15/12/54

สิทธิและสวัสดิการคนพิการ


      นิยามของคำว่า “สิทธิ” (Right) และ “สวัสดิการ” (Welfare) ได้มีผู้ให้ความหมายแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม นิยามซึ่งเป็นที่เข้าใจกันแพร่หลาย คือ สิทธิ หมายถึง อำนาจที่จะกระทำการใดๆ ได้อย่างอิสระ โดยได้รับการรับรองจากกฎหมาย หรือประโยชน์ (interest) ของบุคคลที่กฎหมายรับรอง (recognized)   และคุ้มครอง (protected)  สวัสดิการ  หมายถึง การมุ่งให้เกิดการกินดีอยู่ดีของบุคคลหรือกลุ่มสวัสดิการทั่วไปของชุมชนหรือสังคม ถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดให้มีขึ้น เพื่อประโยชน์ร่วมกันของส่วนรวม

        สิทธิและสวัสดิการของคนพิการซึ่งระบุในกฎหมายไทยและนโยบายของรัฐ 
จำแนกเป็น ๒ ลักษณะ ได้แก่ 
๑) สิทธิของชนชาวไทยทั่วไป รวมถึงคนพิการ
๒) สิทธิที่ระบุเป็นของคนพิการโดยเฉพาะ

       ในการศึกษาเรื่องการคุ้มครองสิทธิ และสวัสดิการของคนพิการ จึงได้รวบรวมประเด็นสำคัญทั้ง ๒ ลักษณะ จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ  และอนุบัญญัติรวม ๓๔ ฉบับ ทั้งนี้ ได้จำแนกสิทธิและสวัสดิการของคนพิการเป็น   สิทธิ และ สวัสดิการทั่วไป  รวมถึงสิทธิและสวัสดิการด้านต่างๆ รวม ๔ ด้าน  ได้แก่  ด้านสุขภาพ การศึกษา สังคม และอาชีพ

๑. สิทธิของคนพิการ

๑.๑  สิทธิพลเมืองทั่วไป - ประเด็นสำคัญประกอบด้วย เรื่อง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียม การขจัดการเลือกปฏิบัติ การร้องเรียน และคดีความ รวมถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้

๑.๑.๑ ได้รับความคุ้มครองในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยไม่คำนึงถึง เพศ วัย สีผิว สัญชาติ ศาสนา        หรือสติปัญญา         
๑.๑.๒  กระทำการหรือไม่กระทำการใด ๆ ตราบเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติของกฎหมาย
๑.๑.๓ ไม่ให้บุคคลอื่นกระทำการใด ๆ ที่กระทบต่อสิทธิของคนพิการ
๑.๑.๔ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน
๑.๑.๕ การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้
๑.๑.๖  มีผู้แทนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องของคนพิการเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างกฎหมายซึ่งจะมีผลต่อผู้พิการทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมเข้าถึง
๑.๑.๗  ได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมกรณีที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ
๑.๑.๘  ร้องขอให้เพิกถอนการกระทำการหรืองดเว้นกระทำการที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ
๑.๑.๙  ร้องขอ และการวินิจฉัยและออกคำสั่งชี้ขาดเกี่ยวกับการกระทำในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ
๑.๑.๑๐ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งหมายถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือตามกฎหมายไทย หรือตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม
๑.๑.๑๑ ได้รับความคุ้มครองในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอย่างเหมาะสม
๑.๑.๑๒ ได้รับการอำนวยความสะดวกในการเบิกความในชั้นศาล โดยกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดหรือบุคคลใดที่มาศาลซึ่งเป็นใบ้หรือหูหนวกและอ่านเขียนหนังสือไม่ได้ มีสิทธิได้รับการจัดหาล่ามจากคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
๑.๑.๑๓ ได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมายและจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่างคดีแก่คนพิการ

๑.๒ สิทธิด้านสุขภาพ – ประเด็นสำคัญประกอบด้วย เรื่อง  การส่งเสริม  สนับสนุน สร้างเสริม และพัฒนาระบบสุขภาพ บริการฟื้นฟูสมรรถภาพ  ยกเว้นค่าบริการ และการป้องกันความพิการ   รวมถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้

