29/12/54

การขับถ่ายอุจจาระ



       หลังจากไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ ทำไมจึงมีอาการท้องอืดและท้องผูก ?           

     ในระยะแรก กระเพาะอาหารและลำไส้บีบตัวและเคลื่อนไหวลดน้อยลง จึงมีอาการท้องอืดและไม่ถ่ายอุจจาระ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้น้ำและสารอาหารทางหลอดเลือดแทนการกิน จนกว่ากระเพาะอาหารและลำไส้จะกลับมาทำงานปกติอีกครั้ง บางคนมีกรดในกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้นเพราะตกอยู่ในภาวะเครียด มีอาการปวดท้องหรือมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร

     หลังจาก 1 สัปดาห์ผ่านไป กระเพาะอาหารและลำไส้มักทำงานเป็นปกติ เริ่มผายลม แต่อุจจาระอาจไม่ถูกขับออกมา ส่วนใหญ่ต้องสวนหรือช่วยกระตุ้นให้อุจจาระออก ถ้าหูรูดรูทวารคลายตัวและลำไส้ทำงานน้อย มักต้องเบ่งหรือล้วงช่วย บางครั้งอุจจาระออกมาโดยไม่รู้ตัว เช่น เวลาแบ่งปัสสาวะ อุจจาระก็ออกมาด้วย หลังจากการฝึกขับถ่ายอุจจาระแล้ว ส่วนใหญ่มักถ่ายอุจจาระออกได้เอง



                                 ฝึกขับถ่ายอุจจาระ ทำอย่างไร?                                               


      เป้าหมายของการฝึก ได้แก่ ถ่ายอุจจาระออกเป็นเวลา ท้องไม่ผูก และอุจจาระไม่ราดเล็ดออกมาในเวลาที่ไม่สมควร การฝึกจะประสบความสำเร็จได้ขึ้นกับปัจจัยต่อไปนี้
   
     * อาหาร  กินอาหารที่มีกากมีใยมาก เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ เป็นต้น ดื่มน้ำให้เพียงพอ ทั้งนี้ เพื่อให้อุจจาระจับเป็นก้อน แต่ไม่แข็ง และถูกขับออกง่าย

       ข้อควรระวัง  ถ้าดื่มน้ำน้อยและกากอาหารถูกทิ้งอยู่ในลำไส้ใหญ่นาน อุจจาระจะแข็งตัวและท้องผูก ควรหลีกเลี่ยงถั่ว ผลไม้ที่มีกลิ่นแรงเพราะทำให้ผายลมมีกลิ่นเหม็น

    * เวลา  อิงเวลาเดิม(ก่อนการป่วย) ที่เคยถ่ายอุจจาระ ฝึกขับถ่ายเป็นเวลาช่วยทำให้ลำไส้ใหญ่กลับมาทำงานโดยอัตโนมัติได้  ควรถ่ายอย่างน้อย วันเว้นวัน หรือ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ให้เวลาที่พอเพียง ไม่รีบ บางคนอาศัยการบีบตัวของลำไส้ใหญ่หลังจากกินอาหาร หรือดื่มน้ำอุ่นๆ กระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวและถ่ายอุจจาระ ควรหัดภายใน 30 นาทีหลังกินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอาหารมื้อเช้า หรือมื้อเย็น แล้วแต่สะดวก

