19/12/54

การปรับสภาพจิตใจ


      ผู้บาดเจ็บไขสันหลัง เมื่อไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ ทุกคนย่อมมีความทุกข์ใจ กังวลใจ ไม่สบายใจ ไม่รู้ว่าอนาคตตนเองจะเป็นเช่นไร บางคนรู้สึกท้อแท้ หมดหวัง และรู้สึกเป็นเวรกรรมที่ต้องตกอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถทำอะไรได้ดั่งใจ

      หลายคน ไม่รู้ว่า ไขสันหลัง คือ อะไร? มีความสำคัญอย่างไร?

      ผู้บาดเจ็บไขสันหลังทุกคนจึงฝากความหวังไว้กับแพทย์ โดยหวังว่าการรักษาที่ได้รับย่อมทำให้ทุกสิ่งกลับมาเหมือนเดิมได้  การฟื้นตัวของไขสันหลังนั้น อาจกล่าวได้ว่ายากที่จะกลับมาเหมือนเดิม ถ้าการฟื้นตัวเกิดขึ้นเร็ว เช่น ภายในเดือนแรก แขนขาเริ่มรู้สึก ขยับได้มากขึ้น ก็อาจเป็นตัวบ่งชี้ว่าไขสันหลังได้รับบาดเจ็บน้อย และอาจฟื้นตัวได้มาก แต่ถ้าเวลาผ่านไปอาการยังคงเดิม ย่อมบ่งชี้ว่าไขสันหลังได้รั้บบาดเจ็บมากและมีโอกาสฟื้นน้อย

      ดังนั้น จึงเป็นความลำบากใจ ที่แพทย์จะบอกความจริง ซึ่งเป็นข่าวร้ายให้กับผู้ที่โชคไม่ดี แพทย์มักไม่บอกให้ผู้ป่วยทราบโดยตรง คงต้องยอมรับว่า...ถ้าแพทย์บอกข่าวร้ายให้ทราบตั้งแต่เนิ่นๆ หลายคนอาจรับไม่ได้ แล้วหมดกำลังใจ น้อยรายที่จะสู้ไม่ท้อแท้ต่อความโชคร้ายที่ตนเองประสบ

      แม้ว่าผู้บาดเจ็บไขสันหลังบางคนจะเสียดายเวลาที่ผ่านไปกับความฝัน และความหวังที่ไม่เป็นจริง แต่เวลาที่ผ่านไปมักค่อยๆ เยี่ยวยาสภาพจิตใจ ทำให้ปร้บตัวเตรียมใจและยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นได้ในที่สุด

      อนึ่ง ความกังวลใจ ทุกข์ใจ ดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้บาดเจ็บไขสันหลังเพียงคนเดียว แต่มีผลกระทบต่อทุกคนที่เกี่ยวข้องกับผู้บาดเจ็บไขสันหลังด้วย



                                                             เมื่อเวลาผ่านไป...                                                                 

      ผู้บาดเจ็บไขสันหลังหลังการบำบัดรักษาอย่างเต็มที่แล้ว สภาพร่างกายที่บกพร่องและหย่อนสมรรถภาพได้ถูกฟื้นฟูให้แข็งแรงขึ้น หลายคนรับสภาพได้ เพราะเห็นว่า...การไม่ย่อท้อต่อสังขาร การยอมรับความจริง และมีใจต่อสู้เพื่อฟันฝ่าอุปสรรค ช่วยพัฒนาตนเองให้มีความสามารถกลับคืนมาได้ กำลังใจจากคนรอบข้างเป็นปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญ แต่ต้องไม่ลืมที่จะให้กำลังใจตนเองด้วย


                                                   ครอบครัวผู้บาดเจ็บไขสันหลัง                                                                                         

      การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น ได้อย่างมีความสุขตามควรแก่อัตภาพ ต้องเริ่มจากครอบครัวที่อบอุ่น เกื้อหนุน ไม่ทอดทิ้งกัน  เราต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ต้องไม่ยอมแพ้ต่อสภาพที่เป็นอยู่

      ผู้บาดเจ็บไขสันหลังหลายคนเคยเป็นผู้นำ อาจต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ตาม ผู้อาศัย จากผู้ที่เคยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง มาเป็นผู้ให้ความคิด คำแนะนำแก่ครอบครัว อย่าซ้ำเติมตนเองและคนรอบข้างด้วยการยอมแพ้ อีกทั้งรอคอยให้ความฝันเป็นจริงโดยไม่ทำอะไร

      ทีสำคัญ ผู้บาดเจ็บไขสันหลังทุกคนต้องยอมรับความจริง ต้องพร้อมที่จะเรียนรู้และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย รู้จักควบคุมอารมณ์ ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และพร้อมที่จะให้อภัยแก่กัน

      เมื่อครอบครัวเข้มแข็ง ประกอบกับชุมชนเกื้อหนุน ย่อมส่งผลให้ทุกคนดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข



                                                            ปัจจุบันไม่ใช่อดีต                                                                                  

      ปัจจุบัน รัฐได้เล็งเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ด้อยโอกาส ทั้งด้านการแพทย์ อาชีพ การศึกษา และสังคม มีการจัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น

      ผู้ที่ขึ้นทะเบียน จัดทำบัตรคนพิการ มีสิทธิขอรับการรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ การได้รับรถเข็น หรือ อุปกรณ์ช่วยเดิน ทั้งนี้ อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา

      สำหรับผู้ที่ต้องการฝึกอาชีพ ให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและความสามารถที่มีอยู่ รัฐได้จัดให้มีศูนย์ฝึกอาชีพหลายแห่งทั่วประเทศ ติดต่อผ่านประชาสงเคราะห์แต่ละจังหวัด

      ส่วนผู้ที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน รัฐก็มิได้ละเลย ปัจจุบันผู้พิการทางกายและการเคลื่อนไหว สามารถเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาได้ ทุกสถาบันของรัฐ

      นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรเบี้ยยังชีพให้กับคนพิการ และให้สิทธิกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนประกอบอาชีพเลี้ยงตนได้ ทั้งนี้ต้องยื่นคำร้องที่ประชาสงเคราะห์แต่ละจังหวัด

      อนึ่ง คนไทยเรามีจิตเมตตากรุณา องค์กรการกุศลมากมายที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ทำให้คนพิการกลับไปอยู่ในชุมชนเดิม ร่วมกับครอบครัวได้อย่างมีความสุขสมควรแต่อัตภาพ




แม้นร่างกายจะบกพร่อง
แต่จิตใจยังสมบูรณ์
ย่อมส่งผลให้กายและใจเป็นสุข