20/12/54

กิจกรรมบำบัด


                                        กิจกรรมบำบัด และ การปรับสภาพแวดล้อม                                             
      กิจกรรมบำบัด เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ทำให้ผู้บาดเจ็บไขสันหลังที่สภาพร่างกายบกพร่อง และความสามารถน้อยลง ให้กลับมามีความสามารถอีกครั้ง

      เป้าหมาย คือ ให้สามารถทำ กิจกรรม/กิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้ด้วยตนเอง อาจต้องใช้อุปกรณ์ช่วย และ การปรับสภาพแวดล้อม ให้เหมาะสม กับสภาพและความสามารถของแต่ละบุคคล


                                            กิจวัตรประจำวันที่สำคัญ มีอะไรบ้าง?                                                                 
      - พลิกตัว เคลื่อนย้ายตัว ลุกออกจากเตียง ยืน และ เดิน
      - ทำความสะอาดร่างกาย ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ ล้างก้น
      - แต่งกาย ถอด-ใส่ เสื้อ กางเกง ถุงเท้า รองเท้า
      - ความสวยงาม หวีผม โกนหนวด แต่งหน้า ทาปาก
      - กินอาหาร ดื่มน้ำ
      - ขับถ่าย อุจจาระ ปัสสาวะ


      เหล่านี้ล้วนเป็นกิจวัตรส่วนตัว ประจำวันที่ผู้บาดเจ็บไขสันหลังทุกคนต้องทำ นอกจากนี้บางคนยังต้องทำงานบ้าน เช่น ล้างจาน กวาดบ้าน ถูบ้าน ซักรีดเสื้อผ้า อีกหลายคนต้องทำงาน เข้าสังคม ต้องขีดเขียนหนังสือ ขับรถ จับจ่ายซื้อของ


      ดังนั้น เมื่อผู้บาดเจ็บไขสันหลังสภาพร่างกายบกพร่อง ไม่สามารถควบคุมให้มีการเคลื่อนไหวได้ตามที่ต้องการ การทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ที่เคยทำได้ง่ายๆ ก็ทำไม่ได้ บางครั้งทำได้แต่ลำบากและใช้เวลามาก


      นักกิจกรรมบำบัด หรือ นักอาชีวบำบัด  จะเป็นผู้ฝึกและให้คำชี้แนะเกี่ยวกับการฝึกทำกิจวัตรประจำวัน สภาพร่างกายและจิตใจเป็นตัวบ่งชี้ว่า จะทำได้มากน้อยเพียงใดหลังจากได้รับการฝึกฝนแล้ว เมื่อทำได้แล้วควรทำเป็นประจำให้เกิดความชำนาญ




                            มือ อ่อนแรง จะลุกนั่งและทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างไร?                                                 
กำลังแขนและมืออ่อนแรง


      - ฝึกกำลังกล่ามเนื้อที่ช่วยงอศอกให้แข็งแรง
      - ใช้บันไดเชือกหรือห่วง แขนคล้องที่บันได/ห่วง งอข้อศอก ผงกศรีษะขึ้น ลำตัวจะถูกดึงขึ้น แล้วเหยียดแขนอีกข้างลงเพื่อยันลำตัว ให้ทรงอยู่ในท่านั่ง
      - อาศัยผู้ดูแลช่วยประคองตัวขึ้น ถ้ากำลังมีไม่พอเพียง


กำลังแขนมาก แต่ มือ อ่อนแรง

      - ฝึกกล้ามเนื้อแขนให้มีกำลัง เช่น กล้ามเนื้อที่ช่วยเหยียดข้อศอก และกล้ามเนื้อหัวไหล่ที่ช่วยดันต้นแขนไปทางด้านหลัง
      - พลิกตะแคงตัว ดึงขาทั้งสองข้างให้งอ ถ้าเป็นไปได้ หย่อนขาลงข้างเตียง เพราะจะทำให้ลุกได้ง่ายขึ้น
      - งอแขนด้านที่ตะแคงทับ ดันแขนและศอกลงกับเตียง แล้วเหยียดแขนข้อศอกออกให้ตรง ลำตัวจะถูกยันขึ้นมา

กล้ามเนื้อลำตัวแข็งแรง แต่กล้ามเนื้อแขนอ่อนแรง

      - สามารถลุกขึ้นนั่งตรงๆ โดยใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง ไม่ต้องใช้แรงแขน

กล้ามเนื้อขาแข็งแรง แต่กล้ามเนื้อแขนและลำตัวอ่อนแรง

      - ฝึกกล้ามเนื้อที่ช่วยงอข้อตะโพกให้แข็งแรง

      - ตรึงต้นขาไว้

      - เมื่อเกร็งกล้ามเนื้อที่ช่วยงอข้อตะโพก แรงหดตัวของกล้ามเนื้อ อาจทำให้ลำตัวถูกยกขึ้นได้

      - ถ้ากำลังไม่พอ ต้องอาศัยผู้ดูแลช่วยประคองตัวขึ้นนั่ง



                       ทำอย่างไรจึงจะเคลื่อนตัวบนเตียงนอนหรือพื้นได้สะดวก ?                                        

      เมื่อผู้บาดเจ็บไขสันหลังลุกขึ้นนั่งได้แล้ว  เราต้องเรียนรู้ที่จะขยับขเยื้อน เคลื่อนย้ายตัวไปมาทีละเล็กทีละน้อยบนเตียงหรือพื้นที่นั่งอยู่  ไม่ลากหรือไถตัวกับพื้นเพราะจะทำให้เกิดแผลที่ก้นและตะโพกได้ง่าย