   * ตัวกระตุ้น  ในระยะแรก มักต้องอาศัยตัวกระตุ้น เช่น
- ยาสวนยูนิสั้น ขนาด 20 มิลลิลิตร 1-2 ลูก หรือน้ำสบู่อุ่นๆ 20-50 มิลลิลิตร
- ใช้นิ้วถ่างรูทวารหนัก เพื่อกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่บีบตัว
- เบ่งเมื่อมีอุจจาระใกล้รูทวาร
- การล้วงออกจะง่าย ถ้าอุจจาระแข็งและจับตัวเป็นก้อนเล็กๆ
     หมายเหตุ   ถ้าต้องสวนปัสสาวะเป็นเวลา ( cic ) ควรสวนปัสสาวะก่อนการเบ่งถ่ายอุจจาระ เพื่อไม่ให้แรงเบ่งมีผลเสียต่อกระเพาะปัสสาวะ
- ยาหรือสารอาหารบางอย่างมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ เช่น
        + ยาระบายซิโนคอต 2-4 เม็ด หรือยาดัลโคแลค 1 เม็ด
        + ยาเหน็บ ดัลโคแลค หรือ แท่งกรีเซอรีน
        + ยาช่วยให้อุจจาระไม่แข็ง เช่น ยาน้ำขาว อี เอล พี
        + มะละกอสุก ต้มจืดใบตำลึง ช่วยกระตุ้นลำไส้

     ข้อสังเกตุ  1. ยาระบาย อาจทำให้ถ่ายหลายครั้งติดต่อกัน ดังนั้น แต่ละคนต้องลองดูว่า ประมาณแค่ไหนจึงจะเหมาะสมกับตน
                       2. ต้องลองว่า วิธีไหนได้ผลกับตนเอง อาจใช้หลายวิธีเพื่อทำให้ได้ผลเร็วขึ้น เช่น กินยาร่วมกับการล้วงหรือสวน
                      3. ถ้ากล้ามเนื้อหูรูดเป็นอัมพาต ไม่หดรัด ยาสวนมักไหลออกมาและสวนไม่ได้ผล ในกรณีเช่นนี้ การล้วงน่าจะได้ผลดีกว่า
                     4. การกดนวดที่บริเวณท้องน้อยด้านซ้ายล่าง
                     5. หลังการฝึกได้ระยะหนึ่งแล้ว หลายคนสามารถถ่ายอุจจาระได้เอง โดยไม่ต้องใช้ตัวช่วย
                     6. ความเครียดส่งผลให้การเคลื่อนไหวและบีบตัวของลำไส้ลดลง ทำให้ท้องผูก ถ่ายไม่ออก ในทางตรงกันข้าม ใจที่เป็นสุขและสงบทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวบีบตัวได้ดี และขับถ่ายอุจจาระออกง่ายขึ้น





                 ข้อพึงระวังเกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระ มีอะไรบ้าง?                                     

1. ท้องผูก (อุจจาระแข็ง,ถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์)


2. ริดสีดวงทวาร


3. รูทรารฉีก เป็นแผล

4. ท้องเสีย




***ความเห็นส่วนตัวจากผู้เขียน

    ระบบขับถ่ายอุจจาระ ก่อนที่จะออกจากโรงพยาบาล ผู้เขียนได้รับการฟื้นฟูฯและคำแนะนำในการดูแลตัวเองเกี่ยวกับขับถ่ายอุจจาระ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกย้ายตัวนั่งบนชักโครก การฝึกกระตุ้นกากอาหารในลำไส้ใหญ่ ทั้งนี้ ทั้งนั้น ที่สำคัญ คือ การปรับสภาพของห้องน้ำให้รองรับวีวแชร์ ตอนนั้นผู้เขียนคิดผิดที่ไม่ยอมปรับสภาพห้องน้ำ ให้รองรับรถเข็น ได้แต่ขยายประตูห้องน้ำ และเลือกวิธีที่ง่ายที่สุดคือ ซื้อรถเข็นอาบน้ำแบบนั่งถ่ายบนรถได้ เนื่องจากบ้านพักเป็นของหน่วยงาน ที่อนุญาติให้ผู้เขียนเข้าอยู่ได้ในกรณีพิเศษ และมีเวลาเตรียมตัวไม่มากนัก ญาติพี่น้องไม่ต้องการให้กลับไปทำงานอีก ผู้เขียนเลยติดกับการนั่งรถเข็นแบบอาบน้ำได้ ไม่ได้ฝึกย้ายตัวนั่งบนชักโครก เพราะคิดได้ตอนอยู่คนเดียวแล้ว ถ้าพลาดตกชักโครกจะหาผู้ช่วยอุ้มขึ้นลำบาก ปัจจุบันก็ยังคงใช้รถเข็นอาบน้ำเพราะมันปลอดภัยที่สุด

