27/12/54

ระบบทางเดินหายใจ



          ทางเดินหายใจเริ่มตั้งแต่ โพรงจมูก ด้านหลังช่องปาก หลอดลม และปอด กระบังลมกั้นระหว่างช่องอกและช่องท้อง ทำหน้าที่หดตัวเวลาหายใจเข้า และคลายตัวเวลาหายใจออก การทำงานของกระบังลมเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดเวลาที่คนเรายังมีลมหายใจหรือมีชีวิต เราจะสังเกตเห็นการทำงานของกระบังลมได้ โดยดูที่หน้าท้องซึ่งโป่งออก เมื่อกระบังลมหดตัวและดันให้หน้าท้องพองออก เมื่อกระบังลมคลายตัว หน้าท้องจึงยุบลง

          การหายใจเข้าแรงๆ ลึกๆ นั้น กล้ามเนื้อบริเวณทรวงอก ช่องซี่โครงและต้นคอหดช่วย ทรวงอกขยายออก ลมจึงเข้าสู่ปอดมากขึ้น เมื่อกล้ามเนื้อเหล่านี้คลายตัว ทรวงอกก็ยุบตัวเอง ตามจังหวะของการหายใจ


                        ทำไม เมื่อไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ จึงรู้สึกหายใจไม่ทั่วท้อง ?                                   

        เมื่อไขสันหลังระดับ คอ หรือ อกส่วนบน ได้รับบาดเจ็บ กล้ามเนื้อที่ช่วยทำให้เกิดการหายใจ ดังกล่าวอ่อนแรงเป็นอัมพาต จึงรู้สึกหายใจไม่ทั่วท้อง หายใจลำบาก อึดอัด บางครั้งประสิทธิภาพการหายใจลดลงมาก จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือ ร่วมกับการ เจาะคอ (หลอดลมส่วนคอ) เพื่อให้การหายใจและออกซิเจนเพียงพอต่อร่างกาย

      อนึ่ง เมื่อหายใจเข้าได้น้อย แรงหายใจออก ก็น้อยลงด้วย กล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแรงเป็นอัมพาต จึงไม่สามารถไอขับเสมหะออก ต้องอาศัยแรงดันจากภายนอกเพื่อช่วยเพิ่มแรงขับ หรือต้องอาศัยเครื่องช่วยดูดเสมหะออก

     ก่อนป่วยบางคนเคยสูบบุหรี่ มีเสมหะมากและหายใจลำบาก จึงมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนง่าย เช่น ปอดอักเสบ เสมหะอุดตัน และถุงลมแฟบ เป็นต้น




                    ทำอย่างไร จึงหายใจได้เองอย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ ?                                                 

       ถ้ากล้ามเนื้อกระบังลมเพืยงแค่อ่อนแรง  เราสามารถฝึกให้แข็งแรงและคงทนต่อการอ่อนล้าได้ ด้วยวิธีง่ายๆ ดังต่อไปนี้
     - นอนหงาย เอาหมอนหนุนให้เข่างอและรู้สึกผ่อนคลาย
     - หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ จนสุด (หน้าท้องโป่งออก)
     - กลั้นหายใจชั่วครู่ (นับในใจ 1 ถึง 3)
     - ปล่อยลมหายใจออก (หน้าท้องยุบ)
     - หายใจเข้า-ออก ลึกๆ ช้าๆ ทำไปเรื่อยๆ

เมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น หายใจสะดวกขึ้น

     - นอนหงาย เอาถุงทรายขนาด 1-2 Kg หรือหนังสือเล่มใหญ่ๆ วางที่หน้าท้องใต้ต่อลิ้นปี่
     - พยายามหายใจเข้าลึกๆ เช่นเดิม แต่...จะรู้สึกหายใจเข้ายากมากกว่าเดิม เพราะมีถุงทรายต้านอยู่             
     - ฝึกทำบ่อยๆ เช่น 10 นาที/ทุกชั่วโมงในช่วงที่ตื่นนอน
   