๑.๒.๑ ได้รับการส่งเสริม  สนับสนุน และพัฒนาระบบสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพอันนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของประชาชน รวมทั้งจัดและส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิ ภาพ และส่งเสริมให้เอกชน และชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพและการจัดบริการสาธารณสุข
๑.๒.๒ ได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์
๑.๒.๓ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าบริการในการรับบริการทางสาธารณสุข
๑.๒.๔ ได้รับสิทธิด้านสุขภาพ โดยกำหนดให้คนพิการที่มีความจำเพาะในเรื่องสุขภาพได้รับการคุ้มครองอย่างสอดคล้องและเหมาะสม รวมทั้งป้องกันมิให้เกิดความพิการโดยกำเนิด

๑.๓ สิทธิด้านการศึกษา – ประเด็นสำคัญประกอบด้วย เรื่อง  ความเท่าเทียม การศึกษาพิเศษ การยกเว้นค่าใช้จ่าย การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษา การบริหารจัดการ เทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา   สวัสดิการ และการช่วยเหลือจากรัฐ การระงับการเรียกให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา และความช่วยเหลือในการเดินทางไปสถานศึกษา  รวมถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้

๑.๓.๑ ได้รับการศึกษาเท่าเทียมกับคนทั่วไป
๑.๓.๒ ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษตั้งแต่แรกเกิด หรือเมื่อพบความพิการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
๑.๓.๓ ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถึงระดับอุดมศึกษาเป็นพิเศษ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงการได้รับสิทธิในสิ่งอำนวยความสะดวก
๑.๓.๔ ได้รับบริการทางการศึกษา สถานศึกษา ระบบและรูปแบบการศึกษา โดยคำนึงถึงความสามารถ ความสนใจ ความถนัดและความต้องการจำเป็นพิเศษของบุคคลนั้น
๑.๓.๕  สถานศึกษาของรัฐและสถานศึกษาของเอกชนที่จัดการอาชีวศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ มีหน้าที่รับคนพิการเข้าศึกษาตามความสามารถ ความสนใจ ความถนัดและความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการตามประเภทความพิการ
๑.๓.๖ กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาในทุกสังกัด ทั้งรัฐและเอกชนมีหน้าที่รับคนพิการเข้าศึกษาในสัดส่วนหรือจำนวนที่เหมาะสม
๑.๓.๗ ได้รับการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาในทุกระดับและทุกรูปแบบให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม
๑.๓.๘ ได้รับการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้เกิดความเสมอภาคและความเป็นธรรมในโอกาสทางการศึกษาแก่ประชากรในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทั้งผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ผู้ที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก ผู้บกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา และชนต่างวัฒนธรรม รวมทั้งยกระดับการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในชุมชน
๑.๓.๙ ได้รับเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา
๑.๓.๑๐ ได้รับสวัสดิการและการช่วยเหลือจากรัฐในด้านการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติหรือแผนการศึกษาแห่งชาติตามความเหมาะสมในสถานศึกษา
๑.๓.๑๑ ได้รับสิทธิระงับการเรียกให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา
๑.๓.๑๒ ได้รับการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรทางการศึกษาอื่นเป็นพิเศษและสอดคล้องกับความจำเป็นในการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีความพิการโดยคำนึงถึงความเสมอภาคและความเป็นธรรม
๑.๓.๑๓ ได้รับการจัดการศึกษาเป็นพิเศษจากกระทรวงศึกษาธิการคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษาต่าง ๆ
๑.๓.๑๔ ได้รับสิทธิทางการศึกษา โดยกำหนดให้ ในกรณีที่เขตพื้นที่การศึกษาไม่อาจบริหารและจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐานบางประเภทได้ สำนักงานปลัดกระทรวงหรือสำนักงานต่าง ๆ ในส่วนกลางของกระทรวงศึกษาธิการอาจจัดให้มีการศึกษาพื้นฐานหรือการศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาบางประเภทสำหรับคนพิการ
๑.๓.๑๕ ได้รับความช่วยเหลือในการเดินทางไปสถานศึกษาเพราะเหตุแห่งความพิการนั้น