เมื่อขาอ่อนแรง แต่ลำตัวและแขนยังแข็งแรง

      - ผู้บาดเจ็บไขสันหลังต้องฝึกกล้ามเนื้อที่ช่วยเหยียดข้อศอก และกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อไหล่และสะบักให้แข็งแรง เพื่อช่วยให้การเคลื่อนย้ายตัวสะดวกขึ้น

      - ใช้แขนและมือยันพื้น ยกลำตัวขึ้นโดยการเหยียดข้อศอกให้ตรง เพื่อให้ก้นลอยพ้นพื้น แล้วจึงขยับตัวไปทีละน้อย

      - บางคนอาจใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ล้อเลื่อน  เพื่อทำให้เคลื่อนที่ไปไหน มาไหนบนบ้านได้ไม่ต้องใช้รถเข็น

เมื่อแขนมีแรง แต่ช่วงแขนสั้น


      - บางครั้งผู้บาดเจ็บไขสันหลังต้องใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น แท่นไม้ ที่ใช้จับยันกับพื้น เมื่อเหยียดข้อศอก ก็ทำให้ก้นลอยพ้นพื้น และตัวยกขึ้น

      - ในกรณีที่ไม่มีอุปกรณ์ช่วย แต่กล้ามเนื้อข้อมือแข็งแรง สามารถยันตัวขึ้นโดยตั้งข้อมือและฝ่ามือให้ตรง ลงน้ำหนักที่ด้านหลังนิ้วมืออยู่ในท่าเหยียด การทำเช่นนี้ทำให้ช่วงแขนยาวขึ้นและช่วยทำให้ก้นลอยเวลายกเคลื่อนย้ายตัว

      อนึ่ง กล้ามเนื้อแขน ลำตัว และขา อ่อนแรง ต้องอาศัยผู้อื่นช่วยยกและย้ายตัว


                                                ทำอย่างไร จะสวมเสื้อผ้าเองได้ ?                                                         

ถ้าการทรงตัวในท่านั่งไม่ดี แต่แขนและมือมีแรง

      - ให้ผู้บาดเจ็บไขสันหลังสวมใส่เสื้อผ้าในท่านั่งพิงบนรถเข็น หรือบนเตียง
      - ฝึกสวมเสื้อผ่าหน้า เสื้อยืดสวมหัวคอกว้าง กางเกงตัวโตๆ ที่ขอบเป็นยางยืด

ถ้ามือไม่มีแรงหยิบจับ

      - อาศัยอุปกรณ์ช่วยในการติดกระดุม
      - เปลี่ยนกระดุมเป็นซืปและมีห่วงเชือกคล้องติดกับซิปเพื่อให้รูดซิปปิด-เปิดง่าย โดยเอานิ้วมือคล้องกับห่วง


                                          ถ้ามือไม่มีแรง จะกินข้าวเองได้อย่างไร ?                                                  

      การกินดื่มเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต ผู้บาดเจ็บไขสันหลังส่วนใหญ่อยากกินเอง ไม่ต้องให้ใครมาป้อน อุปกรณ์ที่ทำให้ช้อนถูกยึดติดกับฝ่ามือร่วมกับการดัดด้ามช้อน ทำให้ตักอาหารใส่ปากได้สะดวกขึ้น การเสริมด้ามช้อนให้ใหญ่ขึ้น ก็ทำให้จับช้อนได้ดีขึ้น ส่วนการดื่มนั้นควรใช้ถ้วยที่มีหู



                                                ทำอย่างไร จึงจะอาบน้ำได้เอง ?                                                                     
      ก่อนอื่นผู้บาดเจ็บไขสันหลังต้องรู้ว่า รถเข็นทั่วไปเป็นสนิมได้ ควรย้ายตัวเองจากรถเข็นไปยังเก้าอี้ หรือม้าพลาสติกที่ตั้งอยู่ในห้องน้ำ อาศัยห่วงที่ติดอยู่เหนือโถส้วม แล้วใช้แขนเกี่ยวที่ห่วงเพื่อยกตัวออกจากรถเข็นแล้วย้ายตัวไปที่โถส้วม

      ถ้าทรงตัวได้ดี แนะนำผู้บาดเจ็บไขสันหลังนั่งอาบน้ำบนโถส้วม(แบบซักโครก) ติดตั้งฝักบัวไว้ใกล้ๆ โถส้วม ควรใช้ก๊อกชนิดก้านโยกเพื่อสะดวกในการเปิด-ปิดวาล์วน้ำได้เอง

      ในกรณีที่มือไม่มีแรงกำ เอาสบู่ใส่ถุงผ้าตาข่ายที่มีสายยาว เพื่อใช้คล้องไว้กับคอเวลาถูสบู่ กันสบู่ลื่นหล่น เมื่อเสร็จก็เอาถุงสบู่ดังกล่าวออกไปคล้องไว้กับก๊อกน้ำ

      ส่วนการชำระล้างหลังถ่ายนั้นก็เช่นเดียวกัน ต้องรู้จักใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ใช้สายชำระหรือสายฝักบัวฉีดน้ำล้างก้น ปัจจุบันมีการติดตั้งหัวฉีดน้ำที่โถส้วม แค่กดปุ่มน้ำก็ถูกพ่นออกมาชำระล้างก้น

ไม่ต้องท้อใจ ถ้าฝึกแล้ว ยังทำเองไม่ได้
การพยายามทำเองทุกอย่าง บางครั้งก็เป็นไปไม่ได้
คงต้องยอมรับว่า...กิจกรรมบางอย่างต้องพึ่งผู้อื่น
ขอเพียงให้มีสิทธิตัดสินใจเองว่า จะทำอะไร เมื่อไร อย่างไร ก็พอ