยู่ในท่าที่ทำให้กล้ามเนื้อและเอ็นหดยึด เช่น แขนอยู่แนบลำตัวทำให้ไหล่ติด ข้อศอกอยู่ในท่างอทำให้เหยียดข้อศอกได้ไม่ตรง นิ้วมืออยู่ในท่าเหยียดทำให้กำมือไม่ได้ นั่งนานทำให้ข้อเข่าและตะโพกงอติด ปล่อยให้ปลายเท้าตกทำให้ข้อเท้าติด กระดกไม่ขึ้น เป็นต้น
      - การบวน เช่น ข้อ มือบวมทำให้ข้อนิ้วติด
      - กล้ามเนื้อเอ็นฉีกขาด ทำให้เกิดพังผืดที่หดยึดรอบๆ ข้อ
      - บางครั้งมีแคลเซียมแทรกในเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อ ทำให้ข้อยึดติดแข็งมักเกิดที่บริเวณข้อตะโพก ข้อเข่า ข้อไหล่ เป็นต้น
      - มีแผลกดทับ





หลีกเลี่ยงสาเหตุ ป้องกันภาวะแทรกซ้อน
บริหารข้อ ยืดเอ็นและกล้ามเนื้อเป็นประจำ
ช่วยลดเกร็งและป้องกันข้อติดยึด