๑.๔ สิทธิด้านสังคม/การใช้ชีวิตประจำวัน
– ประเด็นสำคัญประกอบด้วย เรื่อง  การยอมรับและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง การช่วยเหลือให้เข้าถึงนโยบาย แผนงาน โครงการ กิจกรรม การพัฒนาและบริการอันเป็นสาธารณะ การสงเคราะห์ การจัดสวัสดิการสังคม เบี้ยความพิการ ล่ามภาษามือ การจัดสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยและการเลี้ยงดู การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกและความช่วยเหลือที่เหมาะสม ผู้ดูแลคนพิการ การเลือกตั้ง  รวมถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานแห่งความเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป ตลอดจนได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับคนพิการ

๑.๔.๑ การยอมรับและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง
๑.๔.๒  การช่วยเหลือให้เข้าถึงนโยบาย แผนงาน โครงการ กิจกรรม การพัฒนาและบริการอันเป็นสาธารณะ ผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต การช่วยเหลือทางกฎหมายและการจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่างคดี ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
๑.๔.๓  รัฐต้องสงเคราะห์คนชรา ผู้ยากไร้ ผู้พิการ หรือทุพพลภาพ และผู้ด้อยโอกาส ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้ โดยการจัดสวัสดิการสังคม ซึ่งหมายถึง “ระบบการจัดบริการทางสังคมซึ่งเกี่ยวกับการป้องกัน การแก้ไขปัญหา การพัฒนา และการส่งเสริมความมั่นคงทางสังคม เพื่อตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้อย่างทั่วถึง เหมาะสม เป็นธรรม และให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งทางด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย การทำงาน และการมีรายได้ นันทนาการกระบวนการยุติธรรม และบริการทางสังคมทั่วไป โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิที่ประชาชนจะต้องได้รับ และการมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมทุกระดับ”
๑.๔.๔    ได้รับการสงเคราะห์และจัดสวัสดิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและพึ่งพาตนเองได้
๑.๔.๕  ได้รับการจัดสวัสดิการเบี้ยความพิการ
๑.๔.๖  บริการล่ามภาษามือ
๑.๔.๗ นำสัตว์นำทาง เครื่องมือหรืออุปกรณ์นำทาง หรือเครื่องช่วยความพิการใด ๆ ติดตัวไปในยานพาหนะหรือสถานที่ใด ๆ
๑.๔.๘  ได้รับการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย การมีผู้ช่วยคนพิการ หรือการจัดให้มีสวัสดิการอื่น
๑.๔.๙  ได้รับการจัดสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยและการเลี้ยงดูจากหน่วยงานของรัฐ ในกรณีที่คนพิการไม่มีผู้ดูแล
๑.๔.๑๐ สิทธิในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ
๑.๔.๑๑ สิทธิในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสารสำหรับคนพิการทุกประเภท ตลอดจนบริการสื่อสาธารณะจากหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ
๑.๔.๑๒ ได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้อาคารสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครโดยกำหนดให้อาคารที่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ จะต้องจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในเรื่องทางเข้าสู่อาคาร ทางลาด ประตู บันได ลิฟต์ ห้องน้ำ ห้องส้วม และสถานที่จอดรถ
๑.๔.๑๓ ได้รับการอำนวยความสะดวกในการใช้ตู้โทรศัพท์สาธารณะในกรุงเทพมหานคร
๑.๔.๑๔  ได้รับการอำนวยความสะดวกในการสัญจรบนทางเท้า โดยกำหนดให้คนพิการได้รับการยกเว้นให้ใช้รถลากเข็นซึ่งเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการบนทางเท้าได้
๑.๔.๑๕ ได้รับการอำนวยความสะดวกในการใช้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีความสมบูรณ์และเหมาะสม
๑.๔.๑๖ ได้รับการอำนวยความสะดวกในการใช้บริการโทรคมนาคมสาธารณะ ซึ่งหมายถึงกิจการโทรคมนาคมตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
๑.๔.๑๗ ผู้ดูแลคนพิการมีสิทธิได้รับบริการให้คำปรึกษา แนะนำ ฝึกอบรมทักษะ การเลี้ยงดู การจัดการศึกษา การส่งเสริมอาชีพ  และการมีงานทำ ตลอดจนความช่วยเหลืออื่นใด เพื่อให้พึ่งตนเองได้
๑.๔.๑๘ คนพิการและผู้ดูแลคนพิการมีสิทธิได้รับการลดหย่อนภาษีหรือยกเว้นภาษี ตามที่กฎหมายกำหนด
๑.๔.๑๙ ให้เด็กพิการเป็นเด็กที่พึงได้รับการสงเคราะห์ และกำหนดขั้นตอนและปรับปรุงวิธีการปฏิบัติต่อเด็กให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อให้เด็กได้รับการอุปการะเลี้ยงดู อบรม   สั่งสอน และมีพัฒนาการที่เหมาะสม
๑.๔.๒๐ ได้รับสิทธิได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้า  สำหรับทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพหรือพิการจาก การปฏิบัติหน้าที่ป้องกันหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักรซึ่งได้รับบัตรประจำตัวทหารผ่านศึกนอกประจำการชั้นที่ ๑ และครอบครัว
๑.๔.๒๑ ได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้อาคารและพื้นที่ใช้สอยของสถานพยาบาล
๑.๔.๒๒ อาคารสถานที่ต่าง ๆ ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการ
๑.๔.๒๓ คนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามระเบียบนี้มีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ
๑.๔.๒๔ ได้รับการอำนวยความสะดวกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
๑.๔.๒๕ ได้รับการอำนวยความสะดวกในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา 
๑.๔.๒๖ คนพิการที่ไม่สะดวกในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้รับการยกเว้นไม่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