      บางครั้งต้องฝึกใช้กล้ามเนื้อส่วนอื่นด้วยเช่น กล้ามเนื้อบริเวณคอ/บ่า ด้วยการฝึกยักไหล่และเกร็งกล้ามเนื้อคอเวลาหายใจเข้า เกร็งค้างไว้ชั่วครู่ แล้วปล่อยให้คลายเวลาหายใจออก




     บางครั้งอาจใช้อุปกรณ์เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการฝึก อุปกรณ์ดังกล่าวเป็นหลอดพลาสติคที่มีลูกลอย สูดหายใจเข้าให้ลูกลอยลอยขึ้น ยิ่งหายใจเข้าได้มาก ลูกลอยยิ่งลอยสูงขึ้น ลูกลอยจึงเป็นเสมือนเป้าล่อให้เห็นว่าทำได้มากน้อยเพียงใด อนึ่ง ผู้ที่ใช้อุปกรณ์นี้ควรมีกำลังหายใจดีพอควร ปอดปกติและไม่มีเสมหะ




                                    มีเสมหะมาก แต่ขับไม่ออก ทำอย่างไรดี ?                                                      
      การใช้แรงกระทำจากภายนอก เช่น กดที่ชายโครงหรือใต้ลิ้นปี่เวลาหายใจออก ช่วยเพิ่มแรงขับเสมหะได้ นอกจากนี้ ยังสามารถจัดท่านอนหรือนั่ง เพื่อช่วยถ่ายเทเสมหะออกจากหลอดลมได้ ทั้งนี้ขึ้นกับว่าเสมหะอยู่ในหลอดลมบริเวณใด ควรอยู่ในท่านั้นๆ นานประมาณ 10-20 นาที การเคาะที่ทรวงอกช่วยให้เสมหะหลุดออกมาง่ายขึ้น

      การจัดท่าเพื่อขับเสมหะออกจากหลอดลมและปอด

ก. ท่านั่ง เพื่อเทเสมหะออกจากปอดบน
ข. นอนตะแคงขวากึ่งหงายหรือคว่ำ เพื่อเทเสมหะออกจากปอดซ้ายช่วงกลาง
ค. นอนคว่ำ เพื่อเทเสมหะออกจากปอดด้านหลัง
ง. นอนคว่ำหัวต่ำ เพื่อเทเสมหะออกจากหลอดลมและปอดด้านหลัง

      อนึ่ง ผู้ที่ยังพอไอได้บ้าง ควรกระแอมเพื่อทำให้เกิดแรงสั่นในหลอดลม และกระตุ้นให้เสมหะที่เหนียวหลุดออกจากหลอดลมที่อยู่ลึกๆ กระแอมหลายๆ ครั้งจนรู้สึกว่าเสมหะขึ้นมาอยู่ที่คอแล้ว จึงไอออกมา การทำเช่นนี้ เป็นการทุ่นแรงและไม่ทำให้รู้สึกเหนื่อย ถ้าไอติดต่อกันมากจนรู้สึกหายใจไม่ได้ ให้ช่วยประครองศรีษะและลำตัวขึ้นจนกว่าจะหยุดไอ

      หลังการไอ ถ้ารู้สึกเหนื่อย ให้หายใจเข้าออกอย่างผ่อนคลาย ไม่ต้องรีบ ไม่ต้องเร่ง ปล่อยให้จังหวะการหายใจเป็นไปตามธรรมชาติ

      ในกรณีที่เจาะคอมีท่อช่วยหายใจ และมีเสมหะมาก ต้องใช้เครื่องช่่วยดูดเสมหะออก พยาบาลจะสอนให้ผู้ดูแลรู้จักวิธีการดูดเสมหะด้วยเครื่องอย่างถูกต้องและสะอาด

      อนึ่ง การดื่มน้ำให้พอเพียงกับความต้องการของร่างกาย ทำให้เสมหะเหนียว ถ้าเสมหะเหนียวมาก แพทย์จะพิจารณาให้ยาละลายเสมหะ หรือยาขยายหลอดลม เพื่อให้เสมหะออกง่ายขึ้นและหายใจสะดวกขึ้น