12/12/54

ไขสันหลัง



          ไขสันหลัง คือ อวัยวะที่มีลักษณะเป็นท่อยาวผอม ซึ่งมีเนื้อเยื่อประสาทเป็นส่วนประกอบสำคัญ
อันได้แก่ เซลล์ประสาท (neuron) และ เซลล์เกลีย (glia) เป็นทางเดินของคำสั่งจากสมอง อยู่ในโพรงกระดูกสันหลังตั้งแต่ต้นคอถึงก้นกบ เปรียบได้กับสายรับ-ส่งสัญญาณขนาดจิ๋ว ถ้าไขสันหลังจุดไหนได้รับบาดเจ็บ จะมีผลกระทบในการทำงานของร่างกาย ร่างกายส่วนนั้นไม่สามารถทำงานตามที่สมองสั่งการได้ เช่น สมองสั่งให้กระดิกนิ้ว ถ้าไขสันหลังจุดที่เป็นทางเดินของคำสั่งนั้นเสียหาย บาดเจ็บ หรือ ขาด ก็จะทำให้เราไม่สามารถกระดิกนิ้วได้ ไขสันหลังจึงเป็นส่วนที่สำคัญมากสำหรับร่างกายมนุษย์ ธรรมชาติจึงสร้างกระดูกสันหลังห่อหุ้มเอาไว้ ปัจจุบันทั่วโลกยังไม่สามารถซ่อมไขสันหลังที่บาดเจ็บให้กลับมาทำงานเหมือนเดิมได้

                    โครงสร้าง
          ไขสันหลังคือโครงสร้างหลักในการถ่ายทอดข้อมูลระหว่างสมองและระบบประสาทนอกส่วนกลาง (peripheral nervous system) ไขสันหลังมีความยาวน้อยกว่ากระดูกสันหลังที่ห่อหุ้มมันอยู่ โดยมันจะยาวต่อออกมาจากสมองส่วนเมดัลลาออบลองกาตา (medulla oblongata) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของก้านสมอง และยาวต่อไปถึงโครงสร้างที่เรียกว่าโคนัส เมดัลลาริส (conus medullaris) ซึ่งอยู่บริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอว (lumbar vertebrae) และสิ้นสุดกลายเป็นโครงสร้างที่มีลักษณะเป็นเส้นใยเล็กๆที่เรียกว่าไฟลัม เทอร์มินาเล (filum terminale)
          ไขสันหลังมีความยาวประมาณ 45 เซนติเมตรในผู้ชาย และ 43 เซนติเมตรในผู้หญิง มีภาคตัดเป็นรูปวงรี และมีการป่องออกที่บริเวณคอและเอว เมื่อดูในภาคตัดขวาง บริเวณรอบนอกของไขสันหลังจะมีสีอ่อนกว่าที่เรียกว่า เนื้อขาว (white matter) ซึ่งเนื้อขาวเป็นบริเวณที่มีเส้นใยประสาทที่งอกออกมาจากตัวเซลล์ประสาทอันได้แก่เซลล์ประสาทรับความรู้สึก (sensory Neuron) เซลล์ประสาทสั่งการ (motor neuron) และเซลล์ประสาทเชื่อมข้อมูลภายในระบบประสาทส่วนกลางที่เรียกว่า เซลล์ประสาทประสานงาน (interneuron) ในส่วนกลางถัดเข้าไปจากบริเวณเนื้อขาวคือบริเวณที่มีสีเข้มกว่าเรียกว่า เนื้อเทา (gray matter) ซึ่งมีลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อโดยในส่วนเนื้อเทานี้มีส่วนประกอบหลักของเนื้อเยื่อคือ ตัวเซลล์ประสาท (nerve cell bodies) บริเวณของเนื้อเทาจะล้อมรอบช่องกลาง (central canal) ซึ่งเป็นช่องว่างกลวงตรงใจกลางที่บรรจุน้ำหล่อสมองไขสันหลัง ซึ่งเป็นระบบท่อที่ต่อมาจากระบบท่อน้ำและห้องบรรจุน้ำในสมองที่เรียกว่าระบบโพรงสมอง (ventricular system)
          ไขสันหลังถูกปกคลุมด้วยเนื้อเยื่อเป็นแผ่นๆอยู่สามชั้นเรียกว่า เยื่อหุ้มสมอง (meninges) ไล่จากชั้นนอกสุดไปสู่ชั้นในสุด ได้แก่ เยื่อดูรา (dura mater), เยื่ออะแร็กนอยด์ (arachnoid mater), และเยื่อเพีย (pia mater) ซึ่งเนื้อเยื่อเหล่านี้ คือเนื้อเยื่อเดียวกันต่อเนื่องกับที่ปกคลุมสมอง น้ำหล่อสมองไขสันหลังจะพบได้ในชั้น ช่องใต้เยื่ออะแร็กนอยด์ (subarachnoid space) ซึ่งเป็นช่วงว่างระหว่างเยื่ออะแร็กนอยด์และเยื่อเพีย ไขสันหลังถูกตรึงให้อยู่กับที่โดยการช่วยยึดโดยเอ็นที่เรียกว่า เดนทิคิวเลท ลิกาเมนต์ (denticulate ligaments) ซึ่งเป็นส่วนที่ยื่นออกมาจากเนื้อเยื่อของเยื่อเพีย ออกมาทางด้านข้างของไขสันหลังทั้งสองข้าง ซึ่งเอ็นนี้จะอยู่ระหว่างรากประสาทของไขสันหลังด้านหลังและด้านท้อง (dorsal and ventral roots) ส่วนถุงเยื่อดูรา (dural sac) คือถุงที่เกิดจากเยื่อหุ้มสมองชั้นเยื่อดูราจะสิ้นสุดที่ระดับกระดูกสันหลังส่วนกระเบนเหน็บ

 ที่มา>>>http://th.wikipedia.org/wiki/ไขสันหลัง

           การรักษาไขสันหลัง ยังคงศึกษากันอย่างต่อเนื่องทั่วโลก
การปลูกถ่ายไขสันหลังด้วยการStemCell ก็เป็นความหวังหนึ่งที่จะทำให้ไขสันหลังกลับมาทำงานได้อีก คงต้องรอกันต่อไป วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วโลกไม่เคยหยุดนิ่ง เมื่อวันนั้นมาถึงเราจะกลับมาเดินได้ใหม่อีกครั้ง