๑.๕ สิทธิด้านอาชีพ  – ประเด็นสำคัญประกอบด้วย เรื่อง การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ การให้บริการที่มีมาตรฐาน การคุ้มครองแรงงาน มาตรการเพื่อการมีงานทำ และประกอบอาชีพรวมถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้

๑.๕.๑ ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ การให้บริการที่มีมาตรฐาน การคุ้มครองแรงงาน มาตรการเพื่อการมีงานทำ ตลอดจนได้รับการส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ และบริการสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกเทคโนโลยีหรือความช่วยเหลืออื่นใด เพื่อการทำงานและประกอบอาชีพของคนพิการ
๑.๕.๒ ได้รับสัมปทาน สถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ การจ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือการช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ โดย หน่วยงานของรัฐ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ

๒. ตามแนวนโยบายของรัฐ

๒.๑ สวัสดิการทั่วไป –ประเด็นสำคัญประกอบด้วย เรื่อง การเข้าถึงและใช้ประโยชน์  จากสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และความช่วยเหลือ รวมถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้

๒.๑.๑ เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และสวัสดิการความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ
๒.๑.๒ สวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพและผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและพึ่งพาตนเองได้ 

๒.๒ สวัสดิการด้านสุขภาพ – ประเด็นสำคัญประกอบด้วย เรื่อง ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ  อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์ รวมถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้

๒.๒.๑ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพอันนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของประชาชน
๒.๒.๒ รัฐจะส่งเสริมบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศให้ปฏิบัติงานในเชิงรุกเพื่อส่งเสริมสุขภาพในท้องถิ่น และชุมชน การดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ การดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล และการเฝ้าระวังโรคในชุมชน โดยจัดให้มีสวัสดิการค่าตอบแทนให้แก่ อสม. เพื่อสร้างแรงจูงใจหนุนเสริมให้ปฏิบัติงานได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ
๒.๒.๓ ได้รับสวัสดิการและความช่วยเหลือจากรัฐ เกี่ยวกับการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการ เพื่อปรับสภาพทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ หรือเสริมสร้างสมรรถภาพให้ดีขึ้น

๒.๓ สวัสดิการด้านการศึกษา – ประเด็นสำคัญประกอบด้วย เรื่อง พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษา และการศึกษาฟรี  รวมถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้

๒.๓.๑พัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานการจัดการศึกษาในทุกระดับและทุกรูปแบบให้สอดคล้อง    กับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม
๒.๓.๒ รัฐจะจัดให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาฟรี ๑๕ ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้เกิดความเสมอภาค และความเป็นธรรมในโอกาสทางการศึกษาแก่ประชากรในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทั้งผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ผู้ที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก ผู้บกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา และชนต่างวัฒนธรรม รวมทั้งยกระดับการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในชุมชน

๒.๔  สวัสดิการด้านอาชีพ
– ประเด็นสำคัญประกอบด้วย เรื่อง ส่งเสริมการมีงานทำ ในรูปแบบที่หลากหลาย และเหมาะสมตามความสามารถ รวมถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้