 การย่อยอาหาร การเดินทางของอาหารจากปากกว่าจะถึงปลายสุดของลำไส้ใหญ่ ทุกคนย่อมแตกต่างกัน สำหรับผู้เขียนการขับถ่ายอุจจาระเป็นอุปสรรค กับการดำเนินชีวิตของผู้เขียนมากถึงมากที่สุด ผู้เขียนใช้ชีวิตดูแลตัวเองตามลำพังอย่างเดียวดายมาตลอด 10 ปีเต็มๆ ผู้เขียนเป็นนักดื่มตัวยง ฉายาผู้เขียนในอดีต คือ ปีศาจสุรา การดื่มสุรามีผลต่อระบบขับถ่ายเป็นอย่างมาก สำหรับผู้เขียน ถ้าอยู่บ้านไม่ได้ออกไปไหน การขับถ่ายอุจจาระเป็นเรื่องจิ๊บจิ๊บ ตอนเป็นใหม่ๆ จะใช้การเหน็บยากระตุ้นแบบวันเว้นวัน ตอนนั้นมีผู้ช่วยดูแล ต่อมาเปลี่ยนเป็นยาสวนแบบน้ำ สวนออกทุกวันตอนอาบน้ำเช้า จากการได้แลกเปลี่ยนกับรุ่นพี่ๆ ที่บาดเจ็บไขสันหลังมากอ่นเรา ได้ถ่ายทอดวิชากระตุ้นด้วยการ "ล้วง" ล่วงออกทุกวันตอนอาบน้ำเช้า แต่ถ้าต้องเดินทางไกล ขอแยกเป็น 2 กรณี

   กรณีไม่ค้างคืน ไปเช้า-เย็นกลับ ปกติผู้เขียนใส่ผ้าอ้อมตลอด24ช.ม. จวบจนปัจจุบัน สำหรับผู้เขียนบ่อยครั้งที่อุจจาระพรวดออกมาขณะเดินทางไกล เนื่องจากขณะนั่งอยู่บนรถมันไม่ได้นิ่มนวลอย่างที่คิด มันมีการสั่นสะเทือนในร่างกาย เปรียบเสมือนมีการไปกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ให้กากอาหารเดินทางเร็วกว่าปกติ ดังนั้นผู้เขียนจะต้องมีแผนล่วงหน้า สำหรับการเดินทางไกล จะควบคุมการทานอาหารอย่างน้อย 3-4 วัน โดยเฉพาะสุรา ต้องงดดื่มก่อนการเดินทาง 3-4 วัน ประสบการณ์ของแต่ละบุคคลคงแตกต่างกัน แตน่าจะเรียนรู้ด้วยตัวเองได้แบบไม่ยากเย็นนัก 

   กรณีไปค้างคืน ให้ตายเหอะ! 10 ปี ที่ผ่านมาสำหรับผม ไปค้างคืนที่อื่น นับครั้งได้อ่ะคับ เพราะผมมันต้องดื่มถ้าจะไปเที่ยวที่ไหนก็ตาม แต่สำหรับหลายๆ ท่าน พวกพาราฯด้วยกัน เค้าเที่ยวกันกระจาย เพราะเค้าควบคุมดูแลตัวเองได้ดี ไปเที่ยวกันรอบโลก เหอ เหอ  

   ดังนั้น  หัวใจของระบบขับถ่ายอุจจาระ ในการดูแลตัวเอง ก็คือ ไม่ให้มันเร็ดราดออกมาไม่เป็นเวลา ปัญหาเรื่องท้องอืด ท้องเฟื้อ หรือยากระตุ้นอะไรต่างๆ คงต้องปรึกษาแพทย์หรือผู้บาดเจ็บรุ่นพี่ๆ เพราะแต่ละท่านดูแลตัวเองแตกต่างกันไปครับ.