๒.๔.๑ รัฐจะส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุและคนพิการโดยการกำหนดให้มีรูปแบบที่หลากหลาย และเหมาะสมตามความสามารถของผู้สูงอายุและคนพิการ

๒.๕ สวัสดิการด้านสังคม/การใช้ชีวิตประจำวัน
- ประเด็นสำคัญประกอบด้วย เรื่อง    การส่งเสริมความเสมอภาค การจัดสวัสดิการทางสังคม และเทคโนโลยีสำหรับคนพิการ  รวมถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้

๒.๕.๑ รัฐจะส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างชายหญิง ขจัดการกระทำรุนแรง และการเลือก   ปฏิบัติต่อเด็ก สตรี และผู้พิการ ให้ความคุ้มครองและส่งเสริมการจัดสวัสดิการทางสังคมที่เหมาะสมแก่ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และผู้ที่อยู่ในสภาวะยากลำบากให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พึ่งตนเองได้
๒.๕.๒ รัฐจะส่งเสริมและสนับสนุนโครงการวิจัยตามแนวพระราชดำริ การวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งงานวิจัยขั้นพื้นฐาน และงานวิจัยประยุกต์ เช่น เทคโนโลยีสำหรับผู้พิการ 
จากข้อมูลข้างต้น กล่าวได้ว่า การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้งด้านสุขภาพหรือด้านการแพทย์ การศึกษา สังคม/การดำรงชีวิตประจำวัน และการประกอบอาชีพหรือการมีงานทำ มีการระบุให้เป็น “สิทธิ”  ซึ่งมีกฎหมายรองรับและครอบคลุมทุกด้าน ฉะนั้น หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจึงต้องดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนด้าน “สวัสดิการ” มีระบุเป็นนโยบายแห่งรัฐไม่มากนัก เนื่องจากการจัดสวัสดิการให้คนพิการส่วนใหญ่ได้ระบุเป็น “สิทธิ” ไว้แล้ว นอกจากนั้น หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับสามารถกำหนดนโยบายและดำเนินการจัดสวัสดิการให้คนพิการได้ตามความเหมาะสม

รายการกฎหมายที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล (รวม ๓๔ ฉบับ)
๑.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐
๒.พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐
๓.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
๔.พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒
๕.พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๑
๖.พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒
๗.พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒
๘.พระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๓
๙.พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
๑๐.พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕
๑๑.พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕
๑๒.พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. ๒๕๔๕
๑๓.พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖
๑๔.พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๔๖
๑๕.พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖
๑๖.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐
๑๗.พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐
๑๘.พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๑
๑๙.ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๔๔
๒๐.ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขออนุญาตติดตั้งตู้โทรศัพท์สาธารณะในที่สาธารณะ ลงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖
๒๑.ระเบียบการไฟฟ้านครหลวงว่าด้วย การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแก่ผู้ที่กระทำหน้าที่ในการรบ พ.ศ. ๒๕๓๔
๒๒.กฎกระทรวงว่าด้วยลักษณะของสถานพยาบาลและลักษณะการให้บริการของสถานพยาบาล พ.ศ. ๒๕๔๕
๒๓.กฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. ๒๕๔๘
๒๔.ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ และการออกบัตร การกำหนดสิทธิหรือการเปลี่ยนแปลงสิทธิ การขอสละสิทธิของคนพิการ และอายุบัตรประจำตัวคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๒
๒๕.ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยการช่วยเหลือทางกฎหมายและจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่างคดีแก่คนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๒
๒๖.ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยบริการล่ามภาษามือพ.ศ. ๒๕๕๒
๒๗.ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้แก่คนพิการ การมีผู้ช่วยคนพิการ การช่วยเหลือคนพิการที่ไม่มีผู้ดูแล และสิทธิของผู้ดูแลคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๒
๒๘.ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๒
๒๙.ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการร้องขอ และการวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๒
๓๐.ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสวัสดิการเบี้ยความพิการ พ.ศ. ๒๕๕๒
๓๑.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสำหรับคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๒
๓๒.ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการว่าด้วยการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๒
๓๓.ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๒
๓๔.ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๒


เรียบเรียงโดย 
พวงแก้ว กิจธรรม ผู้จัดการมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย

โชติกา ตั้นท่งยิ้น  นักสังคมสงเคราะห์มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย

รวบรวมข้อมูลโดย    
ภคไพลิน พุทธา สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย